MONEY

โดย กองบรรณาธิการ M2F

21 กรกฎาคม 2564 : 15:22 น.

รมว.เกษตรฯสั่งเดินหน้านโยบาย"พืชอนาคตพืชเศรษฐกิจ"ฝ่าวิกฤตโควิด19 เร่งพัฒนาพืชเศรษฐกิจ"กัญชง"เชิงพาณิชย์ต่อยอด10 คลัสเตอร์อุตสาหกรรม

เมื่อวันที่ 21 ก.ค.นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งให้เร่งขับเคลื่อนนโยบายพืชอนาคตพืชเศรษฐกิจฝ่าวิกฤตโควิด ล่าสุดกระทรวงเกษตรฯโดย สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. และสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. ได้ผนึกความร่วมมือกับมูลนิธิเพื่อสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สพว. ยกระดับภาคเกษตรพัฒนากัญชงเชิงพาณิชย์สู่คลัสเตอร์อุตสาหกรรม โดยบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อบูรณาการการทำงานและการใช้ทรัพยากรร่วมกันของทั้ง สวก. สวพส. และ สพว. ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการศึกษาวิจัยและพัฒนาต่อยอดงานวิจัยด้านกัญชงอย่างครบวงจร และร่วมกันนำองค์ความรู้ที่ได้จากงานวิจัยไปต่อยอดสู่การใช้ประโยชน์ทั้งในเชิงนโยบาย เชิงสาธารณะ และเชิงพาณิชย์ ตลอดจนถ่ายทอดเทคโนโลยีและส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการกับภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยที่ผ่านมาแต่ละหน่วยงานได้มีการดำเนินงานในการวิจัยพัฒนาและส่งเสริมในเรื่องของกัญชงมาอย่างต่อเนื่อง

“กัญชงสามารถใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน เช่น ช่อดอก เมล็ด เปลือก ลำต้น และราก ในการแปรรูปสร้างมูลค่าอย่างน้อยใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ กลุ่มเวชภัณฑ์ยา, กลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางค์, กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารเครื่องดื่มและอาหารเสริม (Super Food), กลุ่มผลิตภัณฑ์กระดาษ, กลุ่มผลิตภัณฑ์สิ่งทอเสื้อผ้า, กลุ่มผลิตภัณฑ์นิรภัย, กลุ่มก่อสร้างและวัสดุภัณฑ์, กลุ่มผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนยานยนต์, กลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ และกลุ่มผลิตภัณฑ์เทคโนโลยี่ เช่น ซูเปอร์คาพาซิเตอร์ (Super Capacitor) เป็นต้น จึงเป็นโอกาสของประเทศไทยและเกษตรกรของเราที่จะมีพืชเศรษฐกิจฐานรากใหม่เป็นพืชแห่งอนาคต เช่นเดียวกับที่สหรัฐอเมริกาผ่านกฎหมายฟาร์มบิลล์ (Farm bill2018) ปลดล็อคกัญชงสร้างงานสร้างอาชีพใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้น ในขณะที่จีน อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอีกหลายประเทศทั่วโลกก็ส่งเสริมสนับสนุนกัญชงจนกล่าวได้ว่าเป็นเฮมพ์อีโคโนมีพืชเศรษฐกิจแสนล้านของไทยและของโลก” นายอลงกรณ์ กล่าว

ดร.สุวิทย์ ชัยเกียรติยศ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร กล่าวว่า สวก.เป็นหน่วยงานบริหารจัดการทุนวิจัยด้านการเกษตรของประเทศ ได้รับมอบหมายให้บริหารจัดการโครงการวิจัยด้านสมุนไพรไทย ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2557– ปัจจุบัน เป็นจำนวนกว่า 240 โครงการ งบประมาณกว่า 500 ล้านบาท เพื่อวิจัยและพัฒนาต่อยอดสมุนไพรไทยในด้านการรักษาและพัฒนาผลิตภัณฑ์อื่นๆ รวมทั้งการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจที่มีความเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมและภาคเศรษฐกิจต่างๆ ตลอดจนขับเคลื่อนงานอย่างเป็นระบบและครบวงจร ทำให้เกิดความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งผลการวิจัยที่ได้ต้องมีเป้าหมายผลผลิตและผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง โดย สวก. ดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล และนโยบายของ ดร.เฉลิมชัย ในการสนับสนุนกัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจ สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรและประเทศ โดยจะมีบทบาทในฐานะผู้สนับสนุนทุนวิจัยและบริหารจัดการองค์ความรู้ด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร รวมถึงการให้ทุนวิจัยด้านกัญชงเพื่อสร้างเศรษฐกิจ ทั้งในเชิงนโยบาย เชิงสาธารณะ และเชิงพาณิชย์

