ชี้ชัดควบรวมทรู ดีแทค ผู้บริโภคได้ประโยชน์อะไรบ้างตามรอยโทรคมนาคมทั่วโลก แห่ปรับโครงสร้างรับการเปลี่ยนแปลงสู่ยุคดิจิทัล
เมื่อวันที่ 8 เมษายน แหล่งข่าวจากวงการโทรคมนาคมไทย เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทย ต้องเรียนรู้จากบทเรียนในโลกนี้ ที่ผู้ประกอบการทั่วโลกล้วนปรับตัว ให้พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อให้อยู่รอดได้ ซึ่งตลอด 2 ปีที่ผ่านมา คนไทยได้ยินข่าวการปรับตัวของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมมาโดยตลอด อาทิเช่น (7 มกราคม 2564) องค์การโทรศัพท์ (TOT) ควบรวมกับการสื่อสารแห่งประเทศไทย (CAT) หลังจากการควบรวมเป็น NT จะเป็นบริษัทที่มีโครงสร้างพื้นฐานครบวงจรมากที่สุดมูลค่าสินทรัพย์มากถึง 300,000 ล้านบาท แบ่งเป็นเสาโทรคมนาคมกว่า 25,000 ต้นทั่้วประเทศ เคเบิ้ลใต้น้ำระหว่างประเทศเชื่อมต่อไปยังทุกทวีป ถือครองคลื่นความถี่หลักเพื่อให้บริการรวม 6 ย่านมีปริมาณ 600 เมกะเฮิรตซ์ ท่อร้อยสายใต้ดินมีระยะทางรวม 4,600 กิโลเมตร สายเคเบิ้ลใยแก้วนำแสง 4 ล้านคอร์กิโลเมตร Data Center 13 แห่งทั่วประเทศ และ ระบบโทรศัพท์ระหว่างประเทศที่เข้าถึงจากทุกประเทศในโลก
ทั้งนี้ ก็เป็นการปรับตัวเพื่อการแข่งขัน ซึ่งได้ควบรวมเสร็จสิ้นไปได้ด้วยดีในขณะที่ 6 สิงหาคม 2564 เอไอเอส (AIS) ก็มีการปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้น โดย GULF ทุ่ม 4.86 หมื่นล้าน ปิดเกมซื้อ INTUCH ครองหุ้น 42.25% ขึ้นแท่นผู้ถือหุ้นใหญ่ ผู้บริหารของกัลฟ์ ให้เหตุผลกับนักลงทุนรายย่อย สื่อมวลชน และทีมเศรษฐกิจ ว่า เขาต้องการแพลตฟอร์มด้านการสื่อสารโทรคมนาคมเพื่อต่อยอดธุรกิจพลังงาน สนามบิน และท่าเรือของกัลฟ์ให้ดำเนินไปสู่ธุรกิจยุคใหม่ที่เป็นดิจิทัลทรานส์ฟอร์มอย่างแท้จริง ดังนั้นการที่ AIS มีผู้ลงทุนที่แข็งแกร่งอย่าง GULF ทำให้มีความพร้อมในการแข่งขันสู่ยุคดิจิทัล ในขณะที่ตลาดโทรคมนาคมต่างประเทศในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ก็มีการควบรวม เพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น เช่น Celcom Axiata ควบรวม Digi.Com ของมาเลเซีย หรือประเทศอินโดนีเซีย ที่บริษัท Indosat ควบรวม PT Hutchison ก็เพื่อให้ทำธุรกิจแข่งขันกันได้ทุกราย ในอิตาลีมีการควบรวมกิจการระหว่าง Wind และ H3G เป็น Wind Tre ปรับตัวพร้อมสู่การแข่งขันใหม่ ที่มีผู้เล่นดิจิทัลมาแข่งขัน
