SPCG โชว์ผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2562 กำไรสุทธิ 782.95 ล้านบาท มั่นใจปีนี้กวาด 7,000 ล้านบาทได้ตามเป้า ลั่นรุกหนักธุรกิจโซลาร์รูฟตั้งเป้ากวาดรายได้ 2,000 ล้านบาท จาก 3 กลุ่มหลัก บ้านพัก-สำนักงาน-โรงงานอุตสาหกรรม เผยธุรกิจโซลาร์ฟาร์มที่ญี่ปุ่นยังเดินไปตามแผ
เมื่อวันที่ 22 พ.ค. ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) หรือ “SPCG” แถลงผลประกอบการของ SPCG ไตรมาสที่1 ปี 2562 ในงาน “บริษัทจดทะเบียนพบนักลงทุน Opportunity Day” ณ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ถนนรัชดาภิเษก ดินแดง
ดร.วันดี เปิดเผยว่า งบการเงินของบริษัทฯ ในไตรมาสที่ 1 ปี 2562 มีรายได้รวมจากการขาย จำนวน 1,341.60 ล้านบาท ประกอบด้วยรายได้จากธุรกิจโซลาร์ฟาร์มร้อยละ 83, ธุรกิจโซลาร์รูฟร้อยละ 12 และอื่นๆอีกร้อยละ 5รายได้ลดลง ร้อยละ 12 จากงวดเดียวกันของปีก่อน สาเหตุจากธุรกิจโซลาร์รูฟที่ลูกค้าชะลอการลงทุน และเกิดการแข่งขันด้านราคาที่มากขึ้น ซึ่งบริษัทฯ ได้มีการปรับกลยุทธ์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน บริษัทฯ มีกำไรสุทธิจำนวน 782.95 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 จากงวดเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ จากปริมาณหน่วยไฟฟ้าที่ผลิตได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 จากงวดเดียวกันของปีก่อน อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนอยู่ที่ 0.60 เท่า ซึ่งลดลงร้อยละ6จากปีก่อน
ทั้งนี้ ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา บริษัทฯ ตั้งเป้ารายได้เติบโตกว่า 7,000 ล้านบาท โดยการเติบโตของ SPCG มาจาก 2 ธุรกิจหลัก คือ ธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ หรือโซลาร์ฟาร์ม จำนวน 36 โครงการ รวมกำลังการผลิตกว่า 260 เมกะวัตต์ คิดเป็นสัดส่วนรายได้ ร้อยละ 70 ของรายได้รวม โดยปัจจัยหลักที่ทำให้รายได้เติบโต ขึ้นอยู่กับจำนวนกระแสไฟฟ้าที่ผลิตและจำหน่ายได้ และการรับรู้รายได้จากการลงทุนโซลาร์ฟาร์มขนาด 30เมกะวัตต์ที่ประเทศญี่ปุ่น
สำหรับ ธุรกิจติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา หรือโซลาร์รูฟ คิดเป็นสัดส่วนรายได้ ร้อยละ 25 ของรายได้รวมนั้น ในปีนี้บริษัท โซลาร์ เพาเวอร์ รูฟ จำกัด (บริษัทในเครือของ SPCG) ตั้งเป้าการเติบโตของรายได้มากกว่า 2,000 ล้านบาทโดยยังคงมุ่งเน้นการเติบโตใน 3 กลุ่มหลักคือ กลุ่มบ้านพักอาศัย (Residential), กลุ่มสำนักงาน อาคาร ธุรกิจขนาดเล็ก ธุรกิจขนาดกลาง และธุรกิจขนาดใหญ่ (Commercial) และ กลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม (Industrial)
“ในปีนี้กลุ่มลูกค้าที่คาดว่าจะเติบโตเป็นอย่างมาก คือกลุ่มลูกค้าที่อยู่อาศัย (Residential) เนื่องจากแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (Power Development Plan : PDP) ปี 2018 ในส่วนของโซลาร์ภาคประชาชนจำนวน 100 เมกะวัตต์ นอกจากจะมีส่วนช่วยในการประหยัดค่าไฟฟ้าในเวลากลางวันได้แล้ว ครัวเรือนที่สามารถผลิตหน่วยไฟฟ้าได้เกินกว่าการใช้งาน ยังสามารถจำหน่ายให้ภาครัฐได้ด้วย และหากประมาณการการติดตั้งให้แต่ละครัวเรือน ครัวเรือนละ 5 kWp สามารถครอบคลุมประชาชนได้ถึงปีละกว่า 20,000 ครัวเรือนซึ่งเชื่อว่าจะกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวและมีความต้องการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาหรือโฟลาร์รูฟมากขึ้นในปีนี้” ดร.วันดีกล่าว