รมว.เกษตรฯสั่งเร่งช่วยประชาชนเจอวิกฤตโควิดดันโครงการธนาคารสีเขียวใช้ไม้ยืนต้นเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันสินเชื่อได้ทั่วประเทศ
เมื่อวันที่ 18 ก.ค.นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน ครั้งที่ 2/2564 ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบโครงการธนาคารสีเขียว(Green Bank)เพื่อส่งเสริมการปลูกไม้เศรษฐกิจ โดยมีเป้าหมาย 6 ประการ ได้แก่ การเพิ่มสินเชื่อช่องทางใหม่โดยใช้ไม้ยืนต้นเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน ,การเพิ่มทรัพย์สิน รายได้ อาชีพและธุรกิจใหม่ๆให้กับประชาชน ,การลดปัญหาหนี้นอกระบบ , การเพิ่มพื้นที่สีเขียวทั้งในเมืองและนอกเมืองเพื่อคุณภาพชีวิตของประชาชน ชุมชนและเมือง แก้ปัญหาPm2.5 , การแก้ปัญหาโลกร้อน(Global Warming)และเพิ่มคาร์บอนเครดิตของประเทศและการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ(SDG) และยุทธศาสตร์ชาติรวมทั้งแผนปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม การเกษตรและเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ ได้แต่งตั้งที่ปรึกษารมว.เกษตรฯ.เป็นประธานและมอบหมายกระทรวงเกษตรฯเป็นแกนกลางในการขับเคลื่อนขยายผลต่อยอดโครงการนี้โดยผนึกความร่วมมือกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ธนาคารกรุงไทย กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) (BEDO) องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ การยางแห่งประเทศไทย(กยท.) ภาคการวิจัย เช่น สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ สวก. ภาควิชาการเช่นสถาบันการศึกษาทุกแห่ง ศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม(AIC) ภาคเอกชนเช่นหอการค้า สภาอุตสาหกรรม สมาคมธนาคาร สภาเอสเอ็มอี ภาคเกษตรกรเช่นสภาเกษตรกรแห่งชาติ สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย สมาคมเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร เกษตรกร ภาคท้องถิ่นเช่นอบจ. เทศบาล อบต. กทม. เมืองพัทยา รวมทั้งภาคีเครือข่ายมูลนิธิ องค์กรเอกชนตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังรับทราบรายงานผลการดำเนินการที่ผ่านมาของโครงการสินเชื่อไม้ยืนต้น จากข้อมูลของกองทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจ กระทรวงพาณิชย์รายงาน ณ วันที่ 5 ก.ค. 2564)ว่าตั้งแต่ปี2562ถึงปัจจับัน มีผู้ขอนำไม้ยืนต้นมาจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจแล้ว จำนวน 87สัญญา จำนวน 119,498ต้น วงเงิน134,375,912.00บาทโดยแบ่งเป็น กลุ่มให้สินเชื่อรายย่อย(พิโกไฟแนนซ์ ปล่อยสินเชื่อวงเงิน5หมื่นถึง1แสนาบท) 80 สัญญา คิดเป็น 92%ของสัญญารวมวงเงินค้ำประกัน 4 ล้านบาท กลุ่มสถาบันการเงิน(ธนาคารกรุงไทยและธกส.)7สัญญา คิดเป็น 8 %ของสัญญา รวมวงเงินค้ำประกัน 130 ล้านบาท
“ระบบการให้สินเชื่อโดยใช้ไม้ยืนต้นเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันที่ผ่านมายังดำเนินการได้ไม่มากนัก นโยบาย โดย ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน จึงให้ต่อยอดขยายผล(Scale up) โครงการด้วยการเร่งส่งเสริมเกษตรกรและประชาชนปลูกไม้มีค่าทางเศรษฐกิจบนที่ดินตนเองซึ่งเป็นการเพิ่มทรัพย์สินสร้างหลักประกันให้กับครอบครัวและความมั่นคงในอนาคตรวมทั้งสามารถใช้ไม้ยืนต้นเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันสินเชื่อโดยเกษตรกร ประชาชนและผู้ประกอบการจะได้รับวงเงินสินเชื่อรายย่อย50,000-100,000 บาทต่อรายและวงเงินสินเชื่อรายใหญ่จากสถาบันการเงินเช่นธนาคารเป็นต้น”นายอลงกรณ์กล่าว
