คนไทยช้ำค่าครองชีพที่ลด 3 เดือนติด ราคสินค้าแพงไม่หยุด แนะรัฐหามาตรการดูแลและบรรเทาค่าครองชีพของครัวเรือนต่อเนื่อง
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในเดือนธ.ค.64 ครัวเรือนยังมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับค่าครองชีพที่สูงขึ้นโดยเฉพาะในส่วนของราคาอาหารและเครื่องดื่ม นอกจากนี้ในช่วงเทศกาลที่ผ่านมาครัวเรือนยังมีความกังวลเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายพิเศษที่เพิ่มขึ้นกดดันให้ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือน (KR-ECI) ปรับลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 อยู่ที่ 33.9 จาก 34.7 ในเดือนพ.ย. (ผลสำรวจจัดทำปลายเดือนธ.ค.64 ยังไม่รวมผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจจากจำนวนผู้ติดเชื้อโอมิครอนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว)
ในระยะข้างหน้าสถานการณ์ราคาสินค้ายังมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นทั้งจากต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้นต่อเนื่องมาจากการปรับเพิ่มขึ้นของราคาพลังงานช่วงที่ผ่านมา หรือปัญหาเฉพาะตัวของสินค้า เช่น ราคาเนื้อหมู ขณะที่สถานการณ์การระบาดของโอมิครอนที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง อัตราการแพร่ระบาดที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเปิดรับนักท่องเที่ยวและกิจกรรมเศรษฐกิจในประเทศที่กำลังเริ่มฟื้นตัวและกำลังซื้อยังไม่กลับมาเต็มที่ ดังนั้นภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนยังคงมีความเปราะบาง มาตรการภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการบรรเทาค่าใช้จ่าย เช่น การตรึงราคาสินค้าที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตจึงมีความจำเป็นอย่างมาก
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้สำรวจเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลกระทบจากโควิด-19 ต่อการทำงานว่าในปี 2564 ที่ผ่านมาครัวเรือนได้มีการทำอาชีพเสริม/มีอาชีพที่สองเพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใด ซึ่งผลสำรวจระบุว่าที่ครัวเรือนที่หน้าที่การงานได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เริ่มทำอาชีพเสริมกันเพิ่มขึ้น (28%) โดยส่วนใหญ่เป็นการขายสินค้าออนไลน์ ขณะที่ครัวเรือนมากกว่าครึ่งหนึ่งมีความสนใจที่จะทำอาชีพเสริมแต่ยังไม่ได้เริ่มทำ บ่งชี้ว่าโควิด-19 ยังคงกระทบตลาดแรงงานต่อเนื่อง และในอนาคตอาจเห็นแนวโน้มการทำอาชีพเสริมมากขึ้น ทั้งจากความต้องการด้านรายได้ที่เพิ่มขึ้นและป้องกันความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนเกี่ยวกับแต่ละอาชีพ