บอร์ดกสศ.อนุมัติงบฉุกเฉินเพิ่ม 300 ล้านบาท บรรเทาความเดือดร้อนโควิด-19 ช่วยนักเรียนยากจนพิเศษ ไม่ต้องรอเปิดเทอม
นายกวินทร์เกียรติ นนธ์พละ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) กล่าวว่า ระหว่างวันที่ 13 – 19 เมษายน 2563 สพฐ.ร่วมกับ กสศ. ทำการสำรวจผลกระทบและแนวทางการช่วยเหลือนักเรียนยากจนพิเศษ มากกว่า 1,000 คน จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เพื่อหาทางช่วยเหลือสนับสนุนบรรเทาเพราะถือว่ามีความจำเเป็นสามารถทำได้ทันทีไม่ต้องรอให้เปิดเทอม
ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า ได้สำรวจผลกระทบจากสถานการณ์ระบาดโรคโควิด-19 ในกลุ่มเป้าหมายผู้ปกครองนักเรียนยากจนพิเศษ หรือนักเรียนทุนเสมอภาค จำนวน 1,100 ตัวอย่างทั่วประเทศ พบว่า ร้อยละ 80 มีความกังวลต่อผลกระทบการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ในระดับมากถึงมากที่สุด ใน 5 อันดับแรก คือ 1.ไม่มีอาหารรับประทาน 2.ถูกพักงานหรือถูกเลิกจ้าง 3.ไม่มีของใช้จำเป็นในครอบครัว 4.การศึกษาเล่าเรียนของคนในครอบครัว และ5.ปัญหาสุขภาพ
สิ่งที่เป็นผลกระทบมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ 1.เพิ่มรายจ่ายด้านอาหารที่บ้าน 2.ไม่ได้ไปเรียนหนังสือ 3.ไม่มีค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาเพียงพอ 4.ไม่ได้ทำกิจกรรมสร้างสรรค์ และ5.แผนการเรียนที่ยุ่งยากขึ้น ดังนั้น เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของครอบครัวนักเรียนยากจนพิเศษ และป้องกันการหลุดออกจากระบบการศึกษา ในปีการศึกษานี้ คณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้อนุมัติวงเงินช่วยเหลือฉุกเฉินเพิ่มเติมจำนวน 300 ล้านบาท เพื่อสมทบทุนเสมอภาคที่นักเรียนยากจนพิเศษจะได้รับในเทอม 1/2563 ให้กับกลุ่มเป้าหมายในครอบครัวที่มีความเดือดร้อนจำเป็นเร่งด่วน จากการระบาดของโรคโควิด-19
นอกจากนี้ กสศ.ขอเชิญชวนให้ครู ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้นำชุมชน ผู้ปกครองและนักเรียน ร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมความเสมอภาคทางการศึกษา และป้องกันการหลุดออกจากระบบการศึกษาของนักเรียนทุนเสมอภาค สามารถเข้ามาให้ข้อมูลผ่านการตอบแบบสอบถามในช่องทางออนไลน์ที่ www.eef.or.th