รมว.พลังงานเบรคดีเซลแตะลิตรละ 30 บาท ลดเงินกองทุนน้ำมันฯดีเซลบี 7 ลงทันที 1 บาท ขณะที่หั่นผสมไบโอดีเซลในดีเซลเหลือ 6% เล็งกู้เงินเสริมสภาพคล่องกองทุนน้ำมันฯ
เมื่อวันที่ 4 ต.ค.นายสุพัฒนพงษ์ พันธุ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ว่า ที่ประชุมอนุมัติแนวทางการดูแลราคาดีเซลเพื่อบรรเทาผลกระทบประชาชน โดยเห็นชอบให้ปรับลดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงของดีเซลบี7 จาก 1 บาท เหลือ 0.1 บาทต่อลิตร มีผลให้ราคาดีเซลบีจ ลดลงทันทีลิตรละ 1 บาท มีผล 5 ต.ค.นี้
นอกจากนี้ เห็นชอบให้ลดสัดส่วนการใช้ไบโอดีเซล(บี100) ผสมในน้ำมันดีเซล จากบี 7 (7%) บี10 (10%) ให้เหลือบี 6 ( 6% ) ตั้งแต่วันที่ 11 -31 ต.ค. เพื่อทำให้โครงสร้างราคาดีเซลมีต้นทุนถูกลง สามารถดูแลราคาไม่ให้เกินลิตรละ 30 บาทได้ในระยะเวลาสั้นๆ
ขณะเดียวกันให้ผู้ค้าน้ำมันลดค่าการตลาดดีเซลพื้นฐานจาก 1.80 บาท เหลือ 1.40 บาทต่อลิตร ซึ่งจะทำให้ราคาดีเซลบี6 อยู่ที่ 28-28.29 บาทต่อลิตร และหากราคาน้ำมันดีเซลสูงอีก ทางกองทุนฯจะเข้าไปตรึงราคา ไม่ให้เกิน 30 บาท
อย่างไรก็ตามมาตรการครั้งนี้จะทำให้น้ำมันดีเซลที่จำหน่ายในปั๊มน้ำมัน เหลือเพียง ดีเซลบี6 กับบี 20 ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 11-31 ต.ค. นี้ ส่วนราคาขายปลีกดีเซลในขณะนี้ ดีเซลบี7 ราคาอยู่ที่ 31.29 บาท ต่อลิตร ดีเซลพื้นฐาน(10%) อยู่ที่ 28.29 บาทต่อลิตร ดีเซลบี20อยู่ที่ 28.04 บาทต่อลิตร
สำหรับมาตรการดูแลราคาก๊าซหุงต้ม(แอลพีจี) ขณะนี้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ได้แยกบัญชีน้ำมันและบัญชีแอลพี โดยในส่วนของบัญชีแอลพีจีติดลบกว่า 1.7 หมื่นล้านบาท จากการนำเงินไปตรึงราคาแอลพีจีในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งใกล้เต็มเพดานที่กำหนดไว้ โดยกระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างการหารือกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) เพื่อขอสนับสนุบเงินกู้ ตามพ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท มาใช้เป็นเวลา 4 เดือนจนถึงเดือนม.ค. 2565
ส่วนบัญชีน้ำมัน มีเงินเหลืออยู่ 1.1 หมื่นล้านบาท ซึ่งการใช้เงินในการดูแลราคาน้ำมัน หากไม่เพียงพอก็สามารถกู้เงินมาเสริมสภาพคล่องได้ ซึ่งมีระเบียบกำหนดไว้ชัดเจน