EEC จับมือ "ม.บูรพา-Wefly-PUC Group" พัฒนาหลักสูตรช่างซ่อมอากาศยาน รองรับศูนย์กลางการบินระดับภูมิภาค รับการฟื้นตัวอุตฯการบิน
วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยบูรพา (BUUIC) และ บริษัท พียูซี กรุ๊ป จำกัด (PUC Group Co.,Ltd.) ร่วมกับ บริษัท วีฟลาย แอโร จำกัด (Wefly Aero Co.,Ltd.)ร่วมลงนามในข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (Partnership Agreement)ในการพัฒนาหลักสูตรการพัฒนาบุคลากรด้านการซ่อมบำรุงอากาศยาน หรือ MRO (Maintenance Repair & Overhaul) โดยมี รศ.ดร.วัชรินทร์ กาสลัก อธิการบดีมหาวิทยาลัยบูรพา, ผศ.ดร.ปริญญา นาคปฐม คณบดีวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยบูรพา, นายกั๋ว โชง จง ประธานคณะกรรมการบริษัท วีฟลาย แอโร จำกัด, นายสุรพันธ์ ธีรสัจจานันท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พียูซี กรุ๊ป จำกัด และ ดร.หม่อมหลวงสุนทรชัย ชยางกูร ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และที่ปรึกษารมว.แรงงาน และผศ.ดร.ณยศ คุรุกิจโกศล รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายกิจกรรมเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ร่วมเป็นสักขีพยาน
นายสุรพันธ์ ธีรสัจจานันท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท พียูซี กรุ๊ป จำกัด ซึ่งทำหน้าที่หลักในการวางแผน ออกแบบ และพัฒนาหลักสูตร กล่าวถึงความร่วมมือครั้งสำคัญนี้ว่า จะนำไปสู่การพัฒนาบุคลากรด้านการซ่อมบำรุงอากาศยานที่มีประสิทธิภาพและได้รับการยอมรับจากนานาชาติ ด้วยความร่วมมือดังกล่าวกับ บริษัท วีฟลาย แอโร จำกัดเป็นสถาบันจัดหลักสูตรด้านธุรกิจการบินและอากาศยาน มุ่งเน้นการสร้างบุคลากรด้านช่างซ่อมบำรุงอากาศยานที่ผ่านการฝึกอบรมและได้รับการรับรองจากองค์การความปลอดภัยด้านการบินแห่งสหภาพยุโรป หรือ EASA (European Union Aviation Safety Agency) และยังเป็นส่วนหนึ่งในแผนการพัฒนามุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และ Logistics & Aviation รวมถึงการเป็น “มหานครการบินภาคตะวันออก" ศูนย์กลางการบินระดับภูมิภาค
ด้านนายกั๋ว โชง จง ประธานคณะกรรมการบริษัท วีฟลาย แอโร จำกัด กล่าวว่า อาชีพช่างซ่อมบำรุงอากาศยาน ถือเป็นอีกหนึ่งสายงานที่กำลังขาดแคลนเช่นเดียวกันกับอาชีพนักบิน ก่อนหน้านี้บริษัทผลิตเครื่องบินรายใหญ่ของโลกประมาณการณ์ความต้องการบุคลากรซ่อมบำรุงอากาศยานในอีก 20 ปีข้างหน้า ทั่วโลกมีความต้องการอีกกว่า 600,000 คน ขณะที่อุตสาหกรรมการบินของไทย มีความต้องการช่างซ่อมบำรุงอากาศยาน ประมาณ 400 คนต่อปี แต่ในปัจจุบันยังผลิตได้น้อยกว่าเป้าหมายมาก ทั้งนี้หลังจากยุคหลังการระบาดโควิด-19 (Post-Pandemic) ทั่วโลกเริ่มทยอยกลับมาผ่อนคลายการเดินทางระหว่างประเทศอีกครั้ง และเมื่ออุตสาหกรรมการบินกลับมาฟื้นตัว การพัฒนากำลังบุคลากรให้ทันสอดรับกับการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบิน จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง
ขณะเดียวกัน ผศ.ดร.ปริญญา นาคปฐม คณบดีวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวว่า สำหรับหลักสูตร EASA Engineer Course นี้เป็นการเรียน Basic Training Course Part 66 B1.1 & A1 โดยเรียนทั้งสิ้น 12 Modules แบ่งการเรียนการสอนเป็นภาคทฤษฎี 260 ชั่วโมง และภาคปฏิบัติอีก 540 ชั่วโมง รวมทั้งสิ้น 800 ชั่วโมง เรียนวันละ 6 ชั่วโมง ใช้เวลาเรียนรวม 6 เดือน โดยผู้ที่จบการศึกษาหลักสูตร EASA Engineer Course Part 66 B1.1 & A1 จะได้รับประกาศนียบัตร (Certificate) เพื่อเป็นใบเบิกทางในการสมัครเข้าทำงาน โดยสามารถเลือกเก็บประสบการณ์อีก 1 ปี เพื่อไปสอบ Aircraft Maintenance License Category A1 และเก็บประสบการณ์อีก 2 ปี เพื่อไปสอบ Aircraft Maintenance License Category B1.1
ทั้งนี้ ในปี 2565 นี้ ทางวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยบูรพา จะเริ่มเปิดรับสมัครผู้เข้าอบรมทั้งหมด 4 รุ่น รุ่นละ 45 คน กำหนดเปิดการเรียนการสอนภายใน ไตรมาส 3 ปี 2565 พร้อมตั้งเป้าผลิตบุคลากรด้านซ่อมบำรุงอากาศยาน ในปีการศึกษา 2565 ให้ได้ 180 คน และในปีการศึกษา 2566 อีก 400 คน คาดว่าจะสามารถผลิตบุคลากรด้านช่างซ่อมบำรุงอากาศยานจำนวนไม่ต่ำกว่า 800 ถึง 1,000 คนภายในระยะ 3 ปี เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายของ EEC และเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามแผนยุทธศาสตร์ชาติด้วย
สำหรับ ผู้ที่สนใจหลักสูตร EASA Engineer Course (หลักสูตรระยะ 6 เดือน) สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยบูรพา โทรศัพท์: 038 102571-2 ต่อ 126 (นายสุทธิจิตต์ รอดผัน) Email: reskillbuuic@gmail.com หรือ pucgroup@hotmail.com หรือติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ http://buuic.buu.ac.th