MONEY

โดย กองบรรณาธิการ M2F

17 ธันวาคม 2562 : 15:49 น.

ตลาดไทเป็นที่รู้จักและได้รับความเชื่อถือในภาคธุรกิจในด้านสถานการณ์สินค้าเกษตร โดยมีมูลค่าการค้าต่อวัน 500 – 600 ล้านบาท และมูลค่าการค้าต่อปี 180,000 ล้านบาท

โดย พงศ์พัทธ์ วงศ์ยะลา ปทุมธานี

จ.ปทุมธานีเป็นเมืองตลาดส่งออกสินค้าที่สำคัญของประเทศ เปรียบเสมือนท่อลำเลียงอาหาร กระจายสู่ผู้บริโภคในประเทศ พร้อมทำหน้าที่ขับเคลื่อนรายได้ ด้านตลาดส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคอาหาร ผัก ผลไม้และสินค้าอื่น ๆ ทำให้มีรายได้เป็นอันดับ 6 ของประเทศ จากข้อมูลทางเศรษฐกิจของจ.ปทุมธานี ประชาชนในจังหวัดมีรายได้ต่อหัวเป็นอันดับ 12 ของประเทศ การเติบโตทางเศรษฐกิจโดยมีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (Gross Province Product : GPP) 380,688 ล้านบาท โดยมีสัดส่วนรายได้ ภาคอุตสาหกรรม มูลค่า 202,786 ล้านบาท และการขายส่งขายปลีกมูลค่า 65,358 ล้านบาท

จ.ปทุมธานีเป็นที่ตั้งของตลาดส่งออกสินค้าอาหารและสินค้าการเกษตรระดับประเทศ รวมทั้งสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไป โดยมีตลาดขนาดใหญ่รองรับสินค้าที่นำเข้าจากเกษตรกรและผู้ผลิตจากทั่วประเทศ ซึ่งเป็นตลาดที่มีมาตรฐานมากกว่า 20 แห่ง ทั้งตลาดค้าส่ง ค้าปลีก ตลาดเชิงท่องเที่ยวและอนุรักษ์ พร้อมทั้งมีคลังสินค้าขนาดใหญ่ ที่สามารถจัดเก็บสินค้าเพื่อรอจำหน่ายและส่งออก ตลาดที่มีมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับ อาทิ ตลาดไท / ตลาดสี่มุมเมือง / ตลาดไอยรา

นายอดิศร์ ภัทรประสิทธิ์ ผู้อำนวนการฝ่ายการค้า บริษัท ไทย แอ็กโกร เอ็กซเชนจ จำกัด หรือ ตลาดไท เปิดเผยว่า ตลาดไทเป็นตลาดกลางค้าส่งสินค้าเกษตรครบวงจรใหญ่ที่สุดในอาเซียน ตั้งอยู่บนถนนพหลโยธิน กม. 42 อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี บนพื้นที่ 542 ไร่ ด้วยศักยภาพด้านทำเลที่ตั้ง ซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางของประเทศทำให้ผู้ที่มาใช้บริการสามารถเดินทางเข้าสู่ตลาดไทได้อย่างสะดวกสบายหลายเส้นทาง มีประชากรหมุนเวียน 100,000 คนต่อวัน และเป็นแหล่งสำคัญในการรวบรวมและกระจายสินค้าทางการเกษตรทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ

ตลาดไทเป็นที่รู้จักและได้รับความเชื่อถือในภาคธุรกิจในด้านสถานการณ์สินค้าเกษตร โดยมีมูลค่าการค้าต่อวัน 500 – 600 ล้านบาท และมูลค่าการค้าต่อปี 180,000 ล้านบาท ทั้งยังเป็นตลาดสินค้าการเกษตรใหญ่ที่สุดในประเทศ มีตลาดค้าปลีกและค้าส่งสินค้าทางการเกษตรหลากหลายทั้งพืชผลไม้นำเข้าและส่งออก ตลาดไทแบ่งโซนตามประเภทของสินค้าอย่างชัดเจนถึง 21 ตลาดย่อย เพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกค้าสามารถหาซื้อสินค้าและผลผลิตทางการเกษตรได้ง่ายด้วยราคาที่เป็นธรรม ซื้อขายสินค้าในที่เดียวครบทุกประเภท ตลอด 24 ชั่วโมง

ไม่ว่าจะเป็น ผลไม้ไทยและผลไม้ต่างประเทศ ผักปลอดภัย (GAP) ผักทั่วไป เนื้อสัตว์ ปลาน้ำจืด อาหารทะเล พืชไร่ ข้าวสาร ดอกไม้ ต้นไม้ หรือแม้แต่สินค้าไอที อุปกรณ์ประดับยนต์ และสินค้าอื่นๆ อีกมากมาย ส่งผลให้ตลาดไทเป็นตลาดกลางค้าส่งสินค้าเกษตรครบวงจรใหญ่ที่สุด

