NEWS

โดย กองบรรณาธิการ M2F

02 กุมภาพันธ์ 2564 : 19:49 น.

.

ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้กทม.ยิ่งต้องเดินหน้าค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะในกลุ่มสถานประกอบการที่มีแรงงานคนไทยและต่างด้าวจำนวนมาก เช่น ไซต์งานก่อสร้าง และโรงงานขนาดใหญ่ รวมถึงตลาดทุกแห่งซึ่งเป็นศูนย์รวมของชุมชน ทั้งด้วยวิธีการคัดกรองด้วยระบบประเมินความเสี่ยง BKK Covid-19 วิธีการตรวจค้นหาเชื้อทางโพรงจมูก (swab) และวิธีการตรวจหาเชื้อจากน้ำลาย เพราะยิ่งค้นหาได้เร็ว พบผู้ป่วยได้เร็ว ก็จะสามารถเข้ารับการรักษาได้เร็ว และประชาชนก็จะปลอดภัยมากขึ้น สามารถผ่อนคลายมาตรการต่างๆ และกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติครับ

แม้สถานการณ์โควิด-19 จะยังไม่จบสิ้น แต่ภารกิจต่างๆ ในการพัฒนาเมือง พัฒนากรุงเทพมหานคร ก็ต้องขับเคลื่อนต่อไปครับ ซึ่งนอกจากกทม.จะเปิดให้บริการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวตลอดสายเชื่อม 3 จังหวัด ปทุมธานี กรุงเทพฯ และสมุทรปราการ รวมถึงเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีทอง ฝั่งธนบุรี ระยะที่ 1 ตลอดจนพัฒนาและส่งเสริมโครงข่ายการเดินทางแบบล้อ ราง เรือ เพิ่มเติมในเส้นทางคลองผดุงกรุงเกษมและคลองแสนแสบ เพื่อให้การเดินทางในกรุงเทพฯ สะดวกขึ้น ช่วยลดฝุ่นและมลพิษ อย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกัน กทม.ได้ทยอยเปิดสวนสาธารณะ ภายใต้โครงการ Green Bangkok 2030 ซึ่งก็มีสวนหลายๆ ขนาด ตามลักษณะของพื้นที่ โดยสวนที่เพิ่งเปิดให้บริการ คือ สวนวนาภิรมย์ร่มเกล้า เขตลาดกระบัง ขนาด 30 ไร่ เพื่อเป็นสวนป่าให้กับชุมชน และที่อยู่ระหว่างดำเนินการซึ่งจะแล้วเสร็จในปี 2564-2565 อีก 5 แห่ง ได้แก่ สวนสาธารณะภายในสถานีพัฒนาที่ดิน เขตบางขุนเทียน พื้นที่ 37 ไร่ สวนจากภูผาสู่มหานทีภายในสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ พื้นที่ 26 ไร่ สวนสาธารณะบริเวณซอยหน้าวัดหัวลำโพง เขตบางรัก พื้นที่ 0.5 ไร่ สวนชุมชนซอยวิภาวดี 18 แยก 3 เขตจตุจักร พื้นที่ 2 ไร่ และสวนป่านิเวศอ่อนนุช ระยะที่ 1 ภายในศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช พื้นที่ 18 ไร่จากทั้งหมด 70 ไร่ เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวต่อจำนวนประชากรให้ได้ตามเกณฑ์มาตรฐานโลกต่อไปครับ

ส่วนโครงการที่หลายๆ ภาคส่วนจับตามอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาพื้นที่สีเขียวให้สอดคล้องกับการพัฒนาเมือง ที่กำลังเร่งผลักดันให้เกิดขึ้นจริงเฟสแรกในปี 2564 คือ การพัฒนาและปรับปรุงภูมิทัศน์คลองช่องนนทรี ให้เป็นสวนสาธารณะเลียบคลองและแหล่งองค์ความรู้ใหม่ในการพัฒนาคลองสาธารณะ รวมระยะทางสองฝั่งประมาณ 9 กิโลเมตร โครงการพัฒนาและปรับปรุงสวนสาธารณะสวนลุมพินี ซึ่งเป็นสวนสาธารณะแห่งแรกของกรุงเทพมหานครและมีอายุเกือบ 100 ปี ขนาดพื้นที่กว่า 300 ไร่ ให้เป็นสวนสาธารณะระดับโลก สามารถใช้ประโยชน์ได้ตรงความต้องการของยุคสมัยและประชาชน และโครงการปรับปรุงสะพานเขียว เส้นทางเดิน-วิ่งลอยฟ้าใจกลางกรุงเทพฯ เชื่อมต่อสวนลุมพินีและสวนเบญจกิติ ระยะทาง 1,300 เมตร ให้ประชาชนสัญจรได้สะดวกแบบไร้รอยต่ออย่างปลอดภัยทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน

โครงการต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ นอกจากจะพัฒนากรุงเทพฯ ให้มีความทันสมัยและน่าอยู่อาศัยแล้ว ยังเป็นการเตรียมพร้อมเพื่อต้อนรับผู้นำเมืองและสมาชิกในการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคและการประชุมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะมีขึ้นที่กรุงเทพมหานครในปี 2565 เพื่อให้นานาประเทศเห็นว่า แม้จะเกิดภาวะวิกฤติ แต่การพัฒนากรุงเทพมหานครก็ยังเติบโตอย่างต่อเนื่องอย่างไม่หยุดนิ่งครับ

กองบรรณาธิการ M2F

ข่าวเด่น

ข่าวที่น่าสนใจ