MONEY

โดย กองบรรณาธิการ M2F

19 กรกฎาคม 2564 : 10:46 น.

การประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2564 สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทยพร้อมสมาชิกจากบริษัทชั้นนำ 54 แห่งกว่า 100 คนลงมีมติเลือกสมาชิกจาก 11 องค์กรชั้นนำนั่งกรรมการสมาคมฯ ต่ออีกสมัย ประกาศเดินหน้าเร่งสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อโลกที่ยั่งยืน

สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศ  เครือข่ายความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย  จัดการประชุมใหญ่สามัญประจำปี ในรูปแบบ Virtual Meeting  ซึ่งในครั้งนี้มีวาระการประชุมที่สำคัญ คือ การเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ของสมาคมฯ แทนชุดปัจจุบัน  ซึ่งจะครบวาระการดํารงตําแหน่งในวันที่ 27 ธันวาคม 2564 นี้ ผลปรากฎว่านายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด  และกรรมการจากองค์กรสมาชิกอื่นๆ จำนวนอีก 10  องค์กร  ได้แก่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท แพรนด้า จิวเวลอรี่ จำกัด (มหาชน)  บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด  บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) บริษัท พริ้นท์ ซิตี้ จำกัด  บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้รับการคัดเลือกจากสมาชิกให้ดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารสมาคมฯ ต่อเนื่องอีกสมัย โดยจะร่วมกันขับเคลื่อนสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย ในวาระปี 2565-2568  ต่อไป

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด ในฐานะนายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย ได้กล่าวในที่ประชุมแสดงความเป็นห่วงต่อสถานการณ์โควิด-19 ที่จะยังอยู่กับโลกและประเทศไทยไปอีกระยะหนึ่ง และชี้ว่าเมื่อประเทศเกิดวิกฤติ ภาคธุรกิจยิ่งต้องให้ความสำคัญและผนึกความร่วมมือกันในการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน รับมือ และปรับตัว  รวมทั้งเตรียมความพร้อมรับกับสถานการณ์ด้านความยั่งยืนอื่นๆ ที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม  สิทธิมนุษยขน  และการทุจริตคอรัปชั่น  ตลอดจนได้แสดงความเชื่อมั่นต่อวิสัยทัศน์และศักยภาพขององค์กรสมาชิก โดยกล่าวถึงการประชุม UN Global Compact Leaders Summit  ที่ผ่านมาว่าสมาคมฯ ได้รับเกียรติจาก UN Global Compact ให้ร่วมเสวนาร่วมกับผู้แทนจากทั่วโลกในพิธีเปิดการประชุม ซึ่งถือว่าประเทศไทยได้รับการยอมรับว่า

ทั้งนี้ เป็นหนึ่งในเครือข่ายชั้นนำของภูมิภาคนี้  พร้อมทั้งประกาศเดินหน้าสร้างมิติใหม่ของการลงมือทำ (A New Era of Action) โดยให้ความสำคัญกับผนวกเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ในยุทธศาสตร์องค์กรและ การกำหนดตัวชี้วัดที่วัดผลได้จริง  เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจ  เร่งสร้างเปลี่ยนแปลง  และร่วมสร้างโลกที่ยั่งยืน

“ขณะนี้ ผมเชื่อว่าทุกคนต่างกำลังเผชิญความท้าทายอันเกิดจากสถานการณ์โควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นระดับองค์กร หรือระดับบุคคล โดยอาจมีทั้งเพื่อนร่วมงาน คนรู้จัก หรือผู้ใกล้ชิด ต่างได้รับผลกระทบจากวิกฤติครั้งนี้ ในเชิงสุขภาพ หรือเชิงเศรษฐกิจ และสังคม แต่เมื่อประเทศเกิดวิกฤติ ดังเช่นสถานการณ์โควิด-19 ในครั้งนี้ ภาคธุรกิจ ยิ่งต้องให้ความสำคัญและผนึกความร่วมมือกันในการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันองค์กร ด้วยเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน” นายศุภชัย กล่าว

