THAI NEWS

โดย กองบรรณาธิการ M2F

03 มีนาคม 2565 : 15:57 น.

รมว.มหาดไทยลงพื้นที่มอบนโยบายขับเคลื่อนแก้ปัญหาความยากจนผ่าน ศจพ. 14 จังหวัดภาคใต้ กำชับ ผู้ว่าฯ นายอำเภอ ต้องเป็นแม่ทัพแก้ปัญหาให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมาย

เมื่อวันที่ 3 มี.ค. พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย เป็นประธานเปิดและมอบนโยบายและแนวทางขับเคลื่อนศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) ในระดับพื้นที่ในจังหวัดภาคใต้  โดยมี นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัด 14 จังหวัดภาคใต้ พร้อมด้วยประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัด พัฒนาการจังหวัด ท้องถิ่นจังหวัด และนายอำเภอ ร่วมรับฟัง และถ่ายทอดสดการประชุมผ่านระบบ DOPA Channel ไปยังทุกจังหวัด/อำเภอทั่วประเทศ ที่โรงแรมบุรีศรีภู คอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ จ.สงขลา

พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาความยากจน จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ไขปัญหาความยากจนและความเดือดร้อนด้านต่าง ๆ มีเจตนาเพื่อให้ทุกคนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จึงเป็นที่มาของการขับเคลื่อนศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) มีเป้าหมายสำคัญ คือ “การแก้ปัญหาความยากจนแบบมุ่งเป้าแต่ละครัวเรือน” หรือ การตัดเสื้อให้พอดีตัว โดยมีกลไกการดำเนินงานตั้งแต่ระดับนโยบายถึงระดับปฏิบัติในพื้นที่ และระดับปฏิบัติการ ผ่านทีมปฏิบัติการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในระดับพื้นที่ โดยมีการตั้งทีมพี่เลี้ยงเข้าไปรับทราบปัญหา ช่วยหาทางแก้ไข โดยจัดทำแผนครัวเรือนร่วมกับทุกครัวเรือนยากจนในทุกหมู่บ้าน/ชุมชน และสนับสนุนให้ครัวเรือนมีการวางแผน/แก้ปัญหาตรงตามสภาพปัญหาที่แต่ละครอบครัวกำลังเผชิญ เมื่อทราบปัญหาของแต่ละครอบครัวแล้ว ทีมพี่เลี้ยงจะได้นำข้อมูลมารายงาน ศจพ. อำเภอ เพื่อบูรณาการความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เสร็จสิ้นในระดับอำเภอ ทั้ง 5 มิติ หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า 5 เมนูแก้จน ได้แก่ 1.สุขภาพ 2.ความเป็นอยู่ 3. การศึกษา 4. ด้านรายได้ และ 5.การเข้าถึงบริการภาครัฐ

ทั้งนี้ หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมีความสำคัญในการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน เมื่อย้อนไปจะเห็นว่าปัจจุบันเรามีความเจริญทุกอย่าง ทั้งการติดต่อสื่อสาร การเดินทางสัญจร แต่ถ้าพี่น้องประชาชนขาดรายได้ ก็ไม่สามารถใช้บริการสิ่งเหล่านี้ได้ และจะเกิดความยากลำบาก จึงขอให้นำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปขยายผล ไปช่วยเหลือประชาชนกลุ่มเป้าหมาย ให้ได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิตและใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข จะสำเร็จหรือล้มเหลวทั้งหมดอยู่ที่กลไกในพื้นที่ทั้งหมด ดังนั้น กลไกพื้นที่จึงมีความสำคัญที่สุด โดยเฉพาะแม่ทัพของพื้นที่ ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะประธาน ศจพ.จังหวัด และนายอำเภอ ในฐานะประธาน ศจพ.อำเภอ ทีมตำบล และทีมพี่เลี้ยงในระดับพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทีมพี่เลี้ยง ที่ต้องดำเนินการวิเคราะห์ปัญหาและหาแนวทางการแก้ไข ตามหลัก 4 ท คือ ทัศนคติ ทักษะ ทรัพยากร และทางออก

"การสร้างการรับรู้เป็นเรื่องที่สำคัญ ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ รวมพลังทุกภาคส่วน ใช้ช่องทางการสื่อสารทุกรูปแบบ ทุกขั้นตอนทั้ง Online Onsite Onground สร้างความรับรู้เข้าใจให้เข้าถึงทุกกลุ่มเป้าหมาย ใช้คำ ใช้ภาษาที่ตรงกับกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการสื่อ และสื่อสารในหลาย ๆ ช่อง หลาย ๆ เวลา ทำซ้ำ ๆ ทำบ่อย ๆ บูรณาการกันใช้พลังในการสื่อสาร เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายทุกกลุ่ม ถ้าทุกคน ทุกภาคส่วนมาร่วมมือกันจะมีพลัง เพื่อปลายทาง คือ พี่น้องประชาชนมีความสุข”รมว.มหาดไทยกล่าว

