“สมคิด” สั่งพัฒนาแหลมฉบังเป็นท่าเรือขนส่งระดับโลก ชิงความได้เปรียบจากสิงคโปร์
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยในระหว่างตรวจเยี่ยมกระทรวงคมนาคมว่า ประเทศไทยเป็นจุดยุทธศาสตร์การขนส่งสินค้าทางน้ำที่ดีในภูมิภาค สามารถเชื่อมต่อการขนส่งสองฝั่งมหาสมุทร ดังนั้นจึงต้องการให้การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) พัฒนาท่าเรือแหลมฉบังให้เป็นท่าเรือระดับโลก และเป็นชิปเมนต์ของภูมิภาครองรับสินค้าจากมหาสมุทรแปซิฟิกควบคู่ไปกับท่าเรืออื่น ๆ ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)
นอกจากนี้ ยังต้องวางระบบโลจิสติกส์เชื่อมโยงสินค้ากับมหาสมุทรอินเดียทางฝั่งทะเลอันดามัน ดังนั้นจึงต้องไปพัฒนาท่าเรือฝั่งทะเลอันดามัน โดยเฉพาะ จ.ระนอง เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งสินค้ากับกลุ่มประเทศ BIMSTEC ที่ประกอบด้วย บังกลาเทศ อินเดีย ศรีลังกา เป็นต้น เนื่องจากนี่เป็นสิ่งที่ประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์เกรงกลัวเรื่องการแบ่งสัดส่วนขนส่งสินค้าทางน้ำ จึงต้องการฝากให้ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) กทท.ไปดูเรื่องนี้ด้วย
“กทท.มีศักยภาพในด้านทรัพย์สินถือครองในมือ โดยต้องนำทรัพย์สินที่มีออกมาสร้างรายได้ คาดว่าจะสร้างรายรับได้หลายแสนล้านบาท จึงฝาก นายสมศักดิ์ ห่อม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า เข้าไปช่วยดูแลแผนพัฒนาร่วมกับ กทท.ที่มีแผนแม่บทแล้ว จึงขอให้เดินตามนั้น” นายสมคิด กล่าว
นายมนตรี ฤกษ์จำเนียร ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) กล่าวว่า ความคืบหน้าโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 วงเงิน 1.4 แสนล้านบาทนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในสัปดาห์หน้า เพื่อขอความเห็นชอบในการกู้เงิน 4.7 หมื่นล้านบาท ก่อนเปิดขายซองเอกสารเงื่อนไขการประกวดราคา (ทีโออาร์) ในเดือน ธ.ค.นี้ จากนั้นจะเปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอในเดือน ก.พ. 2562 และลงนามสัญญาในเดือน มี.ค. 2562
ด้านแผนการพัฒนาการขนส่งสินค้าเชื่อมกลุ่ม BIMSTEC นั้น ขณะนี้ผลการศึกษาเสร็จแล้ว หลังจากนี้จะเดินหน้าลงนามบันทึกความร่วมมือ (เอ็มโอยู) กับ 3 ประเทศ ได้แก่ อินเดีย บังกลาเทศ และศรีลังกา โดยจะเชื่อมขนส่งสินค้าจากท่าเรือระนองไปยังท่าเรือใน 3 ประเทศดังกล่าว คาดว่าจะใช้เวลา 1 ปี เปิดเดินเรือ และจะแล่นเรือเลียบชายฝั่งก่อนที่จะสามารถแล่นตัดท้องทะเลได้ในปี 2563