ไฟเขียวเพิ่มโทษพวกผลิตอาหารผสมสารอันตรายต่อสุขภาพ โทษหนักจำคุก 5 ปี ปรับ 5 แสน
นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ เผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 5 ก.พ.ได้อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติอาหาร (ฉบับที่...) พ.ศ. … ซึ่งเป็นการแก้ไข พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 โดยวัตถุประสงค์ของกฎหมายคือ การควบคุมคุณภาพและมาตรฐานของการผลิตอาหาร เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค แต่เนื่องจากกฎหมายได้ใช้บังคับมา 40 ปี จึงไม่เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ความต้องการในปัจจุบัน และการกระทำผิดที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการโฆษณาเกินจริง หลอกลวงผู้บริโภค
สำหรับ สาระสำคัญที่มีการแก้ไขกฎหมายอยู่ที่กระบวนการพิจารณาอนุญาต ที่กำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีอำนาจขึ้นบัญชีผู้เชี่ยวชาญ องค์กรผู้เชี่ยวชาญ หน่วยงานของรัฐหรือองค์กรเอกชนทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งทำหน้าที่ในการประเมินเอกสารทางวิชาการ การตรวจวิเคราะห์ การตรวจสถานประกอบการ หรือการตรวจสอบผลิตภัณฑ์อาหาร จากเดิมที่ต้องเป็นเจ้าหน้าที่ของ อย.เท่านั้น โดยให้ รมว.สาธารณสุข โดยคำแนะนำของคณะกรรมการอาหารมีอำนาจประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขต่างๆ
ทั้งนี้ ได้กำหนดลักษณะของอาหารไม่บริสุทธิ์และแก้ไขบทกำหนดโทษเกี่ยวกับอาหารที่ห้ามผลิตนำเข้าหรือจำหน่ายให้มีอัตราโทษที่เหมาะสมกับปัจจุบัน โดยกำหนดให้อาหารที่มียาหรือสิ่งที่น่าจะเป็นอันตรายแก่สุขภาพเจือปนอยู่ด้วยเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ หากตรวจสอบพบผู้กระทำผิด จะต้องดำเนินคดีทางอาญาทันที และแก้ไขโทษจากจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เป็น จำคุก 5 ปี หรือปรับ 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