รมว.เกษตรฯพอใจผลการส่งออกผลไม้ไไปจีนล็อตแรกด้วยรถไฟสายจีน-ลาวผ่านด่านโมฮ่านในมณฑลยูนนาน
เมื่อวันที่ 3 เมษายน นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารมว.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะทำงานของคณะกรรมการบริหารจัดการผลไม้(Fruit Board) เปิดเผยว่า การขนส่งทุเรียน 2 ตู้คอนเทนเนอร์และมะพร้าวจำนวน 1 ตู้คอนเทนเนอร์ทางรถไฟจากสถานีรถไฟมาบตาพุตจ.ระยองสู่ประเทศจีน โดยมีนายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุขเป็นประธานการปล่อยขบวนรถเมื่อวันที่ 27 มีนาคม โดยได้ถึงช่วงสุดท้ายที่สำคัญมากคือการขนส่งข้ามพรมแดนลาวที่ด่านบ่อเตนสู่แผ่นดินใหญ่ของจีนที่ด่านโมฮ่านมณฑลยูนนานได้ในวันนี้ นับเป็นระบบการขนส่งหลายรูปแบบ (Multi Modal Transportation)คือใช้ทั้งระบบรางและระบบรถที่เริ่มดำเนินการเป็นครั้งแรก เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้ากรณีที่ยังไม่สามารถขนส่งผลไม้ทางรถไฟจากลาวข้ามแดนไปด่านรถไฟโมฮ่านโดยตรง เนื่องจากจีนกำลังก่อสร้างอาคารและลานตรวจโรคพืชที่ด่านรถไฟโมฮ่าน จึงต้องไปใช้การตรวจโรคพืชที่ด่านโมฮ่านซึ่งเป็นด่านใหญ่ด่านเดิมไปพรางก่อน
ทั้งนี้ ได้รายงานให้ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการผลไม้(Fruit Board)ทราบแล้วโดยนายเฉลิมชัยได้แสดงความพอใจแผนโลจิสติกส์เกษตรที่ประสบผลสำเร็จ จากการทดสอบการขนส่งทุเรียนและมะพร้าวน้ำหอมล็อตแรกจากไทยผ่านลาวไปจีนภายใต้พิธีสารผลไม้ไทย-จีนด้วยเส้นทางรถไฟจีน-ลาว โดยได้สั่งการให้มีการจัดประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการผลไม้(Fruit Board) ในวันที่ 7 เมษายนเพื่อพิจารณาแก้ไขปัญหาทุกขั้นตอน เนื่องจากการขนส่งล็อตแรกยังมีความล่าช้ากว่าเป้าหมายรวมทั้งการจัดการเรื่องพิธีการเอกสารของหน่วยงานต่างๆ การจองขบวนรถไฟ ตารางการเดินรถ และค่าระวางการขนส่งในระบบราง-รถ ให้สามารถเพิ่มปริมาณการขนส่งผลไม้บนเส้นทาง”หนองคาย-เวียงจันทน์-บ่อเตน-โมฮ่าน”ให้ได้มากที่สุดและเร็วที่สุด เพื่อเป็นอีกทางเลือกใหม่ของการขนส่งผลไม้ไทยไปจีนสำหรับฤดูการผลิตปี2565
นายอลงกรณ์ กล่าวถึงโครงการขนส่งผ่านท่าเรือหวุงอ๋างว่า ขณะนี้มีความคืบหน้าอย่างมากในการประสานงานกับลาว และเวียดนามในการเปิดเส้นทางขนส่งผลไม้และสินค้าเกษตรออกทางด่านนครพนม-ด่านท่าแขก แขวงคำม่วนของลาว เข้าสู่เวียดนามที่ด่านชายแดนนาเพ้า-จาลอ จ.กว๋างบิ่ญ โดยมีปลายทางที่ท่าเรือน้ำลึกหวุงอ๋าง จ.ฮาติงห์ ชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก โดยมีระยะทางไม่ถึง 300 กิโลเมตร เพื่อลงเรือสินค้าไปยังตลาดปลายทางเช่นท่าเรือซินโจวและฟรีโซนหนานหนิง ในเขตปกครองตนเองกว่างสี ท่าเรือกวางโจว เซิ่นเจิ้น ฮ่องกง เซี๊ยะเหมิน หนิงโป เซี่ยงไฮ้ เกาหลี ญี่ปุ่น และทวีปอเมริกาเหนืออเมริกาใต้ เพื่อย่นระยะทางและเวลาในการขนส่งโดยไม่ต้องย้อนใต้ไปผ่านท่าเรือสิงคโปร์ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายอีสานเกตเวย์และระเบียงเศรษฐกิจอีสาน ภายใต้การบริหารโลจิสติกส์เกษตรของกระทรวงเกษตรฯร่วมกับกระทรวงพาณิชย์
อย่างไรก็ตาม ได้มีการบูรณาการทำงานเชิงรุกกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนภาควิชาการและภาคเกษตรกร ซึ่งประสบความสำเร็จในการเปิดอีสานเหนือไปแล้วทั้งเส้นทางขนส่ง”ราง-รถ”ผ่านด่านหนองคายและงานมหกรรมพืชสวนโลกปี2569 ที่อุดรธานีเป็นการโปรโมทอีสานและประเทศไทยโดยความร่วมมือกับประเทศอาเซียนและจีน และยังเป็นการเชื่อมโยงตามแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก ระหว่างไทย ลาว เวียดนาม และจีนหนึ่งในยุทธศาสตร์การเปิดเสรีทางการค้าของกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC)