วธ. รวมใจชาวลำปางเปิด “งานสลุงหลวง กลองใหญ่ ปีใหม่เมือง นครลำปาง ประจำปี ๒๕๖๔” พร้อมยกย่องเป็น 1 ใน 10 งานเทศกาล ประเพณีที่มีความโดดเด่น
เมื่อวันที่ 12 เมษายน นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานเปิด “งานสลุงหลวง กลองใหญ่ ปีใหม่เมือง นครลำปาง ประจำปี 2565” โดยมีนายสิธิชัย จินดาหลวง ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง นางลัษมา ธารีเกษ วัฒนธรรมจังหวัดลำปาง นางสาวตวงรัตน์ โล่สุนทร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ดร.นิมิตร จิวะสันติการ นายกเทศมนตรีนครลำปาง ผู้แทนหัวหน้าส่วนราชการ ภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชน สื่อมวลชน เข้าร่วม จัดขึ้นระหว่างวันที่ 10-16 เมษายน 2565
ทั้งนี้ ภายในงานมีพิธีอัญเชิญน้ำทิพย์ ปล่อยขบวนแห่งานบุญสลุงหลวง ณ วัดปงสนุก งานแสดงแสง สี เสียงสุดอลังการ “มหัศจรรย์ก๋องปู่จานครลำปาง ลือลั่น สนั่นโลก” การประกวด “เทพบุตร และเทพธิดาสลุงหลวง ประจำปี 2565” อัญเชิญพระเจ้าแก้วดอนเต้าจากวัดพระธาตุลำปางหลวงเข้าสู่ตัวเมืองนครลำปาง พิธีเจริญพระพุทธมนต์เย็นและสรงน้ำพระแก้วดอนเต้า ณ ข่วงนคร เชิญชวนประชาชน พ่อแม่พี่น้องชาวจังหวัดลำปาง รวมถึงนักท่องเที่ยว ทำบุญเนื่องในโอกาสปี๋ใหม่เมืองนครลำปาง ขนทรายเข้าวัด แห่ไม้ค้ำศรี ณ วัดใกล้บ้าน งานสืบสานวัฒนธรรมประเพณี ตามรอยธรรม หลวงพ่อเกษม เขมโก ณ มณฑปครูบาเจ้าเกษม เขมโก ศาลเจ้าแม่สุชาดา (วังย่าเฒ่า) ชมข่วงแก้วเวียงละกอน ลานสาธิตภูมิปัญญาวัฒนธรรมและจำหน่ายสินค้าทางวัฒนธรรมของจังหวัดลำปาง
ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า “งานสลุงหลวง กลองใหญ่ ปีใหม่เมืองนครลำปาง” ประจำปี 2565 ถือเป็นการบูรณาการการจัดงานในหลายภาคส่วน ถือเป็นการรวมพลังความร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจ ของทุกภาคส่วนที่จะได้นำอัตลักษณ์อันโดดเด่นทางด้านวัฒนธรรมของจังหวัดลำปาง ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมประเพณี ศิลปะการแสดง สินค้าทางวัฒนธรรม ความหลายหลากของภูมิปัญญา มาเผยแพร่ มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ก่อให้เกิดความเข้าใจ ภาคภูมิใจในมรดกทางวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่า อันเป็นทุนทางวัฒนธรรมมาพัฒนา ประชาสัมพันธ์จังหวัดลำปางให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงวัฒนธรรมที่มุ่งขับเคลื่อนการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันและโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG ของรัฐบาล รวมทั้งผลักดัน “Soft Power” ความเป็นไทย เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สร้างรายได้และภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ประเทศอย่างยั่งยืน โดยขับเคลื่อนงานเทศกาลประเพณีสู่ระดับโลก (Festival)