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้รับทราบรายงานความก้าวหน้าการขับเคลื่อนโครงการการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมือง (Sustainable Urban Agriculture Development Project : SUAD Project) โดยมีการแต่งตั้งโครงสร้างและระบบในการทำงาน ดังนี้ 1.คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมือง ระดับเขต แบ่งตามพื้นที่รับผิดชอบตามการแบ่งเขตตรวจราชการของกระทรวงฯ โดยมีผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประจำเขตตรวจราชการ เป็นประธานอนุกรรมการ 2.คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมืองทั้ง 77 จังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธาน มีเกษตรและสหกรณ์จังหวัด เป็นเลขานุการ 3.คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมืองในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ (นายอลงกรณ์ พลบุตร) เป็นประธาน มีผู้อำนวยการสำนักสวนสาธารณะ กรุงเทพมหานคร เป็นเลขานุการ
4.คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมืองในพื้นที่เมืองพัทยา โดยมอบหมายให้เมืองพัทยาพิจารณาสรรหาบุคคลที่เหมาะร่วมเป็นอนุกรรมการ 5.คณะทำงานขับเคลื่อนโครงการการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมืองในพื้นที่วัด (Green Temple) มีนายโฆสิต สุวินิจจิต เป็นประธาน 6.คณะทำงานขับเคลื่อนโครงการการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมืองในพื้นที่วิทยาลัย (Green College) โดยมีนางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย เป็นประธาน 7.คณะทำงานขับเคลื่อนโครงการการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมืองในพื้นที่โรงเรียน (Green School) มีนายภูมิสรรค์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา เป็นประธาน 8.คณะทำงานขับเคลื่อนโครงการการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมืองในพื้นที่มหาวิทยาลัย (Green Campus) มี รศ.ดร.อาณัฐชัย รัตตกุล เป็นประธาน 9.คณะทำงานขับเคลื่อนโครงการการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมืองในพื้นที่การเคหะแห่งชาติ มีผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ เป็นประธาน10.คณะทำงานขับเคลื่อนโครงการการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมืองระดับชุมชนและท้องถิ่น (Green Community) มีนายกษิดิ์เดชธนทัต เสกขุนทด เป็นประธานคณะทำงาน 11งคณะทำงานขับเคลื่อนโครงการการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในพื้นที่อาคารชุด (Green Condo) โดยมีนางอาภา อรรถบูรณ์วงศ์ นายกสมาคมอาคารชุดเป็นประธาน
นายอลงกรณ์ กล่าวว่า ยังรับทราบความคืบหน้าในการจัดตั้งสถาบันเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)และมีมติให้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นตามระเบียบและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ก่อนเสนอปลัดกระทรวงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พิจารณาดำเนินการต่อไปสำหรับการจัดตั้งและขับเคลื่อนสภาเกษตรอินทรีย์ พี จี เอส แห่งประเทศไทยจะมีการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำแนวทางและแผนการดำเนินงานผ่านระบบออนไลน์ ในวันที่ 18 สิงหาคมที่ประชุมยังรับทราบผลการดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ โคก หนอง นา โมเดล โดยผู้แทนกระทรวงมหาดไทย ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการโครงการไปแล้วร้อยละ 46 ของโครงการ โดยมีผู้เข้าร่วมโครงการกว่า 30,000 คน และดำเนินการจ้างผู้ปฏิบัติงานจากเกษตรกร บัณฑิตจบใหม่ กลุ่มแรงงานที่อพยพกลับท้องถิ่นและชุมชนที่ว่างงานจากผลกระทบของ COVID-19 แล้วจำนวน 9,157 ราย