ด้านนายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทยกล่าวว่า การขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาความยากจนเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ ต้องทำให้พี่น้องประชาชนได้เรียนรู้และยืนบนลำแข้งของตนเองได้อย่างยั่งยืน โดยจังหวัดสามารถพิจารณาบริหารจัดการงบประมาณ ทั้งงบจังหวัด กลุ่มจังหวัด และงบประมาณของส่วนราชการต่าง ๆ ในการแก้ไขปัญหา รวมทั้งขอความร่วมมือ อปท.ร่วมหาวิธีการในการช่วยเหลือแก้ปัญหาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชน โดยกำหนดเป็นวาระสำคัญในการประชุม อปท. ประจำเดือน ปรับเปลี่ยนแผนงาน/โครงการให้สอดคล้องกับการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนและการส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้กับพี่น้องประชาชนควบคู่กับการขับเคลื่อนงานท้องที่ ลงไปคลุกคลีกับประชาชนในชุมชน ถ้าเราแก้ปัญหาความยากจนได้สำเร็จ จะนำมาซึ่งการต่อยอดการพัฒนาประเทศในด้านอื่น ๆ ต่อไป

ขณะที่ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่าการขับเคลื่อน ศจพ.เป็นทั้งงานตามหน้าที่ในฐานะข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นายกเหล่ากาชาดจังหวัด และงานส่วนตัวในฐานะคนที่อยากทำสิ่งที่ดีที่มีเป้าหมายเดียวกัน คือ ภายใน 30 ก.ย.65 “คนจนจะหมดไป” เราจะทำให้พี่น้องประชาชนทั่วทั้งประเทศมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยมีแม่ทัพในพื้นที่บูรณาการทุกภาคส่วน ร่วมแก้ปัญหาความยากจน ทั้งที่เป็นงบราชการและไม่ใช่งบราชการเพื่อจะได้ร่วมกันเฉลิมฉลอง 130 ปีกระทรวงมหาดไทย ด้วยการทำหน้าที่ บำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้สำเร็จ “เราต้องทำจริง” Re X-ray ข้อมูลจาก TPMAP ด้วยระบบ ThaiQM และค้นหาปัญหาความเดือดร้อนทุกเรื่องที่ประชาชนได้ประสบและไม่สามารถแก้ไขได้ มาวิเคราะห์ ค้นหาปัญหา อะไรที่แก้ไขได้ในระดับอำเภอให้ดำเนินการ ถ้าแก้ไม่ได้ให้นำเสนอจังหวัด หรือระดับนโยบายหาทางช่วยเหลือแก้ไขต่อไป

นอกจากนั้น ให้ทุกอำเภอปฏิบัติตามตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการใช้จ่ายเงินของ อปท.ในการช่วยเหลือประชาชนของ อปท. ซึ่งกำหนดให้ทุก อปท.ต้องตั้ง “ศูนย์ช่วยเหลือประชาชน” และทุกที่ว่าการอำเภอต้องตั้ง “ศูนย์ประสานงานช่วยเหลือประชาชนของ อปท.” เพื่อเป็นเครื่องมือแก้ปัญหาที่มีความยั่งยืน ในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน ต้องไปหาปัญหาให้เจอ วินิจฉัยโรค และแก้ไข โดยหากจะทำให้ยั่งยืน ต้องน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ มุ่งเน้นทำให้เขาสามารถพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งเรามีภารกิจไม่ใช่แค่ทำให้คนอยู่รอด แต่ต้องทุ่มเทพละกำลังทำให้เขาสามารถพัฒนาตัวเอง เพื่อขึ้นมาดูแลตัวเองได้ นั่นคือการพัฒนาคนอันเป็นหน้าที่ของเรา

ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ ติดตาม ดูแล และให้กำลังใจผู้ได้รับพระราชทานทุนเล่าเรียนหลวงและทุนส่วนพระองค์ และช่วยเหลือให้เขาสามารถเล่าเรียนและใช้ชีวิตกับครอบครัวได้อย่างมีความสุข และร่วมกันเผยแพร่วีดิทัศน์เฉลิมพระเกียรติพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีทั้ง 10 รัชกาล ไปยังสถาบันการศึกษาต่าง ๆ เพื่อเด็กได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทยผ่านพระราชกรณียกิจทั้ง 10 รัชกาล รวมถึงเผยแพร่ขยายผลโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ ให้เป็นประโยชน์กับทุกภาคส่วนตามพระราชประสงค์ รวมถึงในปีนี้เป็นปีมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงเจริญพระชนมพรรษา 70 พรรษา และสมเด็จพระบรมราชนนีพันปีหลวง ทรงเจริญพระชนมพรรษา 90 พรรษา จึงขอให้บำรุง รักษา พัฒนาแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญและเป็นสถานที่ที่เป็นแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ตลอดเวลาด้วย 

ข่าวเด่น

ข่าวที่น่าสนใจ