นักวิชาการ-ภาคเอกชน-ภาครัฐ-พรรคการเมือง ชี้ทางรอดภาคเกษตรกรรมไทย ต้องบริหารจัดการเพาะปลูกให้ได้มาตรฐาน GAP ใช้สารเคมีเกษตรอย่างปลอดภัย หนุนเกษตรเคมีขับเคลื่อนเศรษฐกิจดันครัวไทยสู่ครัวโลก
เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นประธานเปิดงาน “เคมี พระเอกหรือผู้ร้าย ครั้งที่ 3” ในหัวข้อ “อินทรีย์ - เคมี โอกาสของไทย ภายใต้วิกฤตอาหารโลก” โดยมี น.ส.เพชรรัตน์ เอกแสงกุล ประธานกิตติมศักดิ์ กรรมการคณะกรรมการกลุ่มอุตสาหกรรมเคมี รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายสุภัค เหล่าดี เลขานุการฝ่ายวิชาการ สมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย ดร.จรรยา มณีโชติ นายกสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย นายสุรวุฒิ ศรีนาม เกษตรกรผู้ปลูกผักมาตรฐาน GAP และนายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ในนามนักวิชาการ ผู้แทนภาคเอกชน ภาครัฐ และเกษตรกร มาร่วมสะท้อนอุปสรรค โอกาส และแนวทางการบริหารจัดการเกษตรอินทรีย์และเกษตรเคมีอย่างยั่งยืน ที่โรงแรมแบงค็อก แมริออท มาร์คีส์ ควีนส์ปาร์ค
ขณะเดียวกัน ผู้แทนพรรคการเมือง นำโดย นายอลงกรณ์ พลบุตร พรรคประชาธิปัตย์ นายสฤษฏ์พงษ์เกี่ยวข้อง พรรคภูมิใจไทย นางสาวสกุณา สาระนันท์ พรรคเพื่อไทย และ ดร. เดชรัต สุขกำเนิด พรรคก้าวไกล ร่วมแสดงวิสัยทัศน์และหาทางออกในการเพิ่มศักยภาพการผลิตวัตถุดิบทางการเกษตรอย่างมีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ใช้ปัจจัยการผลิต ปุ๋ย และสารเคมีเกษตรเพื่ออาหารปลอดภัย ท่ามกลางกลุ่มนักวิชาการ ภาครัฐและเอกชน เกษตรกรเข้าร่วมงานอย่างล้นหลาม
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า อีก 3 เดือนข้างหน้า โลกของเราจะเกิดการขาดแคลนอาหารอย่างรุนแรง เนื่องจากวัตถุดิบหรือผลผลิตจากการเกษตรที่จะนำมาทำอาหารลดลง ปัจจุบัน เริ่มเห็นข่าวว่ามีกว่า 30 ประเทศที่งดส่งออกวัตถุดิบต่างๆ ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่เป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบทางเกษตรที่สำคัญที่สุดของโลก มีพื้นที่ทางการเกษตร 149 ล้านไร่ ซึ่งไม่สามารถขยายพื้นที่ทำการเกษตรไปได้มากกว่านี้ แต่ต้องผลิตอาหารให้เพียงพอต่อความต้องการของประชากร จึงจำเป็นต้องเพิ่มศักยภาพของการผลิตวัตถุดิบหรือผลผลิตจากการเกษตรที่จะนำมาทำอาหาร
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จึงได้ขับเคลื่อน One FTI โดย 45 กลุ่มอุตสาหกรรมร่วมกับสภาอุตสาหกรรมจังหวัด ส่งเสริมให้เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรด้วยเทคโนโลยีผ่านโครงการ Smart Agriculture Industry (SAI) ยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพ ปลอดภัย ได้มาตรฐาน และตรงตามความต้องการของตลาด อีกทั้งประสานความร่วมมือระหว่างกลุ่มผู้ผลิตกับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าเกษตรอุตสาหกรรมในกลุ่มพืชเศรษฐกิจใหม่อีกด้วย”
น.ส.เพชรรัตน์ เอกแสงกุล ประธานกิตติมศักดิ์ กรรมการคณะกรรมการกลุ่มอุตสาหกรรมเคมี รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ถึงเวลาแล้วที่ทุกคนจะต้องให้ความสำคัญกับภาคการเกษตรแบบ GAP (เกษตรเคมี) เพราะ ทุกวันนี้ราคาอาหารแพงขึ้น ต้นเหตุเกิดจาก ปัจจัยเริ่มต้นคือ ผลผลิตทางการเกษตรขาดแคลน ขณะเดียวกัน ทุกภาคส่วน จะต้องกลับมาดูความพร้อม และดำเนินการด้านนโยบายที่จะส่งเสริมศักยภาพการเกษตรของเรา ให้สามารถปฏิบัติได้จริง ด้วยความจริงที่ว่า ไม่มีสารเคมีใดไม่เป็นอันตราย ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการและการรู้จักใช้สารเคมีอย่างรับผิดชอบต่อสังคม ดังนั้น แนวคิดการบริหารจัดการเคมี จะเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนการใช้เคมีเพื่อประโยชน์ของประเทศในอนาคต
