กระทรวงการต่างประเทศพร้อมด้วยไทยเบฟฯอัญเชิญผ้าพระกฐินพระราชทานสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทอดถวายครั้งแรกในเวียดนาม เป็นทูตทางวัฒนธรรมเชื่อมความสัมพันธ์สองประเทศ
นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ประธานคณะโครงการกฐินพระราชทานฯ พร้อมด้วย นายธนา เวสโกสิทธิ์ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ นายธานี แสงรัตน์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอย สถานกงสุลใหญ่ ณ นครโฮจิมินห์ และคณะ ได้เชิญผ้าพระกฐินพระราชทานไปทอดถวาย ณ วัดหวั่งเอิน กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม ซึ่งจัดเป็นครั้งแรกทางภาคเหนือของประเทศเวียดนาม
นายฐาปน กล่าวกว่า พิธีเชิญผ้าพระกฐินพระราชทาน ไปทอดถวายในประเทศเวียดนาม ครั้งนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 15 นอกจากเป็นการทำนุบำรุงพุทธศาสนาแล้ว ยังถือว่าเป็น ‘ทูตทางวัฒนธรรม” ช่วยเชื่อมความสัมพันธ์ในระดับประชาชนสู่ประชาชน สร้างสัมพันธไมตรีและความไว้เนื้อเชื้อใจระหว่างกัน โดยเฉพาะวัดหวั่งเอินถือเป็นศูนย์รวมใจพุทธศาสนิกชนทั้งชาวเวียดนามและชาวไทยแห่งสำคัญในกรุงฮานอย ซึ่งให้การต้อนรับคณะผู้เชิญผ้าพระกฐินพระราชการอย่างอบอุ่น และร่วมการจัดพิธีทอดผ้าพระกฐินพระราชทานอย่างสมพระเกียรติ
สำหรับ พิธีเริ่มขึ้นโดยประธานถวายความเคารพหน้าพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จากนั้นเชิญผ้าไตรพระราชทานเดินเข้าพระอุโบสถและเริ่มประกอบพิธีสงฆ์ตามลำดับ เมื่อเสร็จพิธีแล้วคณะทั้งหมด พร้อมกันสักการะสถูปขนาดใหญ่ที่บรรจุอัฐิของ พระทิช ดึ๊ก หยวด พระสังฆราชพระองค์แรกของเวียดนาม และสถูปที่บรรจุอัฐิของพระครูคณาสัมนาจารย์ (บิ่ง เลือง) อดีตเจ้าคณะใหญ่สงฆ์อนัมนิกายแห่งประเทศไทยในบริเวณสวนพระด้วย
ทั้งนี้ วัดหวั่งเอิน (Hoang An Pagoda) ตั้งอยู่เขตเตย โห่ กรุงฮานอย สร้างขึ้นเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 11 (ราวปี ค.ศ. 1019 – 1088 หรือ พ.ศ. 1562 – 1632) ในสมัยราชวงศ์เล ถือเป็นวัดนิกายมหายานที่เก่าแก่ที่สุดวัดหนึ่งในกรุงฮานอย วัดหวั่งเอินมีความสำคัญคือเป็นสถานที่อุปสมบทของพระสำคัญของคณะสงฆ์เวียดนาม หนึ่งในนั้นคือ พระทิช ดึ๊ก หยวด (Thich Duc Nhuan) พระสังฆราชพระองค์แรกของเวียดนาม (พ.ศ. 2524 – พ.ศ. 2536)
วัดหวั่งเอิน ได้รับการรับรองโดยกระทรวงวัฒนธรรม การกีฬาและการท่องเที่ยวเวียดนามให้เป็นโบราณสถานทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งชาติ เมื่อปี พ.ศ. 2534 ปัจจุบัน พระทิช ด่าว มิงห์ (Thich Dao Minh) ซึ่งเป็นลูกศิษย์รูปสุดท้ายของพระสังฆราชพระองค์แรกของเวียดนามเป็นเจ้าอาวาส ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 จนถึงปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม โครงการกฐินพระราชทานไปทอดถวาย ณ วัดพระพุทธศาสนาในต่างประเทศ ได้ขยายจากประเทศเพื่อนบ้าน สู่ประเทศในกลุ่มอาเซียนประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้ ตลอดจนประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกที่มีประชาชนนับถือพระพุทธศาสนา เป็น “สะพานเชื่อมวัฒนธรรมและไมตรีจิต” ที่นับวันจะแน่นแฟ้น และทรงคุณค่าทบทวี