แบงก์ห่วงหนี้ครัวเรือนยังอยู่ระดับสูง สินเชื่อโตแต่การกู้ส่วนบุคคล เชื่อแบงก์ชาติอาจออกมาตรการคุมสินเชื่อรายย่อยอีกระลอก
นายยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (อีไอซี) ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า มีความเป็นไปได้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อาจจะออกมาตรการดูแลระบบการเงิน (แมคโครพรูเด็นเชียล) เพิ่มเติมมาควบคุมการก่อหนี้ส่วนบุคคล เน้นไม่ให้มีการก่อหนี้เกินตัว หลังจากภาวะหนี้ครัวเรือนยังอยู่ระดับสูง ซึ่งมุมมองคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แสดงความกังวลอย่างต่อเนื่องจากการคงดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานาน
ทั้งนี้ ส่วนที่ยังสามารถใช้มาตรการแมคโครพรูเด็นเชียลเข้าไปดูแลเพิ่มเติมได้ คือ สินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อบุคคล ที่อาจจำกัดวงเงินทุกใบต่อบุคคล จากมาตรการก่อนหน้านี้ ให้จำกัดวงเงิน 1.5-5 เท่าต่อใบ ผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่าเดือนละ 3 หมื่นบาท และให้ถือบัตรได้ไม่เกิน 3 ใบ ส่วนผู้มีรายได้ 3 หมื่นบาทขึ้นไป ให้วงเงินไม่เกิน 5 เท่า แต่ไม่จำกัดจำนวนบัตรเครดิต ซึ่งในแต่ละคนอาจถือบัตรหลายใบ ทำให้มีวงเงินที่ก่อหนี้เกินตัวได้หลายสิบเท่า
นายยรรยง กล่าวว่า ภาระหนี้ครัวเรือนสูง ประกอบกับกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและปานกลางมีรายได้ที่เพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ ส่งผลให้แนวโน้มการบริโภคภาคเอกชนในปี 2562 ไม่กระจายตัวมากนัก การบริโภคกระจุกอยู่ในกลุ่มผู้มีรายได้สูง เป็นประเด็นต้องอาศัยความรอบคอบในการบริหารจัดการ อาจต้องใช้เวลาการปรับตัวของครัวเรือน รวมถึงแนวทางการยกระดับทักษะแรงงานเพื่อเพิ่มรายได้แก่ครัวเรือน
นอกจากนี้ ภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนที่มีการกู้ยืมในสัดส่วนสูง อาจมีความท้าทายเรื่องการบริหารจัดการต้นทุนทางการเงินที่จะเปลี่ยนไปตามแนวโน้มอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่ทยอยปรับตัวสูงขึ้น
นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ในไตรมาส 3 สินเชื่ออุปโภคและบริโภคที่คิดเป็น 33.7% ของสินเชื่อรวม ขยายตัว 8.4% เป็นการเพิ่มของสินเชื่อรถยนต์ 12.5% สินเชื่อบุคคล 8.8% สินเชื่อบัตรเครดิต 8.2% และสินเชื่อที่อยู่อาศัย 6.4% ในขณะที่สินเชื่อโครงการขนาดใหญ่ขยายตัวเพียง 0.6% สะท้อนให้เห็นว่าสินเชื่อโตกระจุกไม่ได้เกิดจากการบริโภคขยายตัวโดยทั่วไป และขยายตัวจากการก่อหนี้