ซีอีโอหญิงไทยขึ้นเวทีเวิล์ดแบงก์โชว์ความสำเร็จธุรกิจโซลาร์ฟาร์มในไทย เปิดมิติใหม่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ผลิตไฟฟ้าช่วยลดภาวะโลกร้อน เป็นพลังงานสะอาด เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และช่วยสร้างความมั่นคงด้านพลังงานประเทศชาติ
เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานกรรมการ และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทเอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) หรือ SPCG ได้รับเชิญร่วมอภิปรายในงาน “Innovate 4 Climate” ภายใต้หัวข้อ “New Climate Finance Architecture:Learning from the Past to Achieve Deep Transformation” เพื่อเล่าประสบการณ์ในการเป็นผู้บุกเบิกและพัฒนาโครงการโซลาร์ฟาร์มเชิงพาณิชย์ รายแรกที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและอาเซียน จัดโดย World Bank Group (ธนาคารระหว่างประเทศเพื่อการบูรณะและวิวัฒนาการ) ณ Marina Bay Sands Expo and Convention Centre, ประเทศสิงคโปร์
ดร.วันดี กล่าวว่า ได้ริเริ่มทำโครงการโซลาร์ฟาร์มสืบเนื่องมาจากรัฐบาลสนับสนุน สมัยที่ ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ เป็นรมว.พลังงาน ได้มีนโยบายสนับสนุนด้านพลังงานหมุนเวียน เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน รวมทั้งได้เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามาลงทุนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนทุกประเภท (แสงอาทิตย์, น้ำ และ ลม) แต่ไม่มีบุคคลใดสนใจ จึงเห็นว่าพลังงานแสงอาทิตย์ถือเป็นพลังงานหมุนเวียน และเป็นพลังงานสะอาด ไม่มีมลภาวะ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จึงเริ่มศึกษาและออกแบบ Business Model โซลาร์ฟาร์ม
ทั้งนี้ เริ่มการลงทุนจากโครงการโซลาร์ฟาร์มแห่งแรกที่จ.นครราชสีมา หรือโครงการโซลาร์ฟาร์ม (โคราช 1) เริ่มผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และส่งเข้าระบบจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ครั้งแรกเมื่อวันที่ 21 เม.ย.ซ2553 ซึ่งในปัจจุบัน SPCG สามารถพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ หรือที่เรียกว่า โซลาร์ฟาร์ม จำนวน 36 โครงการ รวมกำลังการผลิตกว่า 260 เมกะวัตต์ อยู่ในพื้นที่ 10 จังหวัด ของประเทศไทย มูลค่าลงทุนประมาณ 25,000 ล้านบาท นอกจากนี้ โครงการโซลาร์ฟาร์มทั้ง 36 แห่ง ยังสามารถช่วยลดสภาวะโลกร้อนเทียบเท่ากับลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศของโลกประมาณ 200,000 ตัน CO2 ต่อปี
ดร.วันดี กล่าวว่า ตนเล็งเห็นถึงโอกาสทางธุรกิจ และเริ่มศึกษาเกี่ยวกับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ จึงได้จัดทำ Business Model ขึ้นมาด้วยความเชื่อมั่น การเริ่มต้นทำธุรกิจใหม่มีข้อจำกัดอย่างมากในการหาสถาบันการเงินเพื่อสนับสนุนโครงการ เนื่องจากเป็นโครงการที่ไม่เคยมีผู้ใดทำมาก่อนทำให้สถาบันการเงินไม่มีข้อมูลด้านความเสี่ยง จำเป็นต้องระดมความรู้จากผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งทุกภาคส่วนให้ความสำคัญกับการป้องกันความเสี่ยงด้านการลงทุน
อย่างไรก็ตาม จนกระทั่ง ธนาคารกสิกรไทย เป็นสถาบันการเงินที่ช่วยสนับสนุนทางด้านการเงินอัตราหนี้สินต่อทุนที่ 60:40 โดยเริ่มการลงทุนจากโครงการโซลาร์ฟาร์มแห่งแรกที่จ.นครราชสีมา หรือโครงการโซลาร์ฟาร์ม (โคราช 1) เริ่มผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และส่งเข้าระบบจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ครั้งแรกเมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2553
ดร.วันดีกล่าวว่า หลังจากนั้น ธนาคารขอประเมินการดำเนินงานของโครงการโซลาร์ฟาร์มเป็นระยะเวลา 6 เดือน ก่อนเริ่มพัฒนาโครงการที่ 2 ซึ่งผลปรากฎว่าใน 3 เดือนแรกการผลิตไฟฟ้าดีกว่าเป้าหมายมากกว่า 30 % ธนาคารจึงตัดสินใจสนับสนุนเงินลงทุนสำหรับการพัฒนาโครงการที่เหลือซึ่งต้องใช้เงินลงทุนกว่า 24,000 ล้านบาท ตลอดจนนำเงินกู้ Clean Technology fund มาร่วมให้กู้กับสถาบันการเงินอื่นๆอีก 6 แห่ง ภายใต้การจัดการของธนาคารกสิกรไทย นอกจากนั้นบริษัทฯ ได้ควบรวมกับบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และระดมเงินทุนจนประสบความสำเร็จ
“การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ไม่ใช่หน้าที่ของใครเพียงคนเดียว หรือ บริษัทใดเพียงบริษัทเดียว แต่เป็นความรับผิดชอบที่ทุกคนต้องปฏิบัติเราต้องลงมือทำตั้งแต่วันนี้เพื่ออนาคตของเยาวชนรุ่นต่อไปในอนาคต” ดร.วันดีกล่าวถึงประสบการณ์