สำหรับ ประเด็นร้อนตอนนี้ ปุ๋ยแพง ปุ๋ยเคมีและปุ๋ยอินทรีย์ ควรไปทางไหนดี นายสุภัค เหล่าดี เลขานุการฝ่ายวิชาการ สมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย กล่าวว่า ปุ๋ยเคมีไม่ใช่สารพิษ แต่เป็นธาตุอาหารสำคัญของพืช ที่ช่วยเพิ่มผลผลิตให้ภาคการเกษตรไทย จากสถานการณ์ปัจจุบัน ประเทศไทยต้องนำเข้าปุ๋ยจากต่างประเทศมากกว่า 95% ทำให้การควบคุมราคาจึงเป็นไปได้ยาก เกษตรกรจะต้องปรับตัวแสวงหาหนทางสร้างรายได้ให้มากขึ้น ด้วยการเพิ่มผลิตผลทางการเกษตรจากปัจจัยการผลิตให้มากขึ้น การเลือกใช้ปุ๋ยเคมีหรือปุ๋ยอินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพจึงเป็นทางออกที่สำคัญ รวมทั้งการเลิกเผาตอซังในข้าวแล้วใช้วิธีไถกลบ จะเป็นการช่วยลดต้นทุนการผลิตต่อหน่วย และเป็นการเพิ่มอินทรีย์ให้กับดินได้เช่นกัน
ด้าน ดร.จรรยา มณีโชติ นายกสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย ถอดบทเรียนจากประเทศศรีลังกาถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับภาคการเกษตร เนื่องจากการเลิกใช้สารเคมีเกษตรเมื่อเมษายน 2564 พบว่า ในระยะเวลาเพียง 6 เดือนหลังประกาศ รัฐบาลศรีลังกา ประสบปัญหาหลายประการ เช่น ผลผลิตด้านการเกษตรลดลง มูลค่าทางเศรษฐกิจเสียหายกว่า 774 ล้านเหรียญจากข้าวและใบชา ราคาอาหารเพิ่มขึ้น 5 เท่า ยากจนเพิ่มขึ้นกว่า 5 แสนราย จนในที่สุด ต้องพิจารณาใหม่และประกาศให้กลับมาใช้ปุ๋ยเคมีได้เช่นเดิมในเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา แต่ยังมีนโยบายห้ามใช้สารเคมีเกษตรอื่น ๆ จึงเป็นความท้าทายใหญ่ของศรีลังกาว่าจะสามารถผ่านพ้นวิกฤตด้านอาหารได้หรือไม่ ดังนั้น ประเทศไทยต้องพิจารณาให้รอบด้าน โดยจัดให้มีการประเมินและบริหารจัดการความเสี่ยงด้านต้นทุนและความคุ้มค่าของการใช้สารเคมีเกษตร เพื่อให้สามารถวิเคราะห์และตัดสินใจด้านนโยบายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังประเทศชั้นนำด้านการเกษตรของโลก อาทิ บราซิล ญี่ปุ่น เม็กซิโก จีน และสหรัฐอเมริกา ล้วนมีการประเมินทั้งสิ้น
นายสุรวุฒิ ศรีนาม เกษตรกรผู้ปลูกผักแบบ GAP กรรมการบริหารบริษัท เรียลฟาร์ม จํากัด ได้เล่าประสบการณ์และความท้าทายสำหรับเกษตรกรไทยในการเลือกทำเกษตรอินทรีย์ และเกษตรแบบ GAP (เกษตรเคมี) ว่า สินค้าเกษตรอินทรีย์ แม้ว่าจะเป็นที่ต้องการของตลาดโลก แต่มีไม่มากนัก รวมทั้ง ความท้าทายสำคัญของเกษตรอินทรีย์ คือ การควบคุณภาพ ปริมาณการผลิตต่ำ และผลผลิตไม่มีความต่อเนื่องส่งให้ภาคอุตสาหกรรมอาหารได้ สิ่งนี้ ทำให้เกษตรกรหลายรายต้องล้มเลิกการผลิตแบบเกษตรอินทรีย์ไป หันมาผลิตเกษตรแบบ GAP ซึ่งได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ ด้วยเพราะผู้ซื้อสนใจในเรื่องราคาที่สามารถแข่งขันได้ และสินค้าได้ตามมาตรฐานการส่งออกและนำเข้าในต่างประเทศ
ขณะเดียวกัน นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กรมวิชาการเกษตรได้วิจัยและหานวัตกรรมในการเพิ่มศักยภาพในการผลิตพืชอย่างต่อเนื่อง ทั้งการผลิตแบบอินทรีย์และแบบ GAP (เกษตรเคมี) สามารถนำรายได้เข้าประเทศมากกว่า 7 แสนล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นสินค้าในระบบเกษตรปลอดภัยหรือ GAP ทั้งนี้ มีการควบคุมปัจจัยการผลิตอย่างเข้มข้น ทั้งปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์ และปุ๋ยชีวภาพ เพื่อให้เกษตรกรสามารถใช้ได้อย่างเหมาะสมและเพียงพอ รวมทั้ง สารกำจัดศัตรูพืช ได้บริหารจัดการนำเข้ามาเพิ่มเติมโดยในปีนี้ คาดว่าจะเพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกร ที่สำคัญที่สุด กรมวิชาการเกษตรมีความพร้อมในการช่วยเหลือและให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการใช้ปัจจัยการผลิตทั้งการเกษตรระบบ GAP และเกษตรอินทรีย์อย่างเต็มที่
