ห่วงเอ็นพีแอลยังเพิ่มไม่หยุด หลายแบงก์พบลูกค้าเอสเอ็มอีใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ เร่งสกัดก่อนเกิดปัญหา
แหล่งข่าวจากสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งกำลังจัดทำแผนธุรกิจในปี 2562 โดยส่วนใหญ่มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า เป็นห่วงหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) จะเร่งตัวขึ้น โดยเฉพาะหนี้เสียย้อนกลับที่ปรับโครงสร้างหนี้ไปแล้ว แต่กลับมาเป็นหนี้เสียอีกในกลุ่มเอสเอ็มอีและสินเชื่อรายย่อย
ทั้งนี้ ศูนย์ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร) ได้เปิดเผยตัวเลขการปรับโครงสร้างหนี้ในไตรมาส 2 ของปีนี้ว่ามียอดสูงถึง 7.1 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มียอดอยู่ 4.5 แสนล้านบาท และกลุ่มนี้ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด เพราะเป็นกลุ่มที่มีความอ่อนไหวต่อภาวะเศรษฐกิจมาก ซึ่งในปีหน้าคาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโตน้อยกว่าในปีนี้
นางพิกุล ศรีมหันต์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า จะดูแลเอ็นพีแอลของเอสเอ็มอีให้ทรงตัว โดยสิ้นปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 8.5% ส่วนปี 2562 พยายามไม่ให้เกิน 10%
“ธนาคารพบว่าปัญหาของเอสเอ็มอีส่วนใหญ่มีการนำสินเชื่อหมุนเวียน หรือวงเงินโอดี ไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ เช่น ซื้อที่ดินหรือรถหรู ไม่ได้เบิกวงเงินไปใช้ดำเนินธุรกิจหรือสต๊อกสินค้าจริง ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาตามมา เมื่อลูกค้ามีความจำเป็นต้องใช้เงินในธุรกิจ ส่งผลให้การเงินตึงตัว นำไปสู่การผิดชำระหนี้ในอนาคต” นางพิกุล กล่าว
นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ได้ควบคุมการปล่อยสินเชื่อในกลุ่มธุรกิจข้าว หลังพบมีการนำเงินไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ เช่น นำเงินไปซื้อสินทรัพย์หรือที่ดิน