ทั้งนี้ สวก.ได้สนับสนุนทุนวิจัยแก่มหาวิทยาลัยนเรศวร ในโครงการการวิจัยและพัฒนากัญชง เพื่อการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ประกอบด้วย การทดลองปลูกกัญชงในโรงเรือนระบบปิด การศึกษาวิจัยข้อมูลด้านประสิทธิภาพ และการพัฒนาผลิตภัณฑ์กัญชง สำหรับความร่วมมือในขั้นแรก สวก. จะสนับสนุนทุนเพื่อพัฒนาการเก็บข้อมูลต้นทุนตลอดห่วงโซ่การผลิตกัญชง ตั้งแต่การปลูก การดูแลรักษา การเก็บเกี่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการเก็บเกี่ยวผลผลิต ซึ่งที่ผ่านมา สวพส. และ สพว. ได้มีการดำเนินงานร่วมกันมาในระยะหนึ่งแล้ว แต่ประสบปัญหาในด้านต้นทุนการเก็บผลผลิตที่สูง เนื่องจากต้องใช้แรงงานคนในการเก็บเกี่ยวผลผลิต ด้วยเหตุนี้ สวก. จึงจะสนับสนุนทุนวิจัยเพื่อพัฒนาเครื่องมือ/เครื่องทุ่นแรงในการเก็บเกี่ยว ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากในการลดต้นทุนและลดเวลาในการดำเนินงาน รวมถึงการสนับสนุนทุนวิจัยด้านการวิเคราะห์ปริมาณสาร CBD THC ที่เหมาะสมของกัญชงในการทำเป็นผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสุขภาพ นอกจากนี้ สวก. ได้หารือกับ ISMED ในการรวบรวมข้อมูลในทุกๆ ด้านของกัญชง เพื่อจัดเป็นฐานข้อมูลด้านกัญชงของประเทศต่อไป ด้วยความร่วมมือในครั้งนี้ สวก. หวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะเป็นประโยชน์ในการสนับสนุนการพัฒนากัญชงให้สามารถพัฒนา ต่อยอดไปสู่ภาคอุตสาหกรรมของประเทศต่อไปได้

ด้านนายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผอ.สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง กล่าวว่า สวพส. ร่วมกับ มูลนิธิโครงการหลวง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้วิจัยและพัฒนากัญชง (Hemp) เพื่อให้เป็นพืชเศรษฐกิจบนพื้นที่สูง มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ ปี พ.ศ.2549 จนถึงปัจจุบัน โดยผลการวิจัยและพัฒนาทำให้มีข้อมูลและองค์ความรู้ที่นำมาสู่แก้ไขกฎหมาย เพื่อส่งเสริมกัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจ โดยอาศัยความร่วมมือของหลายภาคส่วน และผลการวิจัยและพัฒนาจำนวนไม่น้อย นับจากปี พ.ศ. 2549 จนถึงปัจจุบัน กว่า 15 ปี เริ่มจากการพัฒนาพันธุ์เพื่อให้มีสารเสพติดต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด การพัฒนาวิธีการเพาะปลูก การแก้กฎหมาย และสร้างการตลาด เพื่อให้สามารถปลูกเป็นอาชีพได้จริง ในช่วงแรก มุ่งการใช้ประโยชน์จากเส้นใยสำหรับในครัวเรือน ต่อมาขยายการศึกษาวิจัยสู่การใช้ประโยชน์จากแกน ลำต้น เมล็ด และเส้นใยในเชิงอุตสาหกรรม และนำไปสู่การศึกษาวิจัยที่มุ่งการใช้ประโยชน์ครอบคลุมทุกส่วน ทั้งเส้นใย เมล็ด และช่อดอก สำหรับอาหาร เวชสำอาง และการแพทย์ โดยมีผลงานที่สำคัญคือ ระยะที่ 1 (ปี พ.ศ.2549-2554) ปรับปรุงและขึ้นทะเบียนพันธุ์ ระยะที่ 2 (ปี พ.ศ.2555-2559) วิจัยและพัฒนาตามแผนยุทธศาสตร์การส่งเสริมการปลูกเฮมพ์เป็นพืชเศรษฐกิจบนพื้นที่สูง และระยะที่ 3 (ปี พ.ศ.2560-ปัจจุบัน) ศึกษาวิจัยเพื่อปรับปรุงพันธุ์และพัฒนาเทคโนโลยีการเพาะปลูก ในการเพิ่มผลผลิตและคุณภาพผลผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการใช้ประโยชน์

