อพท.จัดกิจกรรมพัฒนาศักยภาพชุมชนออกแบบผลิตภัณฑ์ส่งเสริมการท่องเที่ยวผ้าภูอัคนี จ.บุรีรัมย์ ส่งผู้เชี่ยวชาญลงพื้นที่ เน้นใช้แรงบันดาลใจจากสิ่งใกล้ตัว วัสดุท้องถิ่น สร้างมูลค่าเพิ่มช่องทางการตลาด
นายพลากร บุปผาธนากร รักษาการผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษ 2 องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เปิดเผยว่า สำนักงานพื้นที่พิเศษ 2 เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบพัฒนาการท่องเที่ยวใน 5 จังหวัดอีสานใต้ ได้นำผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบที่มีชื่อเสียง คือ นายวรวรรธน์ วราสถิรวัฒน์ (อาจารย์แจ็คกี้) จัดกิจกรรมเสริมสร้างศักยภาพชุมชน เรื่องการออกแบบผลิตภัณฑ์ผ้าภูอัคนี ณ ชุมชนบ้านเจริญสุข อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์
สำหรับ นายวรวรรธน์ วราสถิรวัฒน์ ที่เป็นวิทยากรสอนการออกแบบผลิตภัณฑ์ครั้งนี้ ได้เคยนำเสนอผลงานแฟชั่นที่ประเทศอังกฤษและประเทศอื่นๆ ในทวีปยุโรป ส่วนการสอนให้แก่ชุมชนบ้านเจริญสุข ได้แนะนำให้ใช้แรงบันดาลใจจากสิ่งใกล้ตัว รวมถึงสอนเทคนิคการตัดเย็บ การตั้งราคา และช่องทางการตลาดในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ซึ่งกิจกรรมการอบรมครั้งนี้นับว่า ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี โดยชุมชนสามารถออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ได้หลากหลาย โดยใช้วัสดุภายในท้องถิ่นเพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้า และสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้ไปต่อยอด ตลอดจนถ่ายทอดให้แก่สมาชิกชุมชนด้วยกันเองต่อไป
นายพลากร กล่าวว่า โครงการนี้ อพท.ไม่ได้ทำเพียงแค่จ.บุรีรัมย์ แต่มีแนวทางที่จะพัฒนาศักยภาพและองค์ความรู้ด้านการท่องเที่ยวให้กับชุมชนอื่นๆ ที่ อพท. ดูแลในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวอารยธรรมอีสานใต้ 5 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ สุรินทร์และอุบลราชธานี โดยจะมีการจัดกิจกรรมตามความต้องการของชุมชนใน 5 จังหวัด ตามนโยบายรัฐบาล
ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชน หรือ Community – Based Tourism (CBT) คือ การให้ชุมชนเป็นตัวตั้ง มีชุมชนเป็นเจ้าของการท่องเที่ยวและชุมชนเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากการท่องเที่ยว เพื่อการกระจายรายสู่ชุมชน และส่งเสริมให้เกิดการสร้างอาชีพและมีการจ้างงานในชุมชนมากขึ้น ทำให้คนในชุมชนไม่ต้องออกไปทำงานในเมืองใหญ่ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติที่มุ่งเน้นการลดความเหลื่อมล้ำ รวมถึงการส่งเสริมการสร้างงาน สร้างรายได้ ในชุมชน
อย่างไรก็ตาม ในด้านการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรม มีการนำผ้าหมักดินภูเขาไฟมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความแปลกใหม่จากที่มีอยู่เดิม (ผ้าผืนโทนสีส้มอมน้ำตาล) แต่เดิมนักท่องเที่ยวจะซื้อผ้าผืนกลับไป และนำไปใช้งานได้ไม่หลากหลายนัก เมื่อมีกิจกรรมนี้เกิดขึ้น ผลที่ได้คือมีการนำวัสดุท้องถิ่น เช่น ดอกไม้ที่อยู่ในชุมชนหลายชนิด รวมถึงต้นหญ้า และดอกหงอนไก่ นำมาประดิษฐ์เป็นลายปลอกหมอน เสื้อ กระโปรง กางเกง โดยพัฒนาการออกแบบให้สวยงามขึ้น รวมทั้งพัฒนาเป็นเครื่องประดับ เช่น สร้อยคอ ยางมัดผม โดยอาจขายได้เป็นชุด (Set) พร้อมกันทีเดียว ทำให้ขายได้ราคาสูงขึ้นอีกด้วย
“ผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมของชุมชนในครั้งนี้ ทำให้เห็นภาพการแลกเปลี่ยนระหว่างสมาชิกในชุมชนที่มาร่วมอบรมพร้อมกัน ซึ่งไม่ได้มีแค่ช่างตัดเสื้อหรือคนทอผ้า แต่มีสมาชิกที่มีความสนใจในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่มาร่วมด้วย ถึงแม้ไม่มีทักษะด้านการตัดเย็บ แต่มีแนวคิดสร้างสรรค์ที่มาแลกเปลี่ยนกัน ทดลองทำร่วมกัน จนเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ถึง 7 อย่าง” นายพลากร