อย่างไรก็ตาม บทบาท กสทช. คือ การส่งเสริมให้ธุรกิจสามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงได้กรณีการควบรวม ทรู ดีแทค ถือเป็นกลุ่มสุดท้าย ที่เป็นการร่วมธุรกิจแบบเท่าเทียมกัน ไม่ใช่ใครซื้อใครอย่างที่มีการเข้าใจผิด เป็นการเดินหน้าสู่การปรับโครงสร้างการดำเนินธุรกิจ ซึ่งก็ไม่แตกต่างจากผู้ประกอบการรายอื่น ๆ ในอุตสาหกรรม เพื่อรองรับการแข่งขันในธุรกิจโทรคมนาคมที่มีการแข่งขันหนักหน่วงอย่างต่อเนื่อง และการขยายโครงข่าย รวมถึงลงทุนเรื่องเทคโนโลยี และบริการต่าง ๆ เป็นเรื่องจำเป็น ดังนั้นเมื่อร่วมมือกัน เงินลงทุนย่อมมากขึ้น และทำเรื่องทั้งหมดข้างต้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างประโยชน์ให้กับผู้บริโภคด้วยบริการที่ดีขึ้น ตัวอย่างเงินลงทุนที่น่าสนใจคือ บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น หรือ ทรู มีแผนลงทุนโครงข่าย 5G พ.ศ. 2563-2565 กว่า 40,000-60,000 ล้านบาท ส่วน บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือ ดีแทค พ.ศ. 2563 ลงทุน 8,000-10,000 ล้านบาท ขยายโครงข่าย 5G แต่เม็ดเงินเหล่านี้ไม่รวมค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่หลายหมื่นล้านบาท การควบรวมจะทำให้การลงทุนต่อเนื่อง ไม่สะดุด ทำให้ลูกค้าได้รับบริการที่ดีขึ้นต่อเนื่อง และต้องลงทุนเพิ่มในการนำเสนอบริการดิจิทัล ปรับองค์กรสู่การเป็นเทคโนโลยี ซึ่งสามารถสรุปประโยชน์ที่ผู้บริโภคจะได้รับคือ
1.การเข้าถึงสัญญาณเครือข่ายดีขึ้น เสาสัญญาณเพิ่มมากขึ้น สัญญาเร็ว แรง และครอบคลุมพื้นที่ใช้งานมากขึ้น เมื่อรวมจำนวนเสาสัญญาณของทรูและดีแทคแล้ว คาดว่าจะมีมากกว่า 49,800 สถานีฐาน ทำให้ไม่ว่าลูกค้าจะอยู่พื้นที่ไหนในประเทศไทยก็สามารถใช้บริการได้อย่างครอบคลุม ลูกค้าดีแทคก็จะได้ใช้สัญญาณ 5G ของทรู ได้อีกด้วย
2. คลื่นที่ครบถ้วนในทุกย่านความถี่ ทำให้ลูกค้าสามารถใช้มือถือได้ทุกรุ่น รองรับทุกย่านความถี่ เริ่มตั้งแต่คลื่น 700 MHz มีทั้ง 2 ค่าย คลื่น 850 MHz ดีแทคสามารถใช้ของทรูได้ คลื่น 900, 1800, 2100 MHz มีทั้ง 2 ค่าย และลูกค้าทรูก็สามารถใช้คลื่นที่ทรูไม่มีเช่นคลื่น 2300 MHz ในขณะที่ดีแทคสามารถมาใช้คลื่น 2600 MHz 5G ของทรูได้ ดังนั้นลูกค้าจะได้ประโยชน์อย่างมากจากจำนวนคลื่นและแบนด์วิธที่มากขึ้น ทำให้ลูกค้าสามารถโทรโดยใช้มือถือได้ทุกรุ่น รองรับได้ทุกย่านความถี่
3. เพิ่มความสะดวกมากขึ้น โดยมีศูนย์ให้บริษัทหลังการควบรวมเพิ่มมากขึ้น ทำให้บริการหลังการขายสามารถเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น จำนวนร้าน สาขา ของทรู และ ดีแทค ทั่วประเทศ จะให้บริการลูกค้าได้อย่างไร้รอยต่อ และ นำมาต่อยอดบริการรูปแบบใหม่ ให้ลูกค้ามีความสะดวก และมี call center รวมสองค่ายมากกว่า 5,200 คน พร้อมให้บริการ 24 ชั่วโมง
4. ลูกค้าทั้ง 2 ค่ายจะได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่ดีและสิทธิพิเศษที่เพิ่มมากขึ้น อาทิเช่น ลูกค้าดีแทคสามารถใช้บริการห้องรับรอง VIP (True Sphere) และสิทธิประโยชน์จาก True Point ได้ ในขณะที่ลูกค้าทั้งทรูและดีแทค ได้รับสิทธิ์ทั้ง dtac reward และ True Privilege และที่ยอดเยี่ยมสำหรับลูกค้าดีแทคคือ สามารถใช้บริการ convergence อินเทอร์เน็ตบ้าน และ content ดี ๆ จาก TrueID และ TrueVisions
