กนง.มีมติขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% เป็น 1.75% ยันไม่กระทบการขยายตัวของเศรษฐกิจ พร้อมลดจีดีพีปีนี้เหลือ 4.2%
นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กนง. มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จาก 1.50% เป็น 1.75% ต่อปี ให้มีผลทันที เป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 7 ปี หลังจากที่มีการคงดอกเบี้ยที่ 1.50% ต่อเนื่อง 28 ครั้ง
ทั้งนี้ บอร์ด กนง.ส่วนใหญ่เห็นว่าดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องเป็นเวลานาน ช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวสอดคล้องกับศักยภาพและกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ ทำให้ความจำเป็นที่จะต้องพึ่งพาการผ่อนคลายนโยบายการเงินลดลง จึงควรขึ้นดอกเบี้ยเพื่อลดความเสี่ยงด้านเสถียรภาพและสร้างขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน ส่วน 2 เสียง เห็นว่าปัจจัยเสี่ยงและความไม่แน่นอนจากต่างประเทศปรับตัวสูงขึ้น และอาจจะส่งผลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป จึงควรรอดูความชัดเจนก่อน
“ยอมรับว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้อาจจะมีผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจและกลุ่มผู้ขอสินเชื่อที่มีอัตราดอกเบี้ยลอยตัวบ้าง แต่ยังอยู่ในระดับที่รับได้ เพราะปรับขึ้นน้อยมากเพียง 0.25% ส่วนทิศทางในอนาคตจะมีการปรับขึ้นอีกหรือไม่ จะต้องพิจารณาตามความจำเป็น สภาพแวดล้อม ความเสี่ยง และสถานการณ์ขณะนั้น” นายทิตนันทิ์ กล่าว
นอกจากนี้ กนง.ยังได้ปรับลดประมาณการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในปี 2561 เหลือ 4.2% จากคาดการณ์เดิม 4.4% และลดจีดีพีปี 2562 จาก 4.2% เหลือ 4% เป็นผลกระทบจากปัญหาสงครามการค้าที่ทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง อย่างไรก็ดีถือว่าเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวสอดคล้องกับศักยภาพ ได้แรงส่งจากมาตรการของรัฐเพิ่มเติม ทำให้การบริโภคขยายตัวต่อเนื่อง อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังทรงตัว
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การขึ้นดอกเบี้ยทำให้เศรษฐกิจโดยรวมมีความเสี่ยงสูงขึ้น เนื่องจากไม่รู้ว่าผลกระทบจากการเลือกตั้งต่อเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร เศรษฐกิจโลกก็ผันผวนเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว จึงเป็นภาวะที่ต้องดูแลไม่ให้ความเสี่ยงในประเทศสูงขึ้นจนกระทบเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่ง ธปท.ต้องดูแลและบริหารจัดการอย่างใกล้ชิดและเหมาะสม