ขณะที่ นายธนนนทน์ พรายจันทร์ ผอ.การสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม กล่าวว่า สำหรับประเทศไทย กัญชงมีความสำคัญต่อการพัฒนายกระดับอุตสาหกรรม S-Curve และ New S-Curve ซึ่งภาคเอกชนไทยมีความต้องการใช้กัญชงเป็นวัตถุดิบเพื่อการสร้างมูลค่าเพิ่มในระดับอุตสาหกรรมมานานแล้ว ขณะที่ภาคการเกษตรต้องการปลูกพืชกัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ทดแทนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และพืชมูลค่าต่ำอื่น ๆ รวมถึงปัจจุบันกฎหมายกำลังเปิดกว้างเพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถลงทุนพัฒนาผลิตภัณฑ์จากกัญชงออกสู่ตลาดในเชิงพาณิชย์ได้หลากหลายและคล่องตัวมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา สพว. มีองค์ความรู้และประสบการณ์ในการศึกษาและพัฒนาพืชกัญชงมาไม่น้อยกว่า 9 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 – ปัจจุบัน โดยการร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับ สวพส. และการสนับสนุนงบประมาณจากหลายหน่วยงาน โดยมีประสบการณ์ครอบคลุมทั้งด้านสถานการณ์การตลาด การผลิต กฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงแนวทางการใช้ประโยชน์จากส่วนต่างๆ ของกัญชง การพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์ที่มีความสอดคล้องกับกระบวนการผลิตในระดับอุตสาหกรรมของภาคเอกชนไทย การขยายขนาดการผลิต (Scaleup) ไปสู่ระดับอุตสาหกรรม คลัสเตอร์กัญชง การบริหารจัดการซัพพลายเชน และการศึกษาวิเคราะห์ความเป็นไปได้ทางธุรกิจในการต่อยอดผลิตภัณฑ์สู่เชิงพาณิชย์ สำหรับการลงทุนในระดับกลางน้ำจนถึงปลายน้ำ รวมถึงการเชื่อมโยงให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีการแปรรูปกัญชง จากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านในสาขาต่างๆ เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการไทยให้สามารถยกระดับเทคโนโลยีในระดับกลางน้ำ เพื่อให้ได้วัตถุดิบเข้าสู่อุตสาหกรรมปลายน้ำในสาขาต่างๆ ซึ่งจะเป็นส่วนแก้โจทย์ที่สำคัญให้กับภาคอุตสาหกรรมกัญชงของประเทศไทย และตอบสนองการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) ตามนโยบายประเทศไทย 4.0

สำหรับ การถ่ายทอดสดการจัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว สามารถรับชมได้ทาง https://www.facebook.com/ardathai ในวันที่ 6 สิงหาคม 2564 ตั้งแต่เวลา 10.00 น. เป็นต้นไป

ข่าวเด่น

ข่าวที่น่าสนใจ