ดร.จรูญ ชำนาญไพร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ตลาดสี่มุมเมือง กล่าวว่า ตลาดสี่มุมเมือง เป็นตลาดกลางการค้าและศูนย์กระจายสินค้าทางการเกษตรระดับประเทศ ได้ผ่านการรับรองให้เป็นตลาดสดน่าซื้อจ.ปทุมธานีอย่างต่อเนื่องมากว่า 8 ปี ตั้งอยู่ที่ซอย 77 ถนน พหลโยธิน ต.คูคต อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี เปิดทำการค้าต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง มีลูกค้าหมุนเวียนวันละมากกว่า 30,000 คน

ถือเป็นตลาดค้าผักผลไม้ชั้นนำที่มีการบริหารจัดการที่ทันสมัย โดยสินค้าจำหน่ายส่งออกหลักของตลาด อาทิ ผักต่าง ๆ ผลไม้สด อาหารทะเลสด เนื้อสด และอาหารแห้ง ตลาดสี่มุมเมืองมุ่งในการบริการที่เป็นเลิศ ด้วยสินค้าที่ครบถ้วนปลอดภัย มีมาตรฐาน ด้วยกฎระเบียบการค้าที่ชัดเจนมีรูปแบบการซื้อขายที่รวดเร็วราคาที่ยุติธรรม มีระบบข้อมูลข่าวสารที่เอื้อประโยชน์ต่อผู้ค้า มีความสะดวกสงบเรียบร้อย

พร้อมทั้ง มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการห่วงโซ่คุณภาพสินค้าให้มีประสิทธิภาพรับผิดชอบต่อสังคม ตลาดสี่มุมเมืองเน้นมาตรฐานสินค้า Q smm ว่าด้วยเรื่องขนาดและเกรด มีการจัดรูปแบบมาตรฐานสินค้าที่เป็นสากล สามารถวัดได้มีน้ำหนักที่แน่นอนมากขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับมาตรฐานสินค้าให้เป็นที่ยอมรับ ส่งเสริมการค้า สะดวกรวดเร็ว รองรับการซื้อขายการค้ายุคใหม่ E –commerce ร่วมสร้างมาตรฐานสินค้าเพื่อการค้าที่มั่นคงและพัฒนาสินค้าให้เป็นสื่อกลางระหว่างผู้ผลิต ผู้ซื้ และผู้ขายให้เกิดความมั่นใจในคุณภาพสินค้าที่ซื้อขาย

ทั้งนี้ มีการแจกบัตรมาตรฐานสินค้าให้ผู้ค้าติดไว้หน้าสินค้าเพื่อลดปัญหาขัดแย้งจากความไม่เข้าใจตรงกันในเรื่องของมาตรฐานสินค้า เช่น การกำหนดขนาดของสินค้า และกำหนดเกรดของสินค้า ขนาด คุณภาพ น้ำหนัก บรรจุภัณฑ์ เครื่องหมายการค้าสำหรับบอกรายละเอียดของสินค้า โดยมาตรฐานสินค้านั้น จะทำให้การตัดสินใจซื้อขายสะดวกรวดเร็วใช้เวลาในการซื้อขายลดลง รวมทั้งยังยุติธรรมทั้งกับผู้ซื้อและผู้ขาย

นายชนธัญ เวโรจจนนนท์ ผู้ประกอบการจำหน่ายข้าวโพดรายใหญ่ในภาคกลางและในจ.ปทุมธานี มีพื้นที่ในการปลูกกว่า 500 ไร่ มีลูกไร่พร้อมผลิตผลผลิตให้ กว่า 4,000 ไร่ และจำหน่ายและส่งออกข้าวโพดมากว่า 50 ตันต่อวัน ซิ่งมีแผงค้าทั้งตลาดไทและตลาดสี่มุมเมือง เปิดเผยว่า จ.ปทุมธานี มีนโยบาย ทำเมืองให้เป็นเมืองตลาด“ปทุมธานีเมืองตลาดของประเทศไทย สู่ตลาดโลก” (Pathum Thani Market 4.0) เรื่องนี้ตนเองและผู้ประกอบการต่างๆสนับสนุนเต็มที่ จ.ปทุมานี เป็นศูนย์กลางที่ติดกับกทม. ติดสนามบิน สะดวกต่อการขนส่ง