“ในปีนี้ กระทรวงวัฒนธรรมได้คัดเลือกงานเทศกาล ประเพณีที่มีความโดดเด่น ส่งเสริมและยกระดับงานเทศกาลประเพณีของแต่ละท้องถิ่นให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายไปสู่ระดับชาติและนานาชาติ โดย “งานสลุงหลวง กลองใหญ่ ปีใหม่เมืองนครลำปาง” ได้รับการคัดเลือกเป็น 1 ใน 16 งานเทศกาลประเพณี ที่ได้รับการคัดเลือกสนับสนุนอย่างเต็มที่ อีกทั้งการจัดงานดังกล่าวยังสอดคล้องกับ รัฐบาล โดยกระทรวงวัฒนธรรม ได้รณรงค์ให้แต่ละภาคส่วนจัดงานภายใต้แนวความคิด “สงกรานต์วิถีใหม่ สืบสานวัฒนธรรมไทย ” ซึ่งจังหวัดลำปาง ได้จัดขึ้นในรูปแบบของการจัดงานประเพณีวิถีใหม่ จังหวัดลำปาง จึงได้เชิญชวนทุกท่านที่มาร่วมงานแต่งกายด้วยผ้าไทย หรือผ้าพื้นเมืองแล้ว ยังได้ดำเนินการตามมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 อย่างเคร่งครัดตลอดการจัดงานด้วย”ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าว
“สลุง” เป็นภาษาพื้นเมืองเหนือ หมายถึง ภาชนะสำหรับใส่น้ำ ส่วนใหญ่ทำด้วยโลหะเงิน มีขนาด และลวดลายงดงามแตกต่างกันไปตามฝีมือช่างตั้งแต่โบราณถึงปัจจุบัน ในอดีตเมื่อถึงวันขึ้นปีใหม่ของคนพื้นเมืองในภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย ที่เรียกตนเองว่า “คนเมือง” จะมีการประกอบพิธีสรงน้ำพระ โดยนำน้ำขมิ้นส้มป่อย น้ำอบ น้ำหอม ใส่ในสลุงไปสรงน้ำพระที่วัด ดังนั้น สลุงหลวงจึงเป็นสื่อที่จะนำน้ำขมิ้นส้มป่อย น้ำอบ น้ำหอมเพื่อนำไปสรงน้ำพระ และเป็นสิ่งที่เตือนให้ระลึกถึงประเพณีสรงน้ำพระที่มีมาแต่โบราณ
ในปี 2530 ชมรมเทิดมรดกเขลางค์นคร โดยกลุ่มผู้อนุรักษ์วัฒนธรรมของจังหวัดลำปาง และมหาชนชาวนครลำปาง ได้จัดขบวนแห่สลุงหลวงครั้งแรกในโอกาสงานประเพณีสงกรานต์ เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2530 มีวัตถุประสงค์เพื่อรับน้ำขมิ้นส้มป่อย น้ำอบ น้ำหอมจากประชาชน สำหรับนำ ไปสรงน้ำองค์พระเจ้าแก้วดอนเต้า พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองลำปาง และเป็นการรักษาประเพณีคนพื้นเมืองเหนือ ที่จะทำพิธีสรงน้ำพระเมื่อถึงวันขึ้นปีใหม่เมืองหรือวันสงกรานต์
“สลุงหลวง” หรือสลุงขนาดใหญ่ที่นำมาแห่ในขบวนแห่สลุงหลวงครั้งแรก เป็นสลุงที่ทำด้วยโลหะเงินน้ำหนัก 300 บาท ซึ่งเป็นของเจ้าตระกูล ณ ลำปาง ในปีพุทธศักราช 2533 ชมรมเทิดมรดกเขลางค์นครได้ดำเนินการจัดสร้าง สลุงหลวง โดยรับเงินบริจาคเป็นจำนวน 433 198 บาท สลุงหลวงจัดสร้างด้วยโลหะเงินน้ำหนัก2533 บาท มีขนาดกว้าง 89 เซนติเมตร สูง๔๙ เซนติเมตร ลักษณะเป็นสลุงทรงเกลี้ยง ตีแบบพื้นเมืองโบราณ
ภายในสลุงหลวงสลักรายนามผู้บริจาค ส่วนรอบ ๆ ขอบบนภายนอกของสลุงหลวงจารึกเป็นภาษาพื้นเมืองเหนือ ความว่า “สลุงเงินหลวงใบนี้ ชาวเมืองลำปางจัดทำถวายไว้ใส่น้ำอบ น้ำหอม ขมิ้น ส้มป่อย เพื่อสรงน้ำพระเจ้าแก้วดอนเต้า แห่งเวียงละกอน (ลำปาง) ในวันปีใหม่เมือง เพื่อค้ำจุนพระศาสนาจวบจนห้าพันพรรษา” สลุงหลวงและฐานสลุงหลวง จะนำออกมาแห่ โดยการจัดขบวนแห่สลุงหลวงจะจัดรูปขบวนแบบพื้นเมืองโบราณ ผู้ร่วมขบวนแต่งกายแบบพื้นเมือง
สำหรับในปีนี้เทศบาลนครลำปาง ร่วมกับจังหวัดลำปาง สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดลำปาง สภาวัฒนธรรมจังหวัดลำปาง ชมรมเทิดมรดกเขลางค์ และมหาชนชาวจังหวัดลำปาง จึงได้จัด “ขบวนแห่งานบุญสลุงหลวง” ครั้งที่ 33 และขบวนอัญเชิญ น้ำทิพย์ 13 อำเภอ ขึ้น เพื่อสืบทอดประเพณีอันดีงามให้คงอยู่สืบไป โดยประเพณีแห่งานบุญสลุงหลวงของนครลำปางมีเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย