อว.มอบรางวัล Prime Minister Awardเชิดชูศักยภาพกลุ่มสตาร์ทอัพและผู้พัฒนานวัตกรรมสู้วิกฤต
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานในงานพิธีประกาศเกียรติคุณและเชิดชูเกียรติให้แก่ผู้มีส่วนร่วมในการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาระบบนิเวศสำหรับสตาร์ทอัพของประเทศ (Prime Minister Award: National Startup 2021) และผู้ที่มีส่วนร่วมในการนำนวัตกรรมเข้ามาแก้ไขปัญหาวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 19 (Prime Minister Award: Innovation For Crisis) ภายในงานสตาร์ทอัพ และ งานอินโนเวชั่น ไทยแลนด์ เอ็กซ์โป 2021 (STARTUP x INNOVATION THAILAND EXPO 2021)
ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า “รางวัล Prime Minister Award: National Startup 2021 จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 ซึ่งเป็นหนึ่งในกลไกขับเคลื่อน เร่งสร้าง และพัฒนาสตาร์ทอัพที่เป็นรูปธรรมในลักษณะความร่วมมือระหว่างภาคเอกชน ภาครัฐ และภาคการศึกษา ทั้งนี้ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 19 หรือ COVID-19 นั้น ทำให้เห็นการร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วนในการแก้ปัญหาในสถานการณ์วิกฤต ซึ่งมีคุณค่าและเกิดประโยชน์อย่างยิ่งแก่ประเทศ ดังนั้น NIA จึงเห็นว่าในปีนี้ควรจัดมอบรางวัล Prime Minister Award: Innovation For Crisis เพิ่มขึ้น เพื่อเป็นกำลังใจและเชิดชูเกียรติแก่ผู้มีส่วนร่วมในการคิดค้น พัฒนา และสนับสนุนนวัตกรรมที่ช่วยแก้ไขวิกฤตในครั้งนี้ด้วย”
พิธีมอบรางวัล Prime Minister Award: National Startup 2021 และ Prime Minister Award: Innovation For Crisis มีวัตถุประสงค์เพื่อประกาศเกียรติคุณและเชิดชูเกียรติให้แก่ผู้มีส่วนร่วมในการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาระบบนิเวศสำหรับสตาร์ทอัพของประเทศ และผู้ที่มีส่วนร่วมในการนำนวัตกรรมมาใช้แก้ไขปัญหาวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 19 และเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งสตาร์ทอัพของประเทศไทยให้มีศักยภาพทางธุรกิจและก้าวสู่ตลาดต่างประเทศ
ดร.พันธุ์อาจ กล่าวเพิ่มเติม “NIA หวังว่าโครงการรางวัล Prime Minister Award: National Startup 2021 และ รางวัล Prime Minister Award: Innovation For Crisis ในงาน STARTUP x INNOVATION THAILAND EXPO 2021 ในครั้งนี้ จะมีส่วนช่วยกระตุ้นให้เกิดความสนใจในการเป็นผู้สนับสนุนระบบนิเวศของสตาร์ทอัพรายใหม่เพิ่มขึ้นในประเทศไทย และกระตุ้นให้มีการนำนวัตกรรมมาใช้แก้ไขปัญหาวิกฤติระดับประเทศและระดับโลก รวมถึงเกิดการเผยแพร่ต้นแบบแนวทางการเป็นผู้สนับสนุนระบบนิเวศของสตาร์ทอัพและการใช้นวัตกรรมในประเทศมาแก้ปัญหาวิกฤตระดับโลกที่กำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้หรืออนาคต”
รางวัล Prime Minister Award: National Startup 2021 ประกอบด้วย 1. รางวัล Startup of the year เป็นรางวัลเพื่อเป็นการประกาศเกียรติคุณและเชิดชูเกียรติแก่สตาร์ทอัพในสาขาธุรกิจเป้าหมาย โดยต้องมีการจดทะเบียนบริษัทในประเทศไทย และดำเนินธุรกิจในประเทศไทย บริษัทต้องมีศักยภาพในการเติบโตสูง สร้างความเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรม ตลอดจนมีส่วนส่งเสริม สนับสนุนการพัฒนาระบบนิเวศของสตาร์ทอัพ เป็นต้นแบบที่ดีของสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ รวมถึงมีธรรมมาภิบาลในการดำเนินธุรกิจที่ดี
ผู้ได้รับรางวัลได้แก่ SHIPPOP บริษัทบริการออนไลน์เชื่อมโยงขนส่งมาไว้ในระบบเดียว บริการหน้าร้านเพื่อรับส่งสินค้า ช่วยเหลือเกษตรกรในการขนส่ง สร้างรายได้ให้แก่คนทั่วไปจากสาขาที่เปิดให้บริการ มีอัตราการเติบโตกว่า 30% ในปัจจุบันมีมากกว่า 1,000 สาขา และมีการส่งพัสดุมากกว่า 1,000,000 ชิ้นต่อเดือน
2. รางวัล Global Tech Startup of the year เป็นรางวัลเพื่อเป็นการประกาศเกียรติคุณและเชิดชูเกียรติแก่ สตาร์ทอัพในสาขาธุรกิจเป้าหมาย ที่มีการเริ่มต้นธุรกิจในประเทศไทย หรือมีการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย โดยมีศักยภาพในการเติบโตสูง สร้างความเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมในวงกว้างระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นอย่างน้อย ตลอดจนมีส่วนส่งเสริม สนับสนุนการพัฒนาระบบนิเวศของสตาร์ทอัพ และมีการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ผู้ได้รับรางวัลได้แก่ Builk บริษัทสร้างเว็บแอพพลิเคชั่นสำหรับบริหารธุรกิจก่อสร้าง เช็คราคาวัสดุก่อสร้างจากฐานข้อมูลการสั่งซื้อจริง ในปีที่ผ่านมาได้มีการเติบโตและกำไรเพิ่มขึ้นจากปีก่อน อีกทั้งยังมีการขยายไปต่างประเทศ ได้แก่ พม่า อินโดนีเซีย ลาว และกัมพูชา
3. รางวัล Evangelist of the year เป็นรางวัลเพื่อเป็นการประกาศเกียรติคุณและเชิดชูเกียรติแก่ บุคคลต้นแบบ ที่มีศักยภาพ มีส่วนส่งเสริม สนับสนุนการพัฒนาระบบนิเวศของสตาร์ทอัพ สร้างความตระหนักรับรู้และชักนำบุคคลหรือองค์กรใหม่ๆเข้ามาในระบบนิเวศสตาร์ทอัพ เผยแพร่ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสตาร์ทอัพในวงกว้าง และสามารถยกระดับการเติบโตระบบนิเวศของสตาร์ทอัพของประเทศไทยสู่ระดับนานาชาติ
ผู้ได้รับรางวัลได้แก่ นายแซม ตันสกุล กรรมการผู้จัดการ กรุงศรี ฟินโนเวต และ นางสาวปารดา ทรัพย์ประเสริฐ ผู้ร่วมก่อตั้งกองทุน 500 TukTuks
4. รางวัล Investor of the year เป็นรางวัลเพื่อเป็นการประกาศเกียรติคุณและเชิดชูเกียรติแก่บริษัทร่วมลงทุนที่มีศักยภาพสร้างการเติบโตให้กับบริษัทสตาร์ทอัพ มีส่วนส่งเสริม สนับสนุนการพัฒนาระบบนิเวศของสตาร์ทอัพ การลงทุนสามารถสร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศของสตาร์ทอัพในระดับประเทศ สามารถยกระดับการลงทุนของบริษัทร่วมลงทุนในตลาดของประเทศไทยสู่ระดับนานาชาติ
ผู้ได้รับรางวัลได้แก่ 500 TukTuks กองทุนที่ร่วมผลักดันวงการสตาร์ทอัพไทยให้เติบโตแบบก้าวกระโดด และร่วมสร้างระบบนิเวศแห่งนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่สมบูรณ์แบบ (Disruptive Digital and Deep Technology Ecosystem) ในประเทศไทย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีการร่วมลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัพรวม 70 บริษัท ช่วยให้สตาร์ทอัพสามารถระดมทุนในรอบถัดไปได้รวมเกือบ 7,000 ล้านบาท
5. รางวัล Best Brotherhood of the year เป็นรางวัลเพื่อเป็นการประกาศเกียรติคุณและเชิดชูเกียรติแก่บริษัทขนาดใหญ่ หรือ หน่วยงานภาครัฐที่มีศักยภาพสร้างการเติบโตให้กับบริษัทสตาร์ทอัพ มีส่วนส่งเสริม สนับสนุนการพัฒนาระบบนิเวศของสตาร์ทอัพ การส่งเสริมสามารถสร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศของสตาร์ทอัพในระดับประเทศ สามารถยกระดับการเติบโตระบบนิเวศของสตาร์ทอัพของประเทศไทยสู่ระดับนานาชาติ
ผู้ได้รับรางวัลได้แก่ SCG บริษัทที่ผลักดันลงทุนในสตาร์ทอัพต่อเนื่อง มีแผนการลงทุนกว่า 3,000 ล้านบาทเพื่อลงทุนสตาร์ทอัพที่น่าสนใจผ่าน AddVentures หน่วยงานลงทุนของบริษัทเป็นระยะเวลา 5 ปี ในกลุ่ม Industrial,Enterprise และ B2B โดย AddVentures by SCG เป็นบริษัทในรูปแบบ Corporate Venture Capital เพื่อเสริมศักยภาพวิสาหกิจเริ่มต้นทั่วโลกสนองนโยบายการทำ Digital Transformation
