เปิดวิสัยทัศน์ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมหนังและผลิตภัณฑ์หนัง และนายกสมาคมอุตสาหกรรมฟอกหนังไทย “สุวัชชัย วงษ์เจริญสิน” หลังอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด19 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
สุวัชชัย วงษ์เจริญสิน ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมหนังและผลิตภัณฑ์หนัง และนายกสมาคมอุตสาหกรรมฟอกหนังไทย คาดการณ์ว่าอาจจะต้องใช้เวลากว่า 1-2 ปี กว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติตามการฟื้นตัวของภาพรวมเศรษฐกิจ แต่ภาพรวมของเศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้เร็วแค่ไหน ต้องขึ้นอยู่กับกำลังซื้อของผู้บริโภคเป็นสำคัญ
จากข้อมูลของศูนย์ข้อมูลและดิจิทัลอุตสาหกรรมจะเห็นว่า ภาพรวมการค้าระหว่างประเทศสะสมระหว่างเดือนมกราคม–พฤศจิกายน 2563 พบว่า การส่งออกสินค้าเครื่องหนังและรองเท้า มีมูลค่ารวม 1,143.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีอัตราการขยายตัวในภาพรวมลดลง 27.02% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็น (1) การส่งออกกลุ่มเครื่องหนัง มีมูลค่ารวม 795.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง 30.95% และ (2) การส่งออกกลุ่มรองเท้า มีมูลค่ารวม 466.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง 19.18%
“แนวโน้มการส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องหนังและรองเท้า คาดการณ์ว่าจะยังคงชะลอตัว เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกเริ่มถดถอยจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศ ความต้องการสินค้าและกำลังซื้อลดลง อัตราแลกเปลี่ยนที่มีความผันผวน โดยค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งตัวค่า ตลอดจนสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน สถานการณ์ BREXIT ความผันผวนของเศรษฐกิจ และสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกากับอิหร่าน”
ดังนั้น กลุ่มอุตสาหกรรมฟอกหนังจึงใช้ช่วงเวลานี้เดินหน้าปรับปรุงระบบงาน โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม โดยมีการทำงานร่วมกับภาครัฐ เช่น การดำเนินงานและส่งเสริมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จัดโดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) พร้อมๆ กับการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial Town) ของกรมโรงงานอุตสาหกรรม และกำลังดำเนินการเจรจา แก้ไขข้อกำหนดการค้า FTA และผลักดันโอกาสการเจรจาเขตการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป (Thai-EU) เพื่อทำให้อุตสาหกรรมฟอกหนังฟื้นตัวกลับมาอีกครั้ง
ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมหนังและผลิตภัณฑ์หนัง และนายกสมาคมอุตสาหกรรมฟอกหนังไทย ยังกล่าวด้วยว่า ไทยยังมีคู่แข่งที่สำคัญในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในด้านการผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์หนัง นั่นคือ เวียดนาม เนื่องจากเวียดนามมีความได้เปรียบกว่าประเทศอื่นๆ จนถึงปี 2568 ทั้งเรื่องค่าจ้างแรงงาน รายได้ต่อหัว นโยบายทางเศรษฐกิจ และตลาดส่งออก ซึ่งจะเห็นได้จากการส่งออกเครื่องหนังและรองเท้าของเวียดนามในปีที่ผ่านมาเป็นรองเพียงประเทศจีน โดยปริมาณการส่งออกรองเท้าของเวียดนามมีปริมาณมากกว่า 1 พันล้านคู่ต่อปี
อย่างไรก็ตาม สมาคมกำลังผลักดันการนำหนังแกะและหนังแพะมาใช้แทนหนังวัว ด้วยคุณสมบัติทั้งน้ำหนักเบา และผิวพรรณมีความละเอียดมากกว่า ทำให้รองเท้าที่ทำมาจากหนังแกะ หนังแพะ สามารถขายได้ราคาได้สูงกว่าหนังวัว
“ในฐานะที่เป็นนายกบริหารสมาคมเห็นว่า ในเมื่อตลาดหนังวัวเริ่มมีการชะลอตัวลง มีการตีตลาดจากเมืองจีนเข้ามา เราควรจะทำตลาดในรูปเครื่องหนังทดแทน เช่น หนังของสัตว์อื่น ๆ เลยโฟกัสไปตลาดหนังแกะ หนังแพะ ให้ตลาดเกิดการรับรู้ให้มากขึ้น ซึ่งเชื่อว่าถ้าดีไซเนอร์ คนผลิตออกแบบสินค้าโดยใช้หนังแกะ หนังแพะ เช่น เคสโทรศัพท์หนังแกะ หนังแพะ ราคาจะดีกว่าการผลิตจากหนังวัว และถ้าทำให้เกิดการรับรู้ ก็จะทำให้เมืองไทยจะมีตลาดเกิดใหม่ขึ้นมา โดยเราจะเน้นวัตถุดิบที่มีในประเทศอยู่แล้ว และเป็นการเพิ่มมูลค่าให้เกษตรกรผู้เลี้ยง รวมทั้งยังเป็นทดแทนตลาดหนังวัวที่ชะลอตัวพร้อมกับส่งเสริมตลาดหนังทางเลือกอีกด้วย” ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมหนังและผลิตภัณฑ์หนัง และนายกสมาคมอุตสาหกรรมฟอกหนังไทย กล่าวปิดท้าย