NEWS

โดย กองบรรณาธิการ M2F

01 เมษายน 2565 : 18:15 น.

กองทุนศรีบูรพา จัดงาน “วันศรีบูรพา” ครบรอบ 117 ปี ชาตกาล “ศรีบูรพา” กุหลาบ สายประดิษฐ์ พร้อมประกาศยกย่อง “กิเลน ประลองเชิง” เป็นนักเขียนรางวัลศรีบูรพา คนที่ 31

กองทุนศรีบูรพา ร่วมกับ สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย จัดกิจกรรม “วันศรีบูรพา” ครบรอบ 117 ปี ชาตกาล “ศรีบูรพา” กุหลาบ สายประดิษฐ์ โดยมี นางชมัยภร แสงกระจ่าง ประธานกองทุนศรีบูรพา พร้อมด้วย นายสกุล บุณยทัต นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย นายเจน สงสมพันธุ์ นายพินิจ นิลรัตน์ นายสมปอง ดวงไสว คณะกรรมการกองทุนศรีบูรพา และตัวแทนนักเขียน รวมทั้งผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรม เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2565 ณ บ้านศรีบูรพา กรุงเทพฯ พร้อมทั้งถ่ายทอดสดกิจกรรมผ่าน Facebook “กองทุนศรีบูรพา”

นางชมัยภร แสงกระจ่าง ประธานกองทุนศรีบูรพา กล่าวว่า การจัดงานวัน “ศรีบูรพา” จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในวันที่ 31 มีนาคม ซึ่งเป็นวันครบรอบชาตกาล “ศรีบูรพา” หรือ “กุหลาบ สายประดิษฐ์” นักคิด นักเขียน นักหนังสือพิมพ์คนสำคัญของประเทศไทย ซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็นบุคคลดีเด่นของโลก ในฐานะผู้สร้างคุณประโยชน์แก่ประเทศไทยและสร้างสันติภาพทั่วโลก โดยองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ในโอกาสวาระครบ 100 ปีชาติกาล พ.ศ. 2548 โดยกิจกรรมในภาคเช้ามีการทำบุญถวายสังฆทานอุทิศส่วนกุศลแด่ กุหลาบ สายประดิษฐ์ และชนิด สายประดิษฐ์ สุรพันธุ์ สายประดิษฐ์ และวาณี พนมยงค์ สายประดิษฐ์ พร้อมทั้งถวายภัตตาหารเพล

ในภาคบ่ายเป็นกิจกรรมที่มีการถ่ายทอดสดผ่านช่องทางออนไลน์ Facebook “กองทุนศรีบูรพา” โดย กรรมการกองทุนศรีบูรพาและญาติ ๆ ได้ร่วมกันวางดอกกุหลาบเคารพหน้ารูปกุหลาบ- ชนิด สายประดิษฐ์ (ศรีบูรพา-จูเลียด) สุรพันธ์ –วาณี สายประดิษฐ์ จากนั้นประธานกองทุนศรีบูรพา กล่าวคารวะ “ศรีบูรพา” “จูเลียต” สุรพันธ์ และวาณี สายประดิษฐ์ ต่อด้วยนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย กล่าวระลึกถึง “ศรีบูรพา” และ “จูเลียต” หลังจากนั้นเป็นการอ่านบทกวีระลึก “117 ปี “ศรีบูรพา”(กุหลาบ สายประดิษฐ์) โดย พินิจ นิลรัตน์ จรูญพร ปรปักษ์ประลัย “รินศรัทธา กาญจนวตี” ขนิษฐา วชิราพรพฤฒ ฉัตรชัย คุ้มอนุวงศ์ “นายทิวา” และนักเรียนเทพศิรินทร์ ต่อด้วยบทเพลงรักศรีบูรพา จากแม้ว คนรักแมวนอกจากนั้นยังมีการปาฐกาพิเศษ โดย ชมัยภร แสงกระจ่าง หัวข้อ “ศรีบูรพา : ดั่งดวงเทียน ปืนและดอกไม้หอมในใจชน” ดำเนินรายการโดยจรูญพร ปรปักษ์ประลัย ต่อด้วยรายการเสวนา “น้องสนทนากันถึงพี่ ศรีบูรพา” จากนักเรียนเทพศิรินทร์ปัจจุบัน และปิดท้ายด้วยการแถลงข่าวรางวัลศรีบูรพา ประจำปี 2565