รางวัล Prime Minister Award: Innovation for Crisis ประกอบด้วย 1. รางวัลประเภทหน่วยงานภาครัฐ (Government Sector) เป็นรางวัลเพื่อเป็นการประกาศเกียรติคุณและเชิดชูเกียรติ หน่วยงานประเภทหน่วยงานภาครัฐ ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน หน่วยงานในกำกับของรัฐที่มี พรบ. เฉพาะ สถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัยของรัฐ มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นต่างๆ และมีผลงานนวัตกรรมที่สนับสนุน ส่งเสริม และใช้ในการดำเนินการเพื่อการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 (Covid 19) (เพิ่มเติม: ระบุลักษณะของผลงานที่สามารถส่งเข้าประกวด Product/ Process/ Public Service) โดยคุณลักษณะของนวัตกรรมต้องมีความใหม่ อรรถประโยชน์ สามารถนำไปใช้งานได้จริง มีจำนวนการใช้งานและมีศักยภาพที่ดีในการใช้งาน มีโอกาสในการพัฒนาและขยายผลในอนาคต
ผู้ได้รับรางวัลได้แก่ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ตำรับยาน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียร์ สำหรับผลิตในโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ มหาวิทยาลัยบูรพา ระบบการดูแลผู้ป่วยกักตัวสำหรับผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว (weSAFE@Home) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นวัตกรรมตู้ความดันบวกเพื่อใช้ในกระบวนการเก็บสิ่งส่งตรวจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เครื่องผลิตออกซิเจนสำหรับใช้ในโรงพยาบาลขนาดเล็ก
2. รางวัลประเภทหน่วยงานภาคเอกชน (Private Sector) เป็นรางวัลเพื่อเป็นการประกาศเกียรติคุณและเชิดชูเกียรติ หน่วยงานประเภทหน่วยงานภาคเอกชน เช่น องค์กรขนาดใหญ่ วิสาหกิจขนาดกลาง วิสาหกิจขนาดย่อมและขนาดย่อย ที่มีความเป็นนวัตกรรม ครอบคลุมถึงการบริการ การจัดการ มีการใช้งานจริงและเกิดผลกระทบที่เกี่ยวข้องด้านสุขภาพ ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม ด้านในด้านหนึ่ง สามารถชี้แจงทุนจดทะเบียนบริษัทและงบประมาณของโครงการเพื่อสะท้อนถึงขนาดและคุณภาพของผลงาน มีความร่วมมือหรือบูรณาการจากหลายภาคส่วน ก่อให้เกิดความยั่งยืน และมีการพัฒนาต่อยอดหลังจบสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
ผู้ได้รับรางวัลได้แก่ บริษัท โอโบดรอยด์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด แอพลิเคชั่นไข่ต้ม ฮอสพิทอล สมาคมอุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคมไทย ตู้แช่เก็บวัคซีนที่ติดอุปกรณ์ Monitoring บริษัท ทีเคเค คอร์ปอเรชั่น จำกัด หุ่นยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติสำหรับการบริการทางการแพทย์ บริษัท สมาร์ท เฮลท์เทค จำกัด ดีฟาร์ม DPharm
3. รางวัลประเภทบุคคลทั่วไป (Individual Award) เป็นรางวัลเพื่อเป็นการประกาศเกียรติคุณและเชิดชูเกียรติ ที่มอบให้แก่บุคคล หรือกลุ่มบุคคลที่มีศักยภาพด้านการส่งเสริม สนับสนุนการแก้ปัญหา และรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มีการดำเนินการอย่างจริงจังและต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 5 เดือน มีผลงานที่ก่อประโยชน์ต่อสังคม ระบบสาธารณสุข หรือการแก้ปัญหาสถานการณ์อย่างเป็นรูปธรรม มีการใช้นวัตกรรมในการดำเนินงาน และมีผลกระทบกับสังคมในวงกว้าง เป็นที่กล่าวถึงในสื่อสังคมออนไลน์อย่างแพร่หลาย
ผู้ได้รับรางวัลได้แก่ ศ.ดร.นพ.วิปร วิประกษิต คุณคริส โปตระนันทน์ และ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