MONEY

โดย กองบรรณาธิการ M2F

19 ธันวาคม 2562 : 13:35 น.

อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ทุ่มงบกว่า 800 ล้านบาทขับเคลื่อนเอสเอ็มอี 3 ด้าน มุ่งปั้นปรุงเปลี่ยนเอสเอ็มอีให้ดีพร้อม ตั้งเป้า 16,200 คน 2,200 กิจการ 9,600 ผลิตภัณฑ์ 70 กลุ่ม คาดสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 13,000 ล้านบาท

นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ได้กำหนดทิศทางและนโยบายในการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและวิสาหกิจชุมชน ตามสโลแกน “ปั้น ปรุง เปลี่ยน เอสเอ็มอีให้ดีพร้อม (DIProm)” โดยการ “ปั้น” ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ใน 3 มิติ “ก - ส – อ” ซึ่งสอดรับกับข้อสั่งการเร่งด่วน 3 ด้าน ของ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม คือ 1.ปั้นเอสเอ็มอีเกษตรอุตสาหกรรม (ก) โดยเน้นการพัฒนาภาคการเกษตรจากเกษตรดั้งเดิมไปสู่เกษตรสมัยใหม่ ที่เน้นการบริหารจัดการ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อเปลี่ยนเกษตรกรสู่การเป็นผู้ประกอบการ หรือ นักธุรกิจเกษตร นำระบบการผลิตและการบริหารจัดการในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่มาประยุกต์ใช้ในธุรกิจเกษตร เช่น Toyota Production System (TPS), Kaizen และนำนวัตกรรม เทคโนโลยีดิจิทัลมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูป

นอกจากนี้ ยังรวมถึงการปั้นธุรกิจเอสเอ็มอีเครื่องจักรกลการเกษตรที่ยังขาดแคลน เช่น เครื่องลดความชื้นข้าวเปลือก การปั้นเอสเอ็มอีผู้ให้บริการเครื่องจักรกลทางการเกษตรแปลงเล็กแบบครบวงจรที่ทันสมัยในอัตราค่าบริการที่เอื้อมถึงได้ การส่งเสริมการค้นหาธุรกิจแปรรูปการเกษตรในทุกภูมิภาคผ่านศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 (ITC 4.0) และการส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในการต่อยอดธุรกิจ ซึ่งการพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรมของ กสอ. จะเป็นการสร้างห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ที่มีมูลค่าสูง มีการเชื่อมโยงตั้งแต่เกษตรกรต้นน้ำไปจนถึงผู้ผลิตกลางน้ำ และส่งต่อให้ผู้ทำการตลาดปลายน้ำ อันเป็นการยกระดับรายได้และสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจฐานรากในองค์รวม

2.ปั้นเอสเอ็มอีให้มีแนวคิดสร้างสรรค์ (ส) โดยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคใหม่บนพื้นฐานของการใช้องค์ความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ และการใช้ทรัพย์สินทางปัญญา เชื่อมโยงกับทุนทางวัฒนธรรม สร้างอัตลักษณ์ท้องถิ่น ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ ปั้นให้เกิดอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์และบริการ รวมถึงปั้นระบบการพัฒนาคน โดยร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เพื่อสร้างระบบฝึกงานให้นักศึกษาในภาคการศึกษาปกติ โดยที่นักศึกษาสามารถได้หน่วยกิตและผลการเรียนจากการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) ซึ่งจะเป็นการสร้างแนวคิดการเป็นผู้ประกอบการหน้าใหม่ (Entrepreneur) ให้นักศึกษาไปในตัว

3. ปั้นเอสเอ็มอีให้มีประสิทธิภาพ ผ่านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอัจฉริยะ (อ) โดยจะส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีใช้ดิจิทัลแอพพลิเคชั่นที่ช่วยสนับสนุนการดำเนินธุรกิจ (Business Application) ด้วยโปรแกรมเชิงพาณิชย์ (Commercial Application) โดยได้รวบรวมข้อมูลจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ฐานข้อมูลของ DEPA ฐานข้อมูลของสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยและลูกค้าของ กสอ. และคัดเลือกบริษัทผู้ให้บริการระบบซอฟต์แวร์ที่มีศักยภาพ ซึ่งคาดว่าจะมีไม่น้อยกว่า 20 บริษัท โดยระบบซอฟต์แวร์หรือแอปพลิเคชั่นที่ให้บริการนั้น เป็นรูปแบบ Cloud Based และจะให้ผู้ประกอบการได้ทดลองใช้ฟรีไม่น้อยกว่า 6 เดือน ซึ่ง กสอ. จะขอให้ผู้ประกอบการที่ขอรับบริการกับ กสอ. หากยังไม่มีการใช้ระบบดิจิทัลในธุรกิจ ต้องเลือกใช้แอพพลิเคชั่นใดก็ได้อย่างน้อย 1 โปรแกรม ขณะเดียวกันภาครัฐหรือกรมฯ สามารถเปลี่ยนจากการสร้างแอพพลิเคชั่นด้วยโครงการรัฐเอง ไปเป็นการช่วยส่งเสริมผู้ผลิตแอพพลิเคชั่น หรือสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพไปพร้อม ๆ กัน โดยผู้ผลิตซอฟร์แวร์ที่สนใจสามารถติดต่อขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันการใช้ระบบดิจิทัลได้กับทางกรมฯ ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