“ปีนี้กองทุนศรีบูรพา ประกาศยกย่อง ‘ประกิต หลิมสกุล’ หรือ ‘กิเลน ประลองเชิง’ นักคิด นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ คอลัมนิสต์ประจำคอลัมน์ ชักธงรบ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เป็นนักเขียนรางวัลศรีบูรพา คนที่ 31 ประจำปี 2565 ส่วนรายละเอียดพิธีมอบรางวัล และกิจกรรมอื่นๆ ของกองทุนฯ สามารถติดตามได้จาก Facebook กองทุนศรีบูรพา” ประธานกองทุนศรีบูรพากล่าว “กว่าจะมาเป็น กิเลน ประลองเชิง” โดย “ประกิต หลิมสกุล”

เกิดเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2488 เวลาที่เกิด ภาษาหมอดูว่า “ตกฟาก” ลำดับเรื่องตามที่แม่เล่า ตกฟากจริงๆ บ้านตอนนั้น ริมคลองบางเรือหัก ตำบลท้ายหาด หมู่ที่7 อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม เป็นบ้านยกพื้นชั้นเดียว พื้นบ้านทำด้วยฟากไม้ไผ่ ฝาขัดแตะไม้รวก หลังคามุงจาก เวลาพระออกบิณฑบาต

เป็นลูกชายคนเดียว ลำดับคนที่ห้า แม่มีประสบการณ์คลอดมากพอ คลอดลูกแล้ว แม่สั่ง “เจ๊ฮง” ลูกสาวหัวปี เอาธงชาติไปปักหน้าบ้าน แม่ตั้งชื่อ ประกิต นามสกุล หลิมสกุล ตามเตี่ยที่เป็นผู้ใหญ่บ้าน

ชื่อประกิต มารู้เอาตอนโต แปลว่า ประกาศ ตลอดชีวิตที่คนอื่นเขาดูจะรู้อะไรๆ มาก แต่ความจริงไม่รู้อะไรสักอย่าง จึงดูเหมือนจะถนัดในงาน ประกาศ จำพวกฟังเขาแล้วเอามาเล่าต่อ

5 ธ.ค. พ.ศ. นั้น ทางการประกาศให้ประชาชนปักธงชาติแสดงความจงรักถวายการต้อนรับการเสด็จนิวัตประเทศไทย พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 กับสมเด็จพระอนุชา ซึ่งอีกห้า - หกเดือนต่อมา คือ รัชกาลที่ 9 ถือว่าตกฟากเวลามงคล สมใจแม่ซึ่งฝันก่อนได้ลูกชายหลายคืนว่า มีคนเอาดอกบัว 9 ดอกมาให้ไปถวายพระ

8 ขวบ อายุเข้าเกณฑ์เรียนชั้นป.เตรียม โรงเรียนนิพัทธหริณสูตร์ (วัดประทุมคณาวาส) จบป.4 ต่อ ม.1 โรงเรียนศรัทธาสมุทร ปลายปี ม.2 ลาออกไปบวชเณรที่วัดเขาย้อย เพชรบุรี หลวงน้าช่วยสมภาร ส่งไปอยู่วัดดาวดึงษ์ บางยี่ขัน ธนบุรี เรียนบาลีตอนบ่าย เรียนนักธรรมตรีตอนหัวค่ำที่วัดมหาธาตุ ท่าพระจันทร์

ปี 2502-2503 ย้ายไปวัดบ้านแหลม สมุทรสงคราม เรียนบาลีต่อ แต่ไม่จบ พ.ศ. 2505 สอบนักธรรมเอกได้ สนามสอบเดียวกับเณรโรจน์ งามแม้น (เปลว สีเงิน) ศิษย์หลวงพี่ปลัดเลียด วัดบางจะเกร็ง

ปี 2507 สึกจากเณร เป็นลูกเรืออวนลาก ทั้งในทะเลอ่าวไทย ทั้งทะเลอันดามัน ขึ้นชั้นเป็นนายท้าย.. แต่งกลอน ลง “กวีศรีสยาม” นิตยสารศรีสยาม ได้สี่ห้าชิ้น..กลอนบทหนึ่ง “นาฏกรรมในเกลียวคลื่น” (ราว 2511)

“ความเป็นชายสอนให้ไม่เลือกว่าทะเลบ้าฟ้าครางหรือกลางฝนเราเคยกลัวความตายกลางสายชล เหมือนกลัวตนเปลี่ยวเหงาก็เปล่าเลย”