5. เมื่อทรูควบรวมกับดีแทค จะทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันใกล้เคียงกันกับเอไอเอส เมื่อผู้แข่งขันสองรายมีขีดความสามารถใกล้เคียงกัน จะทำให้เกิดการแข่งขันกันมากขึ้น ทำให้ลูกค้าได้โปรโมชั่นที่ถูกลง และมีข้อเสนอทางการตลาดที่ลูกค้าได้ประโยชน์มากยิ่งขึ้น
6. ลูกค้าไร้กังวลว่าหลังการควบรวมแล้วราคาจะสูงขึ้น แพคเกจที่ใช้อยู่สามารถใช้บริการได้อย่างต่อเนื่อง เพราะต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กสทช. อย่างเข้มงวดอยู่แล้ว และที่ผ่านมา กสทช. ก็ทำได้ดี ทำให้ไม่มีผู้เล่นรายใด สามารถปรับราคาได้เกินกว่าที่ กสทช. กำหนดไว้ และทำให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราค่าบริการต่ำสุดในโลก
7. การบริการต้นทุนของผู้ให้บริการหลังการควบรวมจะลดลง ทำให้ลูกค้าได้รับประโยขน์จากความคุ้มค่าของบริการที่ได้รับ จะทำให้มีเงินทุนไปพัฒนาบริการใหม่ๆ รองรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่กำลังจะเข้ามาเช่น ดาวเทียม, Metaverse, Quantum รวมถึงรถยนต์ EV และ Smart City
8. ผู้เล่นในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมทุกรายปรับโครงสร้างเพื่อรองรับการลงทุนใหม่ เช่น CAT+ TOT = NT และการที่ AIS มีการปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้น โดยมีการลงทุนใหม่โดยกัลฟ์ GULF เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และ ลงทุนเพิ่มในอนาคต ทำให้หลังการควบรวม TRUEและ DTAC ทำให้ผู้ประกอบการทุกรายมีความพร้อมในการแข่งขัน และ รัฐมีการปฏิบัติต่อผู้ประกอบการอย่างเท่าเทียม มิใช่กีดกันรายใดรายหนึ่ง
9. ผู้บริโภคสามารถใช้บริการของผู้ประกอบการดิจิทัลอย่างไม่สะดุด เช่น Facebook, Line, Netflix และอื่น ๆ ที่เข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทย โดยใช้เครือข่ายโทรคมนาคมเดิม ซึ่งต้องใช้ดาต้า เพิ่มขึ้นมหาศาล ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตใช้งานดาต้าเพิ่มขึ้นหลายเท่าทุกปี เพื่อให้บริการจากผู้เล่นดิจิทัลมีความต่อเนื่อง การควบรวมจะทำให้เกิดความแข็งแกร่งในการพัฒนาคุณภาพเครือข่าย รองรับการเติบโตของผู้ใช้ข้อมูลที่เพิ่มขึ้น
10. หลังการควบรวม ผู้เล่นทุกรายในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทย พร้อมปรับตัวเข้าสู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยี และเพิ่มขีดความสามารถที่จะแข่งกับผู้ประกอบการระดับโลก และสนับสนุนการลงทุนของ Tech Startup รุ่นใหม่ บริษัทจะมีความสามารถในการลงทุนเพิ่ม รองรับเทคโนโลยีใหม่ ทำให้ลูกค้าได้รับบริการดิจิทัลมากขึ้น เช่น บริการแพทย์ทางไกล การประชุมทางไกล การเข้าถึงคอนเทนต์ เพลง หนัง ระดับโลก ในราคาลดลง