.
หลายคนเบื่อหน่ายกับการเดินทางมาโรงพยาบาล เพื่อติดตามการรักษาอาการเจ็บป่วย เนื่องจากต้องเตรียมตัว มีค่าใช้จ่ายสูงในการเดินทาง ต้องอดข้าวอดน้ำและใช้เวลาตลอดทั้งวัน เพื่อมาเจาะเลือด รอฟังผล และรอพบแพทย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้ป่วยติดเตียง ผู้สูงอายุ และกลุ่มโรคที่ต้องมีการติดตามต่อเนื่อง ซึ่งหากผู้ป่วยเหล่านี้ไม่สะดวกที่จะเดินทางมาตรวจรักษาและติดตามอาการเจ็บป่วย อาจทำให้สุขภาพเสื่อมถอยและประสิทธิภาพการรักษาลดลงอีกด้วยครับ
ปัจจุบัน กทม.ได้ทดลองนำร่องการให้บริการเจาะเลือดถึงบ้านตามความสมัครใจในกลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูงซึ่งอยู่ในความดูแลของโรงพยาบาลราชพิพัฒน์ สังกัดสำนักการแพทย์กทม. เพื่ออำนวยความสะดวกและช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยและญาติในการเดินทางมาโรงพยาบาล ทั้งยังช่วยลดความแออัดของโรงพยาบาลและลดโอกาสเสี่ยงในการติดเชื้อโรคอื่นๆ จากโรงพยาบาลอีกด้วย ซึ่งผู้ป่วยและญาติต่างก็พอใจกับโครงการนี้อย่างมากครับ เพราะสะดวก ไม่ต้องหอบหิ้วข้าวของทั้งยา อาหาร และอุปกรณ์ของใช้จำเป็นต่างๆ รวมถึงจ้างรถรับ-ส่งเพื่อเตรียมตัวมาโรงพยาบาลในแต่ละครั้ง ไม่ต้องอดข้าวอดน้ำนานๆ กว่าจะถึงคิวเจาะเลือด ไม่ต้องรอพบแพทย์เพื่อฟังผลเลือด และไม่ต้องใช้เวลาอยู่ที่โรงพยาบาลเกือบจะทั้งวัน
โดยในปีงบประมาณ 2564 กทม.จะขยายผลการให้บริการเจาะเลือดถึงบ้านให้ครอบคลุมกลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูงซึ่งอยู่ในความดูแลของโรงพยาบาลสังกัดกทม. 8 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลกลาง โรงพยาบาลตากสิน โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินฺธโร อุทิศ โรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์ โรงพยาบาลลาดกระบังกรุงเทพมหานคร โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ และโรงพยาบาลสิรินธร ต่อไปครับ
พร้อมกันนี้ กทม.ยังได้พัฒนาระบบ Telemedicine หรือ บริการทางการแพทย์ออนไลน์ตามนัดหมาย และจัดส่งยาถึงบ้าน ซึ่งขณะนี้โรงพยาบาลในสังกัดกทม.ทุกแห่งได้เริ่มใช้ระบบนี้ในการตรวจรักษาและติดตามอาการของผู้ป่วยในแผนกต่างๆ ที่มีความพร้อม ซึ่งผู้ป่วยที่ร่วมโครงการเจาะเลือดถึงจะสามารถเข้ารับบริการรักษาด้วยระบบ Telemidicine หรือไม่ก็ได้ขึ้นอยู่กับความสมัครใจ
สำหรับระบบบริการทางแพทย์ออนไลน์นี้ จะเน้นในกลุ่มผู้ป่วยที่ต้องได้รับยาต่อเนื่อง 3 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้ป่วยติดเตียง กลุ่มผู้ป่วยกลุ่มโรค NCDs ได้แก่ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันเลือดสูง กลุ่มผู้ป่วยกลุ่มโรคจิตเวช โรคผิวหนัง และวัณโรค ซึ่งเบื้องต้นกทม.ได้ตั้งเป้าที่จะดำเนินการให้ได้ 5% ของจำนวนผู้ป่วยใน 3 กลุ่มโรคนี้ ซึ่งมีจำนวนสิ้น 456,447 ราย หรือเท่ากับ 22,822 ราย โดยก่อนใช้บริการตรวจรักษาแบบออนไลน์นี้ ทางโรงพยาบาลจะมีแบบแสดงความยินยอมเข้ารับบริการในระบบ Telemedicine รวมถึงให้คำแนะนำในการใช้บริการ ขั้นตอนการให้บริการ และการติดต่อสื่อสารระหว่างกัน รวมถึงการส่งยาให้ถึงบ้าน เพื่อให้การรักษาต่อเนื่องและเกิดประสิทธิภาพสูงสุดครับ
ถือเป็น อีกหนึ่งบริการที่ดีๆ จากกทม.เพื่อคนกรุงเทพฯ ครับ