กลอนบทนี้ อีกห้าสิบปีต่อมา ท่านอดุล จันทรศักดิ์ ศิลปินแห่งชาติ อ่านแล้วจำ ท่องให้ฟังต่อหน้า ปลื้มเสียยิ่งกว่าที่เคยได้รับรางวัลใดๆ ในชีวิตตัวเอง

สลับฉาก นายท้ายเรืออวนลาก เป็นทหารเกณฑ์ ปี 2509-2511 ตำแหน่งกลาสีเรือจันทร (จัน - ทะ – ระ) พ้นเกณฑ์ลงลากต่อ ปี 2513 เบญจเพส หลับในถือท้ายเรืออวนชนโป๊ะปลาทูพัง ขายพระสมเด็จในคอจ่ายค่าเสียหาย แล้วหนีชีวิตนายท้ายเรืออวน พเนจรไปอยู่กับญาติที่ยะลา เรียนโรงเรียนผู้ใหญ่ได้ระดับ4

เริ่มงานนักข่าวภูธร ธ.ค. 2513 ส่งข่าวโจรใต้มอบตัวทางการให้หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ 2518 ประจำการเป็นนักข่าวเดลินิวส์ กลางปีถ่ายภาพ ได้รางวัลข่าวภาพยอดเยี่ยม สมาคมนักข่าวฯ ถูกมอบให้ทำงานข่าวเฉพาะกิจ ทำข่าวทั่วประเทศ เขียนคอลัมน์จิปาถะ จนไม่อยากจะเล่า

2519 แต่งงานกับ อุบล ตั้นพันธุ์ นักสังคมสงเคราะห์บ้านทักษิณ ยะลา (เกษียณอายุราชการ ตำแหน่งรองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ)

2522 ย้ายจากเดลินิวส์ มาอยู่ไทยรัฐ รุ่นเดียวกับ โรจน์ งามแม้น ชัย ราชวัตร ปี 2531 เติมการศึกษา จบปริญญาตรีนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เขียนคอลัมน์ กลืนไม่เข้าคายไม่ออก (แทนคอลัมน์ ไว ตาทิพย์ กระพริบที่นี่) พ.ศ. 2534 ได้รางวัล ม.ร.ว.อายุมงคล โสณกุล

ปีต่อมา เขียนสังคมหน้า4 นามปากกา “เหยี่ยวพญา” เป็นเลขาฯ หัวหน้ากองบก. สราวุธ วัชรพล 2534

ปี 2535 หลังเหตุหัวหน้าข่าวภูมิภาคไทยรัฐ (วิทูรย์ กวยะปาณิก) ถูกยิงตาย ลาออกไปเร่ร่อนอยู่ นสพ. หลายฉบับ ผู้จัดการ สยามโพสต์ แนวหน้า สยามรัฐ ไทยไฟแนนเชียล แล้วก็หมดฤทธิ์เดช กลับไทยรัฐสังกัดเดิม รับงานหัวหน้า “สกู๊ปข่าวหน้า1”

ปี 2541 โกวิท สีตลายัน คอลัมน์ ลั่นกลองรบ มังกร ห้าเล็บ กลับคืนฟ้า กิเลน ประลองเชิง ก็ถูกส่งมารับงานคอลัมน์ ชักธงรบ จนถึงวันนี้ ก็ยังชักธงรบ อยู่ทุกวัน

อายุเกินมาตรฐานกลางผู้สูงวัย มาหลายปี ยังไม่ตาย ฉีดวัคซีนเข็มที่4 แล้ว ยังรอดโควิด 19 มาได้ และหวังว่า จะอยู่รอดต่อไป จนถึงวันที่ถูกชวนไปรับอีกงาน งานใหม่ที่เพื่อนๆ สรรหาให้งานใหม่ ทำให้นึกถึง คำพูดมหาโจรจื๋อ ปฏิเสธตำแหน่งอ๋อง ที่ขงจื๊อขึ้นเขาไปเจรจาเสนอ “ลาภยศชื่อเสียง เหมือนหมอกเมฆที่ลอยผ่านหน้า”

เกิดมาถึงอายุ 77 ที่จริงก็เข้าใจแจ่มแจ้ง เมฆหมอกมันลอยมา แล้วก็ลอยไป แต่ก็ขอน้อมรับไว้ คนที่ปฏิเสธน้ำใจไมตรีจากกัลยาณมิตร ไม่น่าจะมีชีวิต อย่างสุขสงบเย็นได้ เว้นจากมีหัวใจมหาโจร

กองบรรณาธิการ M2F

ข่าวเด่น

ข่าวที่น่าสนใจ