นายศุภชัย ยังได้กล่าวถึงผลการประเมินจากรายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน “SDG Index”  ซึ่งเป็นการประเมินความก้าวหน้าในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 ข้อ ของสหประชาชาติ ซึ่งปีนี้ ประเทศไทยมีคะแนนเฉลี่ยรวม 74.19 สูงกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียใต้ที่ 65.7 คะแนน  และมีคะแนนเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 โดยได้รับการจัดอันดับเป็นลำดับ 3 ในทวีปเอเชีย  และอันดับที่ 43 ของโลก ทั้งนี้  เชื่อว่าการประเมินอันดับของประเทศไทยในปีนี้  เป็นผลมาจากการทำงานร่วมมือกันขององค์กรสมาชิกที่ทำให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าเดิม ซึ่งปีที่ผ่านมา สมาชิกสมาคมฯ ได้ประกาศเจตนารมณ์ในทศวรรษแห่ง การลงมือทำจนถึงปี พ.ศ.2573  ที่จะนำ SDGs ไปสู่การปฏิบัติให้สอดคล้องกับกลยุทธ์ทางธุรกิจอย่างเป็นรูปธรรมในบริบทไทย จำนวน 1,088 โครงการ รวมเป็นเงินลงทุนทั้งสิ้น 1.3 ล้านล้านบาท  ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ทรงพลัง ยกระดับมาตรฐานการทำธุรกิจในทุกเป้าหมายให้รอบด้าน และตอบสนองความต้องการของทุกภาคส่วน

สำหรับ การประชุมครั้งนี้ องค์กรสมาชิกยังได้ให้ความเห็นชอบต่อแผนยุทธศาสตร์ของสมาคมฯ ที่จะขยายเครือข่ายความยั่งยืน โดยร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรม และสภาหอการค้าไทย  ผลักดันให้ภาคธุรกิจเดินหน้าสู่เป้าหมาย SDGs ด้วยการลงมือทำอย่างจริงจังในกลไกธุรกิจ พร้อมผนึกกำลังทุกภาคส่วนผลักดันนโยบายเชิงกลยุทธ์ผ่านการดำเนินงานระดับประเทศ   และขับเคลื่อนมิติใหม่แห่งการลงมือทำขององค์กร ด้วยการเจาะจงเป้าหมายที่วัดได้  ขยายผลการลงมือทำ และสร้างความน่าเชื่อถือด้วยรายงาน  สอดคล้องกับ ยุทธศาสตร์ใน 3 ปีข้างหน้าของ UN Global Compact ที่ได้ประกาศเมื่อเดือนมิถุนายน  ซึ่งเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์เดิมที่ใช้อยู่ และเพิ่มเติมเรื่องการส่งผลต่อประเด็น การวัดความคืบหน้าของการดำเนินงานจากเป้าหมายที่แต่ละองค์กรได้ประกาศไว้  และการสร้างระบบนิเวศให้เสริมการทํางาน เพื่อเปลี่ยนผ่านธุรกิจไทย ควบคู่กับการพัฒนาที่ยั่งยืน

นอกจากนั้น ในฐานะเครือข่ายท้องถิ่นของ UN Global Compact  สมาคมฯ ยังได้ทำงานร่วมกับองค์การระหว่างประเทศของสหประชาชาติ ทั้งในประเทศและระดับโลก เพื่อแนะนำการบูรณาการความยั่งยืนเข้ากับกลยุทธ์ธุรกิจ โดยจัดอบรมหลักสูตรระดับนานาชาติว่าด้วย SDG Action Manager, SDG Impact Measurement and Management, SDG Ambition Workshop และล่าสุดคือโปรแกรม Climate Ambition Accelerator  ซึ่งขณะนี้มีองค์กรชั้นนำ ในไทยเข้าร่วมเรียนรู้แล้วมากกว่า 100 องค์กร

ช่วงท้ายของการประชุม นายศุภชัย ได้กล่าวว่า เรามุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนสมาคมเครือข่ายโกลบอล คอมแพ็กแห่งประเทศไทย  ให้เป็นเครือข่ายความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ด้วยความร่วมมือขององค์กรสมาชิกที่เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง  เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ร่วมแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม  สิทธิมนุษยขน  และการทุจริตคอรัปชั่น  ซึ่งเป็นปัญหาที่มีเหมือนกันทั่วโลก  รวมทั้งสร้าง ความแข็งแกร่งและประโยชน์ให้ระบบสังคมและลูกหลานของเราต่อไป

สำหรั ปัจจุบัน สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย มีสมาชิกกว่า 70 องค์กร รวม Market Cap กว่า 6.2 ล้านล้านบาท และมีจำนวนพนักงานรวมกันกว่า 750,000 คน  ซึ่งมีศักยภาพสูงในการขับเคลื่อนความยั่งยืน ด้วยความร่วมมือกับภาครัฐและภาคสังคม องค์กรที่สนใจสามารถติดตามความเคลื่อนไหวและเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยได้ที่  www.globalcompact-th.com  

ข่าวเด่น

ข่าวที่น่าสนใจ