สุรินทร์-เกษตรกรเมืองช้างนำข้าวหอมมะลิอินทรีย์แลกเปลี่ยนกับอาหารทะเลปลอดสารพิษของกลุ่มเกษตรกรเมืองคอน เตรียมขยายผลไปยังจังหวัดอื่น ๆเพิ่มช่องทางระบายสินค้าแก้ไขปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ
เมื่อวันที่ 11 เม.ย. ที่ศาลากลางจังหวัดสุรินทร์ นายสุวพงศ์ กิติภัทย์พิบูลย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ พร้อมด้วย น.ส.พิชชากร แจ่มศรี เกษตรและสหกรณ์จังหวัดสุรินทร์ และ ดร.สำเนาว์ เสาวกูล รองอธิการบดีประจำวิทยาเขตสุรินทร์, ดร.สุทธิศักดิ์ แก้วแกมจันทร์ อาจารย์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมลคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ ได้ร่วมเปิดกิจกรรมการแลกเปลี่ยนข้าวหอมมะลิอินทรีย์ ของกลุ่มเกษตรกรและเครือข่ายข้าวหอมมะลิอินทรีย์ ในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ กับผลิตภัณฑ์อาหารทะเลปลอดสารพิษของกลุ่มเกษตรกรจังหวัดนครศรีธรรมราช (เครือข่าย PGS นครศรีธรรมราช) โดย จังหวัดสุรินทร์ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ ได้จัดกิจกรรมดังกล่าวขึ้น
ทั้งนี้ มีเกษตรและสหกรณ์จังหวัดสุรินทร์ สนับสนุนส่งเสริมและพัฒนาการปลูกข้าวหอมอินทรีย์ เพื่อรวบรวมผลผลิตข้าวหอมมะลิให้เชื่อมโยงตลาดที่เหมาะสม นำมาดำเนินการให้มีการจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนข้าวหอมมะลิของกลุ่มเกษตรกรและเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ กับผลิตภัณฑ์อาหารทะเลปลอดสารพิษ โครงการข้าวใหม่ ปลามัน ของกลุ่มเกษตรกรจังหวัดนครศรีธรรมราช เครือข่าย PGS ของจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้แก่ ปลาทูเค็ม ปลาทูหอม ปลาทูหวาน ปลาเส้น ปลาทูแขกแดดเดียว ปลาหวาน ปลาจวดเค็ม ปลาอินทรีย์เค็ม ปลากระบอกแดดเดียว ปลาหวานสมุนไพร กะปิ กุ้งแห้ง หมึก หอม และหมึกกะตอย เป็นต้น กิจกรรมดังกล่าวเป็นการแลกเปลี่ยนสินค้าของดีระหว่างเครือข่าย ให้มีการขยายผลการแลกเปลี่ยนสินค้าเกษตรอื่น ๆ ให้เกิดความต่อเนื่องให้มากขึ้น เพิ่มช่องทางการตลาดต่อไป
สำหรับ การดำเนินการในครั้งนี้จะเป็นแนวทางและนำไปสู่การแลกเปลี่ยนสินค้าอื่นๆในอนาคต เช่น ข้าว อาหารทะเล ผลไม้ หรือพืชเศรษฐกิจอื่นๆนำไปสู่การขยายผลจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศ ทั้งภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ เพื่อแก้ไขปัญหาราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำในอนาคตต่อไป โดยกลุ่มเกษตรกรและเครือข่ายข้าวหอมมะลิอินทรย์จังหวัดสุรินทร์ ที่เข้าร่วมโครงการในครั้งนี้จำนวน 9 กลุ่ม ปริมาณข้าวสารอินทรีย์รวมกว่า 2 พันกิโลกรัม รวมเป็นเงินกว่า 1 แสนบาท ขณะที่รายการผลิตภัณฑ์อาหารทะเลของเครือข่าย PSG นครศรีธรรมราช เข้าร่วมนำผลิตภัณฑ์แลกเปลี่ยนสินค้ารวม 5 กลุ่ม ทั้งวิสาหกิจชุมชนและกลุ่มผู้ประกอบการอิสระ
นายกิต สุขแสวง ผู้ใหญ่บ้านตากวนน้อย ม.7 ต.ลุ่มระวี อ.จอมพระ จ.สุรินทร์ และประธานเครือข่ายเกษตรอินทรีย์อำเภอจอมพระ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้มีการแลกเปลี่ยนผลไม้กับข้าวหอมมะลิ ช่วงที่มังคุตราคาตกต่ำ ครั้งนี้เป็นอาหารทะเลแลกกับข้าวหอมมะลิอินทรีย์ ถือเป็นครั้งที่สองที่เข้าร่วมโครงการ ผลผลิตของทางจังหวัดนครศรีธรรมราชสวยงามมาก รอบหน้าคิดว่าน่าจะได้เป็นจำนวนมากข้าวหอมมะลิ เนื่องด้วยข้าวตอนนี้ราคาตกต่ำมาก สมาชิกทุกคนบางคนยังเหลือข้าวในยุ้งฉางเป็น 10 ตัน โครงการนี้ถือว่าเป็นโครงการที่ดีมาก เกษตรกรจะได้ระบายข้าวออกแปรเป็นอาหารแลกเปลี่ยนกันอยากให้มีโครงแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆเพื่อช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร