THAI NEWS

28 กุมภาพันธ์ 2565 : 16:02 น.

มท.1 ลงพื้นที่มอบนโยบายขับเคลื่อน ศจพ.ระดับพื้นที่ 15 จังหวัดภาคเหนือ เน้นย้ำ ผู้ว่าฯ - นายอำเภอ ต้องบูรณาการทุกภาคส่วนลงสำรวจและแก้ไขปัญหาแบบพุ่งเป้าให้กับประชาชนเพื่อขจัดความยากจนให้หมดไป

เมื่อวันที่ 28 ก.พ. ที่โรงแรมเลอ เมอริเดียน เชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย มอบนโยบายและบรรยายพิเศษแนวทางการขับเคลื่อนศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) ในระดับพื้นที่ โดยมี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมผู้บริหารระดับสูง ผู้ว่าราชการจังหวัด 15 จังหวัดภาคเหนือ พร้อมด้วยประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัด พัฒนาการจังหวัด ท้องถิ่นจังหวัด และนายอำเภอ ร่วมรับฟัง และถ่ายทอดสดการประชุมผ่านระบบ DOPA Channel ไปยังทุกจังหวัด/อำเภอทั่วประเทศ โดยมี ปลัดอำเภอ พัฒนาการอำเภอ สาธารณสุขอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ร่วมรับฟัง

พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า วันนี้เป็นการประชุมขับเคลื่อนแนวทางการขับเคลื่อนศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) ในระดับพื้นที่ ถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะในการปฏิบัติมีรายละเอียด มีจุดเน้นที่ต้องบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่รับผิดชอบ เพื่อมาแก้ปัญหาให้กับพี่น้องประชาชน รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินงานขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของ (ศจพ.) มีเป้าหมายสำคัญ คือ การแก้ปัญหาความยากจน แบบมุ่งเป้าแต่ละครัวเรือน หรือ “การตัดเสื้อให้พอดีตัว” โดยมีกลไกการดำเนินงานตั้งแต่ระดับนโยบาย โดยคณะกรรมการฯ ระดับชาติ มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน

ทั้งนี้ ได้มีการตั้ง “ทีมพี่เลี้ยง” เข้าไปจัดทำแผนครัวเรือนร่วมกับทุกครัวเรือนยากจนในทุกหมู่บ้าน/ชุมชน เพื่อไปรับทราบปัญหา ช่วยหาทางแก้ไข และให้การสนับสนุนให้ครัวเรือนมีการวางแผน/แก้ปัญหาตรงตามสภาพปัญหาที่แต่ละครอบครัวกำลังเผชิญ เมื่อทราบปัญหาของแต่ละครอบครัวแล้ว ทีมพี่เลี้ยงจะได้นำข้อมูลมารายงาน ศจพ. อำเภอ เพื่อบูรณาการความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เสร็จในระดับอำเภอ ทั้ง 5 มิติ หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “5 เมนูแก้จน” ได้แก่ 1) สุขภาพ เช่น การดูแลสุขภาพ การติดตามผู้ป่วยเรื้อรัง 2) ความเป็นอยู่ เช่น ปรับปรุงซ่อมแซมที่อยู่อาศัย 3) การศึกษา เช่น การฝึกอาชีพ 4) ด้านรายได้ เช่น การจัดหาที่ดินทำกิน เกษตรแปลงใหญ่ และ 5) การเข้าถึงบริการภาครัฐ เช่น สนับสนุนเบี้ยผู้พิการ ผู้สูงอายุ ให้ผู้ที่ตกหล่นจากระบบ โดยทีมพี่เลี้ยงจะลงไปพื้นที่เพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของครัวเรือนยากจนอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง ในลักษณะ Intensive care

“สิ่งสำคัญที่มาเน้นย้ำวันนี้ คือ ระดับพื้นที่ เรามี ศจพ.จังหวัด อำเภอ ตำบล และทีมพี่เลี้ยงในระดับพื้นที่ ความสำเร็จหรือล้มเหลวทั้งหมดอยู่ที่กลไกในพื้นที่ทั้งหมด โดยเฉพาะทีมพี่เลี้ยงต้องดำเนินการวิเคราะห์ปัญหาและหาแนวทางการแก้ไข ตามหลัก 4 ท คือ ทัศนคติ ทักษะ ทรัพยากร และทางออก โดยให้ครัวเรือนมีส่วนร่วมในการวิเคราะห์ การคิด ตามสภาวะแวดล้อมที่สามารถทำได้ และไม่เป็นการบังคับให้เขาทำ โดยพัฒนากรเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความเข้าใจให้ทีมพี่เลี้ยงไปสำรวจให้รู้ปัญหา รู้แนวทางการทำงาน และวิเคราะห์ปัญหาทั้งหมดให้ออกมา ด้วยการนำข้อมูลบุคคล/ครัวเรือนเป้าหมายจากระบบ TPMAP ไปกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกับครัวเรือน พร้อมทั้งติดตาม ตรวจสอบ วิเคราะห์ ดูแลอย่างใกล้ชิด ในลักษณะ Intensive Care และบันทึกในระบบ Logbook ทุกครั้งที่ได้ให้ความช่วยเหลือ ซึ่ง ศจพ.อำเภอ ต้องมีความเข้าใจ “เมนูแก้จน” ทั้ง 5 เมนู รวมถึงวิธีการแก้ปัญหาแบบพุ่งเป้า โดยนายอำเภอเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการบูรณาการ ทั้งนี้ หากพบสภาพปัญหานอกเหนือจากเมนู ให้ประสานหน่วยงานในพื้นที่ในการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ หากไม่สามารถแก้ไขในระดับอำเภอได้ให้รายงานไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้บูรณาการ และหากเป็นสภาพปัญหาที่ต้องแก้ไขในระดับนโยบาย ให้รายงานมายังกระทรวงมหาดไทยเพื่อนำกราบเรียนนายกรัฐมนตรี พิจารณาสั่งการต่อไป” พล.อ.อนุพงษ์กล่าว

อย่างไรก็ตาม การสร้างการรับรู้เป็นเรื่องที่สำคัญขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอใช้ช่องทางการสื่อสารทุกรูปแบบ ทุกขั้นตอนทั้ง Online Onsite Onground ให้เข้าถึงทุกกลุ่มเป้าหมาย ต้องทำซ้ำ ทำบ่อย ทำหลาย ๆ ช่องทาง ทำทุกระดับ รวมถึงทั้งมูลนิธิ สมาคม ต่าง ๆ บูรณาการกันใช้พลังในการสื่อสาร เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายทุกกลุ่ม ถ้าทุกคน ทุกภาคส่วนมาร่วมมือกันจะมีพลัง เพื่อปลายทาง คือ “พี่น้องประชาชนมีความสุข"

ด้าน นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ในการแก้ไขปัญหาความยากจนต้องอาศัยกลไกภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ทั้งประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัด องค์กรเอกชน สมาคม มูลนิธิต่าง ๆ ในระดับพื้นที่ และให้ดำเนินการ 1.นำแอปพลิเคชั่น ThaiQM ซึ่งกรมการปกครอง ได้พัฒนาระบบนำเอาชุดข้อมูลที่ต้องทำการสำรวจอีกครั้งเข้าระบบ โดยนายอำเภอเป็นหัวหน้าชุดบูรณาการทีมงานสำรวจ และดำเนินการแก้ไขปัญหาให้แล้วเสร็จภายใน 30 ก.ย. 65 ตามแผนที่กำหนด ยกเว้นในด้านที่อยู่อาศัย ให้แล้วเสร็จภายใน 12 ส.ค. 65 เพื่อพี่น้องคนไทยมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง แข็งแรง ถูกสุขลักษณะ ถวายเป็นพระราชกุศลแก่สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 90 พรรษา 2.ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด กำกับ ติดตาม และส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้ง 7,853 แห่งทั่วประเทศ ขับเคลื่อน “ศูนย์ช่วยเหลือประชาชนผู้เดือดร้อน” ให้มีความเข้มแข็ง ขับเคลื่อนกันช่วยเหลือพี่น้องประชาชนควบคู่กับโครงสร้างของภาคส่วนต่าง ๆ เช่น เหล่ากาชาด องค์กรการกุศล

3.น้อมนำพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี “ปลูกพืชผักสวนครัวสร้างความมั่นคงด้านอาหาร” และขับเคลื่อนงาน "อาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก (อถล.)" เพื่อให้ อปท. อบรม อถล. ทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน และสอนให้รู้จักการเก็บขยะรีไซเคิลนำไปสู่จัดตั้งธนาคารขยะ และ 4.บูรณาการร่วมกับฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ ของคณะสงฆ์จังหวัดต่างๆ ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้ลงนาม MOU ร่วมกับสมเด็จพระมหาธีราจารย์ กรรมการมหาเถรสมาคม ประธานฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคม โดยวัดทุกวัดจะมาร่วมแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าของชาวบ้าน และรณรงค์ส่งเสริมให้คนน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่มาใช้ในชีวิตประจำวัน

"ขอให้ช่วยกัน Change for Good ให้เกิดขึ้นกับสังคมไทย และร่วมกันเฉลิมฉลองวาระ 130 ปีกระทรวงมหาดไทย ด้วยการมุ่งมั่นแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน เรื่องใหญ่ที่สำคัญที่สุด คือ กระดุมเม็ดแรก ต้องหาเป้าให้ครบ แล้วลุยแก้ปัญหาอย่างพุ่งเป้า ช่วยกันสร้างชื่อเสียงให้กับสถาบันนักปกครอง กระทรวงมหาดไทย และที่สำคัญที่สุด สร้างชื่อเสียงให้ระบบราชการว่า มีความจำเป็นต่อสังคมไทย โดยใช้ผลงานเป็นเครื่องพิสูจน์"ปลัดกระทรวงหมาดไทยกล่าว

ข่าวเด่น

ข่าวที่น่าสนใจ