แต่ก็อยากให้ส่งเสริมการลงทุนซึ่งจะเป็นการยกระดับการอุตสาหกรรมแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรที่มีศักยภาพในพื้นที่ รวมทั้งการพัฒนาไปสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่มีคุณภาพชั้นนำ โดยอยากให้จ.ปทุมธานี ส่งเสริมผลักดันตลาดการค้าออนไลน์ ให้ผู้ประกอบการในพื้นที่ เหมือน อาลีบาบา ทำแพล์ตฟอร์ม (Platform) เน้นให้บริการกับเหล่านักลงทุน โดยผู้ใช้งานสามารถเข้าไปศึกษาข้อมูลและเลือกลงทุนผ่านแพลตฟอร์มที่สร้างขึ้นซึ่งรวดเร็วและอำนวยความสะดวกให้แก่ทั้งสองฝ่าย และสนับสนุน SME ก้าวไปสู่การทำ Cross-Border Trade หรือ การค้าข้ามพรมแดน ที่สามารถเชื่อมผู้ค้าและลูกค้า “ทั่วโลก” เข้าด้วยกัน สนับสนุนเรื่องการตั้งศูนย์บริการอำนวยความสะดวกให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการ

ช่วงนี้พ่อค้าคนจีนเดินทางมาซื้อของเองโดยตรงกันเป็นจำนวนมาก ถ้าภาครัฐร่วมมือกับตลาด ตั้งศูนย์บริการครบวงจร มีทั้งล่ามแปลภาษา ก็จะง่ายในการทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการมากขึ้น ลดส่วนต่างที่ต้องผ่านล่าม อำนวยความสะดวกในการหารถบรรทุก ขนาดใหญ่ ทำให้ครบวงจร ตลอดจน ให้ความรู้ด้านวิชาการกับผู้ประกอบการด้านวิธีการจัดเก็บผลผลิตด้านการเกษตรให้อยู่ได้นาน และสนับสนุนการแปรรูปผลผลิตให้เกิดมูลค้าเพิ่ม ผมรับรองว่า ปทุมธานีจะเป็นเมืองตลาดโลกได้อีกไม่นาน

ดร.พินิจ บุญเลิศ ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี กล่าวว่า จ.ปทุมธานี เป็นที่ตั้งของตลาดค้าส่งสินค้าเกษตรและอาหารขนาดใหญ่ ที่รับและกระจายผลผลิตได้เกือบทั่วประเทศ มีเส้นทางคมนาคมเชื่อมต่อไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ทั้งทางบก ทางน้ำและทางอากาศ รวมทั้งโครงการรถไฟความเร็วสูงที่สามารถเชื่อมต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้านในอนาคต จึงเป็นจุดแข็งของจ.ปทุมธานีในการผลักดันต่อยอดเป็นโครงการพัฒนาศักยภาพเมืองตลาดจ.ปทุมธานี

ภายใต้นโยบาย “ปทุมธานีเมืองตลาดของประเทศไทย สู่ตลาดโลก” (Pathum Thani Market 4.0) ด้วยศักยภาพที่โดดเด่นของตลาดจ.ปทุมธานี การขยายช่องทางการตลาด การสร้างโอกาสทางการค้าและพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการจ.ปทุมธานี ภายใต้วิสัยทัศน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยการขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ การเปลี่ยนจากโลกยุคเดิมสู่ยุค ไทยแลนด์ 4.0

โดยมีเป้าหมายที่มุ่งเน้นสู่การเป็นเมืองที่มีคุณภาพ (quality) ผ่านยุทธศาสตร์ 4 ด้าน ได้แก่ 1.มาร์เก็ต(market 4.0) 2.การพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (ecoindustrial town) และ 3.เมืองนวัตกรรม (city of innovation) 4. เมืองประตูแห่งการเชื่อมต่อโลก (Gate of connection)

จ.ปทุมธานีเป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้าส่งออกที่สำคัญ มีตลาดกลางขนาดใหญ่หลายแห่ง เพื่อกระจายสินค้าการเกษตรของประเทศ เป็นพื้นที่อุตสาหกรรมที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ มีโรงงานอุตสาหกรรมกระจายอยู่ทั้งจังหวัด จำนวน 4,000 แห่ง มูลค่าการลงทุน 75,000 ล้านบาท การจ้างงาน 300,000 คน มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมเป็นลำดับ 6 ของประเทศ พร้อมทั้งการก้าวเข้าไปสู่จังหวัดที่มีรายได้สูงเป็นอันดับ 5 ของประเทศ จากปัจจุบันที่ขึ้นมาอยู่ในอันดับ 6 ซึ่งต่างจากอันดับ 5 ในปัจจุบันเพียง 22,000 ล้านบาทขณะที่ปี 2559 จ.ปทุมธานีมีรายได้ 346,723 ล้านบาท เป็นอันดับ 7 ของประเทศ และมีรายได้เฉลี่ยต่อคนอยู่อันดับ 12 ของประเทศ ประมาณ 235,596 บาท