นอกจากนี้ ผู้แทนจาก 4 พรรคการเมือง ได้เสนอแนวทางการผลักดันภาคการเกษตรไทยไปสู่ครัวโลกได้อย่างน่าสนใจ โดย พรรคประชาธิปัตย์ นายอลงกรณ์ พลบุตร ให้ความสำคัญในเรื่อง “เกษตรเคมีและเกษตรอินทรีย์เหมือนจะเป็นเส้นทางคู่ขนาน แต่นโยบายของพรรคจะผสมผสานทั้งสองส่วนเข้าด้วยกัน มุ่งเน้นทั้งในด้านเกษตรอินทรีย์ เกษตรเคมี และเกษตรอินทรีย์-เคมี จะเป็นยุทธศาสตร์หลักสำหรับอนาคตของประเทศไทย ไม่อยากให้เกิดการแบ่งแยกเป็นกลุ่มเกษตรเคมีหรืออินทรีย์
นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง ผู้แทนพรรคภูมิใจไทย เน้นว่า นโยบายของพรรคให้ความสำคัญต่อเกษตรกร ทั้งการเกษตรอินทรีย์และเกษตรเคมี แต่ต้องพิจารณาความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ ไม่มีการเกษตรแบบใดเป็นพระเอก ต้องมีความสมดุลทั้งสองส่วน หัวใจสำคัญคือการให้องค์ความรู้ต่อเกษตรกร และปรับพฤติกรรมการใช้สารเคมีการเกษตรอย่างถูกต้องและมีความรับผิดชอบ
ด้าน ดร.เดชรัต สุขกำเนิด ตัวแทนพรรคก้าวไกล ได้เสนอแนวทางจัดการภาคการเกษตรไทยว่า หัวใจสำคัญคือการเพิ่มทางเลือกให้เกษตรมากขึ้น ด้วย 1) แนวทางการผลิตสินค้าเกษตรที่มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้นตอบโจทย์ภายในท้องถิ่น 2) แนวทางผลิตสินค้าแบบเดิมแต่ต้นทุนการผลิตต่ำลง และ 3) แนวทางพัฒนาสินค้าเกษตรสู่ตลาดพรีเมี่ยม ทั้งนี้ จะต้องปลดล็อคหนี้สิ้นก่อน และเพิ่มงบประมาณที่เกี่ยวข้องโดยตรงต่อเกษตรกร เพื่อให้ท้ายที่สุดเกษตรกรจะสามารถเลือกการเพาะปลูกแบบเกษตรอินทรีย์หรือเคมี และตอบสนองต่อทางเลือกต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
น.ส.สกุณา สาระนันท์ ตัวแทนพรรคเพื่อไทย กล่าวเสริมว่า เป้าหมายสำคัญของการพัฒนาภาคการเกษตรไทย คือ เพิ่ม GDP ภาคการเกษตร มุ่งเน้นสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรต้นน้ำ ภายใต้แนวคิด ‘ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้’ ผลิตสิ่งที่ตลาดต้องการ ใช้เทคโนโลยีในการเพิ่มผลผลิตลดต้นทุน และเพื่อไทยซึ่งเป็นมืออาชีพด้านการบริหารจัดการ สามารถทำนโยบายที่ดีสู่การเพิ่มรายได้ของเกษตรกรให้สำเร็จได้อย่างแน่นอน อย่างที่เคยทำมาแล้วในอดีต
“ท้ายที่สุด การพัฒนาภาคการเกษตรของไทย ถึงเวลาแล้วที่จะต้องหันมาสนับสนุนการผลิตแบบ GAP (เกษตรเคมี) อย่างจริงจัง ทั้งในด้านนโยบายและแนวทางปฎิบัติ เพราะการใช้สารเคมีในการผลิตแบบ GAP อย่างมีความรับผิดชอบ ทำให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้ผลผลิตสูงคุ้มค่าต่อการลงทุน และปลอดภัยต่อทั้งผู้บริโภค เกษตรกร และสิ่งแวดล้อม เกิดความยั่งยืนทางการเกษตร นโยบายรัฐจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน เพราะเราต้องเพิ่มศักยภาพการผลิตให้เพียงพอต่อประชากรที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่พื้นที่เพาะปลูกเท่าเดิม เพื่อผลักดันเศรษฐกิจและการส่งออกของประเทศ” นายชัยวัฒน์ นิยมการ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเคมี สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าว