นอกจากการ “ปั้น” ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีใน 3 ด้าน ดังกล่าวแล้ว กสอ. ยังได้ “ปรุง” มาตรการและโครงการเพื่อสนับสนุนเอสเอ็มอี ด้วยการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน โดยเฉพาะสภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้า สมาพันธ์เอสเอ็มอี สภาเกษตรกร และผู้นำพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อช่วยกันปรุง ช่วยกันกระจายการส่งเสริมอุตสาหกรรมสู่ภูมิภาค ตอบสนองความต้องการที่ตรงกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงแก้ไขปัญหาของผู้ประกอบการได้ตรงจุดและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ล่าสุด กสอ. จะทำงานบูรณาการร่วมกันปรุงกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) และมหาวิทยาลัยในการพัฒนาต่อยอด ปรุงแต่งโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ หรือ หมู่บ้าน CIV เพื่อสร้างรายได้เสริมและเชื่อมโยงระบบท่องเที่ยวชุมชน พร้อมเชื่อมโยงระบบส่งเสริมอุตสาหกรรมเข้ากับระบบสนับสนุนทางการเงินให้วิสาหกิจชุมชนและเกษตรกร รวมถึงการวางแนวทางในการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการใช้โมเดลการดำเนินธุรกิจแบบ Business Process Outsourcing (BPO) คือ การมอบหมายงานบางส่วนภายในองค์กรให้กับบุคคลภายนอกรับผิดชอบดูแลแทน เพื่อแบ่งเบาภาระงานที่ไม่ถนัดและทำให้ธุรกิจสามารถเดินต่อได้โดยไม่สะดุด รวมถึงการส่งเสริมให้เกิดธุรกิจ BPO ในภูมิภาค เอื้อผู้ประกอบการในพื้นที่ให้มีความเข้มแข็ง ไม่เกิดปัญหาการย้ายถิ่นฐานมาทำงานในเมืองหลวง การสร้างระบบนิเวศ หรืออีโคซิสเต็มส์ โดยเน้นจุดแข็งของ กสอ. ที่มีเครือข่ายในโครงการพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรม (คพอ.) ผู้ประกอบการรุ่นพี่ที่ประสบความสำเร็จ (Success Case) และหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อส่งเสริมและขยายผลให้เกิดผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จรายอื่น ๆ มากขึ้นโดยเร็ว เปรียบเสมือนการนำจุดแข็งของแต่ละหน่วยงานมาปรุงสูตรสำเร็จ ที่จะช่วยทำให้เอสเอ็มอีมีความกลมกล่อม ประสบความสำเร็จ

อย่างไรก็ตาม สุดท้าย คือ การ “เปลี่ยน” วิธีดำเนินงาน เพื่อส่งเสริมและพัฒนาเอสเอ็มอีอย่างมีประสิทธิภาพ โดย กสอ. จะปรับเปลี่ยนโครงสร้างหน่วยงานภายในกรมฯ เพื่อรองรับการส่งเสริมและพัฒนาด้านเกษตรอุตสาหกรรมตามนโยบายเร่งด่วนของ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และจะปรับเปลี่ยนบทบาทศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคให้เน้นการพัฒนาผู้ประกอบการด้านเกษตรอุตสาหกรรม รวมถึงปรับเปลี่ยนการให้บริการของศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 (ITC 4.0) โดยเน้นการบริการที่รวดเร็ว ไม่ซ้ำซ้อน ขณะเดียวกัน เพื่อให้สอดรับกับนโยบายรัฐบาลและกระทรวงอุตสาหกรรมที่ได้ปรับเปลี่ยนระบบการให้บริการในรูปแบบดิจิทัลเซอร์วิส กสอ. ได้มีนโยบายให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและวิสาหกิจชุมชนทุกรายที่สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการหรือกิจกรรมต่าง ๆ รวมทั้งที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญที่มาร่วมงานกับ กสอ. ลงทะเบียนเป็นสมาชิกด้วยตนเองผ่านระบบออนไลน์ i-Industry Big Data ของกระทรวงอุตสาหกรรม (https://i.industry.go.th) ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิกได้รับบริการที่สะดวก รวดเร็ว และตรงประเด็นยิ่งขึ้น ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการส่งเสริมอุตสาหกรรม ทั้งนี้ กสอ. จะมีการนำระบบดิจิทัลมาใช้ในองค์กรมากขึ้น โดยเฉพาะการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานรัฐ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการกำหนดแนวทางดำเนินงานร่วมกัน ระหว่าง กสอ. สำนักงาน กพร. สวทช. และ DEPA เพื่อทำงานร่วมกัน

“ภายใต้งบประมาณปี พ.ศ. 2563 กว่า 800 ล้านบาท กสอ. พร้อมเร่งเครื่องการทำงาน ตามทิศทางและนโยบายที่กล่าวมาให้เกิดเป็นรูปธรรม ชัดเจน เพื่อขับเคลื่อนโครงการต่าง ๆ ให้บรรลุผลตามเป้าหมาย เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 13,000 ล้านบาท โดยหัวใจสำคัญมาจากการปรับกลไลการดำเนินงานและบูรณาการความร่วมมือกันทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (Department of Industrial Promotion – DIProm) จะ “ปั้น ปรุง เปลี่ยน เอสเอ็มอีให้ดี และไม่ใช่แค่ดีเฉย ๆ แต่ต้องดีพร้อม (DIProm) เพื่อส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการไทยให้มีศักยภาพ สร้างเศรษฐกิจฐานรากให้แข็งแกร่งอย่างยั่งยืน” นายณัฐพลกล่าว

ข่าวเด่น

ข่าวที่น่าสนใจ