MONEY

โดย กองบรรณาธิการ M2F

09 พฤศจิกายน 2564 : 16:30 น.

ประชาชนกังวลค่าครองชีพที่สูงขึ้นฉุดไม่อยู่ ทั้งจากราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง และน้ำท่วมทำให้ราคาสินค้าเร่งตัวขึ้นในระยะสั้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในเดือนต.ค. 64 ครัวเรือนมีกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพ เนื่องจากราคาพลังงานที่ปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมทำให้ราคาพืชผักสูงขึ้น โดยดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนในเดือนต.ค. 64 และอีก 3 เดือนข้างหน้าปรับลดลงอยู่ที่ 34.9 และ 36.7 จากในเดือนก.ย.64 ที่ 36.6 และ 38.4 แม้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันจะเริ่มทรงตัว สถานการณ์โควิด-19 จะเริ่มเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น หลังอัตราการฉีดวัคซีนเป็นไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้มีการทยอยผ่อนคลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น แต่ราคาสินค้าต่าง ๆ ที่ปรับสูงขึ้นได้ส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ทำการสำรวจเพิ่มเติมเกี่ยวกับการรับมือและการจัดการของครัวเรือนต่อราคาพลังงานที่ปรับสูงขึ้นพบว่า ครัวเรือน 41.0% จะลดการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป เช่น การไปท่องเที่ยวในช่วงปีใหม่ ขณะที่อีก 39.4% ระบุว่าจะใช้สินค้าอุปโภคบริโภคในปริมาณที่น้อยลงต่อครั้งเพื่อให้ใช้ได้นานขึ้น ซึ่งวิธีการรับมือต่าง ๆ ของภาคครัวเรือนจะเห็นว่าเป็นการลดทอนแรงหนุนจากการบริโภคครัวเรือนที่จะมีผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย

ในระยะข้างหน้า การเริ่มเปิดประเทศ (1 พ.ย. 64) และการผ่อนคลายมาตรการคุมเข้มการระบาดต่าง ๆ จะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาเพิ่มขึ้นได้ ในขณะที่ผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมต่อการปรับขึ้นของราคาพืชผักอาจมีแนวโน้มผ่อนคลายลงได้บ้าง หลังระดับน้ำท่วมเริ่มลดลงและเริ่มเข้าสู่ช่วงฤดูหนาว แต่สถานการณ์ราคาพลังงานโลกที่อยู่ในระดับสูงอาจต้องใช้เวลาในการปรับสมดุลระหว่างความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นและปริมาณการผลิตจึงอาจยังเห็นราคาพลังงานที่สูงกดดันต้นทุนค่าขนส่งและอาจส่งผลกระทบมายังต้นทุนสินค้าและบริการอื่น ๆ ทำให้ภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนจึงยังมีแนวโน้มเปราะบางจากสถานการณ์พลังงานที่อยู่ในระดับสูง ดังนั้นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐในส่วนของการบริโภคยังมีความจำเป็นต่อเนื่องควบคู่ไปกับการดำเนินการเปิดประเทศด้วยมาตรการป้องกันความเสี่ยงที่ชัดเจน

ข่าวเด่น

ข่าวที่น่าสนใจ