ม.เกริกเซ็นMOUธ.อิสลามแห่งประเทศไทยหวังสร้างรากฐานพัฒนาระบบการเงินตามหลักชะรีอะห์
มหาวิทยาลัยเกริกจับมือพันธมิตรธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยเดินหน้าวางรากฐานพัฒนา ระบบการเงินให้สอดคล้องกับหลักชะรีอะห์ ตั้งเป้าปีหน้าหาแนวร่วมด้านการศึกษาในตะวันออกกลาง หวังสานสัมพันธ์ไทย-ซาอุฯกลับมาแน่นแฟ้น การลงนามบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นในการบูรณาการความร่วมมือการแลกเปลี่ยนความรู้หรือประสบการณ์ทางการเงินตามหลักชะรีอะฮ์ระหว่างบุคคลากรของทั้ง 2 สถาบัน การให้ความรู้เกี่ยวกับการเงินอิสลามแก่นิสิตนักศึกษา รวมถึงการพัฒนา ต่อยอด สู่ความเป็นเลิศในมิติการเงินอิสลามระดับประเทศและนานาชาติต่อไป
ศ.ดร.กระแส ชนะวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกริก ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ทางวิชาการกับ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย โดยมี นายวุฒิชัย สุระรัตน์ชัย กรรมการและผู้จัดการธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย เป็นผู้ลงนามในบันทึกความร่วมมือ โดยมีสักขีพยาน ดร.พัชราวดี ตรีชัย คณบดีคณะบริหารธุรกิจ และ นางนุจรี ภักดีเจริญ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยคณาจารย์คณะบริหารธุรกิจ ประกอบด้วย ผศ.ดวงทิพย์ จันทร์อ่วม รองคณบดีคณะบริหารธุรกิจ ผศ.ดร.ชเนตตี พิพัฒนางกูร ผู้ช่วยคณบดีคณะบริหารธุรกิจ อาจารย์สราวุธ และซัน หัวหน้าสาขาวิชาบริหารธุรกิจอิสลาม ดร.สมีธ อีซอ อาจารย์อำพล ตระการฤกษ์ อาจารย์อรวรรณ บุญมาเลิศ อาจารย์นาวาวี อรวรรณ อาจารย์ศรสวรรค์ มะหะหมัด อาจารย์ชนิดาภา หนูนวลวุฒิวงศ์ หัวหน้าสาขาการจัดการธุรกิจการบิน ร่วมงาน ณ ศูนย์ประชุมวิชาการนานาชาติ มหาวิทยาลัยเกริก
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยเกริก ร่วมกับ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ผนึกกำลังระหว่างองค์ความรู้และเทคโนโลยี เพื่อวางรากฐานและพัฒนา ระบบการเงินให้สอดคล้องกับหลักชะรีอะห์ (หลักบัญญัติอิสลาม) พร้อมกันนั้นได้จัดให้มีการสัมมนา “ เปิดโลกการเงินอิสลาม “ การอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “ความรู้ทางการเงินการเงินการธนาคารอิสลามสำหรับนักศึกษามหาวิทยาลัยเกริก มีผู้เข้าร่วมทางออนไลน์กว่า 90 คน และออนไซต์ กว่า 40 คน ในหัวข้อสำคัญ ดังนี้
“การวางแผนทางการเงินส่วนบุคคล” โดยนายเชิดชัย เลิศดำรงค์ลักษณ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารเสี่ยงสินเชื่อธุรกิจ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย “การเงินการธนาคารอิสลาม” โดย ดร.ชัชวาลย์ นิยมวิทยานนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายชะรีอะฮ์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย “ผลิตภัณฑ์และบริการของธนาคาร เหมือนหรือต่างกับธนาคารทั่วไป” โดย ดร.อาบีดีน วันขวัญ ผู้อำนวยการฝ่าย ฝ่ายผลิตภัณฑ์ชะรีอะฮ์ ปิฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายรัฐ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย “กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้” โดย ต่วนซาลีนา กูบาฮา ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายสื่อสารและภาพลักษณ์องค์กร“ความสำคัญของการเงินอิสลาม” โดย ดร.สมีธ อีซอ อาจารย์ประจำสาขาวิชาบริหารธุรกิจอิสลาม คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกริก ดำเนินรายการโดย คุณสุเมธ เด่นประภา ตลอดการสัมมนา
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยเกริกมีแผนในต้นปี 2565 ที่จะทำความร่วมมือกับประเทศตะวันออกกลางอย่าง ซาอุดิอาระเบีย ในมหาวิทยาลัยชั้นนำ และสถาบันทางการเงิน โดยมีเป้าหมายและมุ่งหวังจะให้ความร่วมมือการศึกษาเป็นสะพานสร้างความสัมพันธ์ระหว่างไทย - ซาอุ กลับมาแน่นแฟ้นอีกครั้ง โดยในปี 2565 นี้ มหาวิทยาลัยเกริกร่วมกับสำนักจุฬาราชมนตรี มอบทุนการศึกษา ระดับปริญญาตรีจำนวน 250 ทุน เพื่อพัฒนาทั้ง 3 ด้าน ด้านการเงินอิสลาม ด้านอุตสาหกรรมฮาลาล ด้านการจัดการบริการฮัจย์และอุมเราะห์ ตลอดจนส่งเสริมการศึกษาเด็กกำพร้า ยากไร้ ยากจน และกลุ่มมูวัลลัดชาวไทยที่เกิดในประเทศซาอุดิอาระเบียอีกด้วย ซึ่งจะเปิดรับสมัครทุนในวันที่ 13 ธันวาคม 2564 ทางเพจสำนักจุฬาราชมนตรี
อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยเกริกเปิดหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาบริหารธุรกิจอิสลาม ประกอบด้วย 3 วิชาเอก การเงินอิสลาม,อุตสาหกรรมฮาลาล และการจัดการบริการฮัจย์และอุมเราะห์ มีนักศึกษากว่า 80 คน และยังได้เปิดหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณทิต สาขาวิชาบริหารธุรกิจอิสลามขึ้น จะเริ่มการเรียนการสอนในภาคต้น ปีการศึกษา 2565 นี้อีกด้วย