อพท.จับมือเมืองมะริดร่วมพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวยั่งยืนเชื่อมโยง ไทย –เมียนมา รองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ประเดิม 5 เส้นทาง ชูจุดขายเมืองโบราณและวิถีชีวิต ยุคอาณาจักรทวารวดี
ดร.ชุมพล มุสิกานนท์ รองผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เปิดเผยว่า ได้นำภาคเอกชน สมาคมและภาคีเครือข่ายด้านการท่องเที่ยวจากประเทศไทย ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลง (MOU) กับนายอู้ ตู เรง มิ่น นายอำเภอมูด่อง นายอู้ เงียน ลิ่น อ่าว นายอำเภอตะนาวศรีและภาคเอกชนสมาคมด้านการท่องเที่ยวของทั้ง 2 อำเภอ ของประเทศเมียนมา โดยตกลงที่จะร่วมกันดำเนินโครงการพัฒนาความสัมพันธ์และเส้นทางเชื่อมโยงร่วมสมัยระหว่างเมืองโบราณอู่ทองและเมืองในภูมิภาคตะวันตกกับเมืองโบราณในภาคตะนาวศรีประเทศเมียนมา ในการที่จะส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนระหว่างกัน
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวทั้ง 2 ประเทศ จะร่วมกันพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวเมืองโบราณสมัยทวารวดีระหว่างกัน โดยอพท. จะนำองค์ความรู้ด้านการจัดการการท่องเที่ยวภายใต้เกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก หรือ Global Sustainable Tourism Council (GSTC) ไปใช้เป็นหลักในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและฐานทรัพยากรของทั้ง 2 ประเทศ ตามเส้นทางที่จะพัฒนา
อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นกำหนด 5 เส้นทาง ได้แก่ อู่ทอง-สุพรรณบุรี, อู่ทอง-กาญจนบุรี, อู่ทอง-นครปฐม, อู่ทอง-ประจวบคีรีขันธ์ และอู่ทอง-มะริด “ผู้ร่วมลงนามครั้งนี้ในส่วนของไทย ได้แก่ สำนักงานพื้นที่พิเศษเมืองโบราณอู่ทอง อุตสาหกรรมท่องเที่ยวจ.สุพรรณบุรี มูลนิธิสุวรรณภูมิ สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวหวัดสุพรรณบุรี ชมรมมัคคุเทศน์ภาษาฝรั่งเศส ส่วนของภาคเอกชนของเมียนมาที่ร่วมลงนามในครั้งนี้ ได้แก่ สมาคมโรงแรมและท่องเที่ยวมะริด สมาคมส่งเสริมและอนุรักษ์วรรณกรรมวัฒนธรรมและมรดก เมืองตะนาวศรี ชมรมมัคคุเทศก์มะริด เป็นต้น
"โครงการนี้จะแสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่และความเจริญอันยาวนานของอาณาจักรทวารวดี ที่เคยรุ่งเรืองในอดีต ซึ่งได้ถ่ายทอดครอบคลุมดินแดนของสองประเทศคือไทยและเมียนมา หากมีการเปิดด่านสิงขรได้อย่างเต็มรูปแบบจะช่วยทำให้การค้าขายและการท่องเที่ยวพัฒนารุดหน้าขึ้นได้อีกมาก” ดร.ชุมพลกล่าว
รองผู้อำนวยการ อพท. กล่าวว่า โครงการนี้นับเป็นอีกก้าวหนึ่งของการพัฒนาการท่องเที่ยวเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน ถือเป็นการเปิดตลาดการท่องเที่ยวยุคใหม่ที่เกี่ยวเนื่องกับวิถีชีวิต วัฒนธรรม และความเป็นอยู่ของคนในชุมชนตามเส้นทางดังกล่าวในยุคปัจจุบัน อันมีอัตลักษณ์ ความโดดเด่น เป็นของตนเอง รวมทั้งความหลากหลายทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธ์ต่างๆ ของชุมชน ในส่วนของ อพท. มุ่งหวังว่าโครงการนี้ สำนักงานพื้นที่พิเศษเมืองโบราณอู่ทอง จะช่วยประสานงานให้ภาคการท่องเที่ยวเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวจากประเทศเมียนมาที่อยู่ในประเทศไทยให้เดินทางมาท่องเที่ยวในเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงในกลุ่มจังหวัดทวารวดีเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาซียน (AEC)