สำหรับ ยุทธศาสตร์เมืองตลาด 4.0 เนื่องจากจ.ปทุมธานีเป็นเมืองที่มีตลาดจำนวนมาก ทั้งตลาดประชารัฐขนาดเล็ก ตลาดชุมชน ตลาดหมู่บ้าน ตลาดขนาดอำเภอ และตลาดขนาดใหญ่มาก เช่น ตลาดไท ตลาดไอยรา ตลาดสี่มุมเมือง และโมเดิร์นเทรด นอกจากมีการพัฒนาไปสู่ตลาดออนไลน์แล้ว ประชาชนยังมีการรวมกลุ่มทำบาร์โค้ดในผัก เพื่อให้สามารถตรวจสอบได้ถึงแหล่งผลิต รวมถึงมีการทำเกษตรแปลงใหญ่ภายในจังหวัด เพื่อรวมผลผลิตมาส่งเสริมสนับสนุนตลาด เพราะจ.ปทุมธานีสามารถผลิตผักได้ 18%

อีกทั้ง พยายามทำเรื่องการแปรรูป และมีกระบวนการนำขยะไปทำให้เกิดประโยชน์ ซึ่งจะตั้งอยู่รอบตลาดต่าง ๆ รวมถึงมุ่งเน้นอาหารปลอดภัย (food safety) และก้าวสู่การเป็นตลาดศูนย์กลางด้านสมุนไพร (hub of herb) เช่น นำดอกบัวมาสกัดเป็นน้ำมันนวด สร้างมูลค่าเพิ่ม

จ.ปทุมธานีเป็นแหล่งผลิตอาหารที่ป้อนผลิตผลเข้าสู่ตลาดที่สำคัญแห่งหนึ่ง มีโรงงานอุตสาหกรรม ด้านอาหาร และการแปรรูปที่มีคุณภาพไม่น้อยกว่า 300 โรงงาน อีกทั้งยังมีธุรกิจขนาดเล็กอีกจำนวนไม่ต่ำกว่า 100 ราย ที่มีการผลิตเริ่มตั้งแต่การเพาะปลูก การเลี้ยง จนถึงการแปรรูป และยังคงมีความต้องการในการยกระดับเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ โดยอาศัยนวัตกรรมเป็นตัวนำ เพื่อให้สามารถแข่งขันได้

โดยภาพรวมด้านกายภาพของ จ.ปทุมธานีถือว่า มีความพร้อมสูงในการยกระดับมูลค่าของสินค้ากลุ่มอาหาร โดยอาศัยการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยี บุคลากร ฯลฯ ในพื้นที่ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับกลุ่มสินค้าอาหาร เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน

ประเทศไทยในฐานะ ที่เป็นประเทศที่ผลิตอาหารที่สำคัญของโลก ผู้ผลิตจึงจำเป็นต้องให้ความสนใจอย่างจริงจัง ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องเรียนรู้ และอยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจอย่างถูกต้องเพื่อเตรียมความพร้อมของการผลิต สร้างฐานที่แข็งแกร่งให้กับประเทศต่อไป และเพื่อเสริมสร้างรายได้พิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้านวัตกรรมอาหาร อาหารแปรรูปและเครื่องดื่ม และยังเป็นการประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์และอาหารด้านนวัตกรรม อาหารให้เป็นที่รู้จัก ส่งเสริมภาพลักษณ์การท่องเที่ยว

โดยเฉพาะเศรษฐกิจท้องถิ่นในการเพิ่มศักยภาพให้แก่ผู้ประกอบการสินค้า และบริการในพื้นที่จ.ปทุมธานี ให้มีความเข้มแข็งพึ่งพาตนเองและก้าวทันต่อสถานการณ์การค้าที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และเพื่อเป็นการสนับสนุนการพัฒนาจังหวัด สามารถขับเคลื่อนสู่ประเทศไทย 4.0 เพื่อรองรับการเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล

"จ.ปทุมธานีเป็นเมืองที่เป็นประตูแห่งการเชื่อมต่อโลก เป็นจังหวัดที่ใกล้ท่าอากาศยานดอนเมือง เราสามารถเป็นประตูเชื่อมต่อกับหลายๆประเทศทั่วโลกได้ และจ.ปทุมธานีอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมที่จะเป็นศูนย์กลางด้านการค้าการลงทุนที่สำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ นับเป็นเมืองตลาดค้าส่งที่สำคัญของอาเซียน ที่จะก้าวไปบนเวทีตลาดโลก" ดร.พินิจกล่าว

ข่าวเด่น

ข่าวที่น่าสนใจ