.
การเพิ่มพื้นที่สีเขียว เป็นเป้าหมายที่กทม.ตระหนักและให้ความสำคัญมาโดยตลอด ทั้งการปลูกต้นไม้ในเมืองเพื่อให้ร่มเงาและความร่มรื่น การจัดทำสวนหย่อมและสวนแนวตั้งบริเวณตอม่อและเกาะกลางแนวรถไฟฟ้า โดยเน้นพืชที่ช่วยดูดซับมลพิษทางอากาศ การเพิ่มจำนวนสวนป่าและสวนสาธารณะให้กระจายอยู่ทั่วทุกมุมเมือง ตลอดจนการขอความร่วมมือพี่น้องประชาชนให้ร่วมกันปลูกต้นไม้ในบริเวณบ้านและในทุกโอกาส เพื่อร่วมกันสร้างปอดให้กรุงเทพฯ และเพิ่มพื้นที่สีเขียวที่ประชาชนจะได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน โดยล่าสุดกทม.เพิ่งเปิดสวนลอยฟ้าเจ้าพระยา ซึ่งเป็นสวนสาธารณะข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งแรก ที่ร่มรื่น สวยงาม และสะท้อนถึงความก้าวหน้าในการพัฒนาเมืองไปอีกขั้นหนึ่งครับ
ปัจจุบัน กทม.มีพื้นที่สีเขียวต่อจำนวนประชากรแล้ว 6.99 ตารางเมตรต่อคน ซึ่งตามเกณฑ์มาตรฐานโดยองค์การอนามัยโลกนั้น กำหนดให้แต่ละเมืองควรมีพื้นที่สีเขียวในอัตรา 9 ตารางเมตรต่อประชากร 1 คน แม้ว่าเราจะยังก้าวไปไม่ถึงเกณฑ์มาตรฐาน แต่เราก็พัฒนามาอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งตั้งเป้าหมายว่าภายในปี 2573 กทม.จะขยายพื้นที่สีเขียวได้สำเร็จ
กทม.จึงได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดทำโครงการ GREEN BANGKOK 2030 ซึ่งเป็นการวางแผนและมองพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพฯ ไปข้างหน้าอีก 10 ปี ว่า การใช้ประโยชน์ที่ดินแต่ละย่านจะเป็นแบบไหน พร้อมทั้งได้ทำการสำรวจพื้นที่ว่าง ที่รกร้าง และที่ดินที่ไม่มีการใช้ประโยชน์เพื่อนำมาพัฒนาเป็นสวนหย่อม สวนสาธารณะ หรือสวนป่า ปัจจุบันโครงการ GREEN BANGKOK 2030 มีพื้นที่นำร่อง (ระยะที่ 1) รวม 11 โครงการ ได้แก่
1. สวนปิยะภิรมย์ เขตบางกะปิ พื้นที่ของกรุงเทพมหานคร จำนวน 10 ไร่ ซึ่งได้ก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการประชาชนแล้ว
2. สวนสันติพร เขตพระนคร พื้นที่ของกรมธนารักษ์ จำวน 2.5 ไร่ ขณะนี้เริ่มก่อสร้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคม 2563
3. สวนสาธารณะบริเวณทางแยกต่างระดับถนนร่มเกล้ากับถนนเจ้าคุณทหาร เขตลาดกระบัง ซึ่งเป็นพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร จำนวน 18 ไร่ ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2563
4. สวนสาธารณะภายในสถานีพัฒนาที่ดินกรุงเทพมหานคร (ถนนบางขุนเทียน - ชายทะเล) เขตบางขุนเทียน พื้นที่ของกรมธนารักษ์ จำนวน 37 ไร่ อยู่ระหว่างการก่อสร้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2564
5. สวนชุมชน เขตบางรัก พื้นที่เอกชนบริจาคให้กรุงเทพมหานคร จำนวน 0.5 ไร่ อยู่ระหว่างขอจัดสรรงบประมาณ คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ต้นปี พ.ศ. 2564
6. สวนภายในซอยวิภาวดี18 แยก 3 เขตจตุจักร พื้นที่ของกรมธนารักษ์ จำนวน 2 ไร่ อยู่ระหว่างขอจัดสรรงบประมาณ คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ต้นปี พ.ศ. 2564
7. พื้นที่ภายในศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช เขตประเวศ พื้นที่ของกรุงเทพมหานคร จำนวน 70 ไร่ อยู่ระหว่างการสำรวจพื้นที่ และออกแบบ คาดว่าจะเปิดให้บริการได้กลางปี พ.ศ. 2564
8. พื้นที่สีเขียวภายในสำนักงานใหญ่ บริษัทปตท.จำกัด (มหาชน) ถ.วิภาวดีรังสิต เขตจตุจักร พื้นที่จำนวน 0.75 ไร่ อยู่ระหว่างการออกแบบและเริ่มก่อสร้างบางส่วน คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือน พ.ย. 63
9. การพัฒนาพื้นที่สีเขียวตามแนวถนนพหลโยธิน (ห้าแยกลาดพร้าว – อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ) เขตจตุจักร เขตพญาไท เขตราชเทวี เป็นพื้นที่สาธารณะและพื้นที่ของเอกชนบางส่วนตลอดแนวระยะทาง 5 กิโลเมตร อยู่ระหว่างการก่อสร้าง และเชิญชวนให้หน่วยงานต่างๆที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ดังกล่าวเข้ามามีส่วนร่วมการในการพัฒนา
10. พื้นที่ใต้ทางด่วนฉลองรัช (ซอยปรีดีพนมยงค์ 2) เขตวัฒนา พื้นที่ของการทางพิเศษฯ จำนวน 5.4 ไร่ อยู่ระหว่างการออกแบบและเริ่มก่อสร้างบางส่วน คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคม 2564
11. พื้นที่ใต้ทางด่วนศรีรัช – วงแหวนรอบนอก (หน้าสถานีรถไฟฟ้าบางซ่อน ) เขตบางซื่อ พื้นที่การรถไฟแห่งประเทศไทยอยู่ระหว่างการประสานงานเรื่องพื้นที่กับการรถไฟแห่งประเทศไทย
ผมอยากจะเชิญชวนพี่น้องประชาชน มาร่วมกันสร้างพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพฯ ให้ได้ตามมาตรฐานโดยเร็ว เพื่อให้มีพื้นที่ที่สามารถใช้ประโยชน์ได้ร่วมกัน เพิ่มศักยภาพในการลดมลพิษทางอากาศ และเพื่อประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี หากท่านมีพื้นที่ที่ยังไม่ใช้ประโยชน์และประสงค์จะมอบให้กรุงเทพมหานคร นำมาพัฒนาเป็นพื้นที่สีเขียว สามารถแจ้งความประสงค์ไปยังสำนักสิ่งแวดล้อมกรุงเทพมหานคร ศาลาว่าการกทม. 2 (ดินแดง) ครับ