.
ตามที่องค์การอนามัยโลก (WHO) เผยอายุเฉลี่ยคนไทยสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก โดยปี 2558 เฉลี่ยอยู่ที่ 66.8 ปี ซึ่งคาดว่าในปี 2564 ประเทศไทยจะเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์” คือ มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 20 และคาดว่าในปี 2574 ประเทศไทยจะเข้าสู่ “สังคมสูงอายุระดับสุดยอด” คือ มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปถึงร้อยละ 28 ของประชากรทั้งหมด พร้อมทั้งเสนอแนะว่าจะต้องมีการเตรียมการรองรับดูแลระยะยาว รวมถึงแนวโน้มการเจ็บไข้ได้ป่วยในวัยของผู้สูงอายุ รวมถึงผู้สูงอายุในภาวะพึ่งพิง
สำหรับการเตรียมพร้อมในการดูแลวัยสูงอายุ หรือสังคมผู้สูงอายุที่จะเกิดขึ้นในส่วนของกรุงเทพมหานครนั้น กทม.ได้เตรียมพร้อมในการดูแลสุขภาพอนามัยผู้สูงอายุอย่างเป็นระบบและต่อเนื่องมาโดยตลอด ทั้งการจัดแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ โดยคำนึงถึงบริการด้านการแพทย์ และการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุในชุมชน เรียกว่าเตรียมความพร้อมทุกช่วงวัย ตั้งแต่วัยทำงาน เพื่อให้พร้อมเป็นวัยสูงอายุที่มีคุณภาพ ตัวอย่างกิจกรรมที่เพิ่งจัดขึ้นเช่น โครงการอาวุโสโก้เก๋า ลองเข้าไปดูในเฟซบุ๊คได้ครับ มีสาระและความรู้ต่างๆ มากมาย ที่จะช่วยพัฒนาและวางแผนการใช้ชีวิตเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ
พร้อมกันนี้ กทม.ได้กำหนดแนวทางการส่งเสริมสุขภาพของประชาชนก่อนวัยสูงอายุและเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ เพื่อส่งเสริมสุขภาพและคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ รวมทั้งลดปัญหาการเจ็บป่วยด้วยโรคไม่เรื้อรัง รวมถึงโรคเรื้อรังและเป็นผู้ป่วยติดเตียง ตลอดจนการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุเชิงป้องกันระยะยาว โครงการ PLC เป็นการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ ป้องกันภาวะหกล้ม และการออกกำลังกายป้องกันภาวะสมองเสื่อม
นอกจากนี้ กทม.ได้จัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพผู้สูงอายุ (SRC : Senior Rehabilitation Center) เพื่อเป็นศูนย์ต้นแบบในการดูแลผู้สูงอายุติดบ้าน ให้ติดสังคม เป็นการดูแลผู้สูงอายุแบบเช้าไปเย็นกลับ และมีกิจกรรมหลากหลาย อาทิ การตรวจคัดกรองสุขภาพ การทำกายภาพบำบัด และการบริหารสมอง ซึ่งปัจจุบันเปิดให้บริการ 2 แห่งที่ ศูนย์บริการสาธารณสุข 45 และศูนย์บริการสาธารณสุข 19 ซึ่งหลังจากการเข้าร่วมโครงการ ผู้สูงอายุเกือบทุกคนมีผลการประเมินที่ดีขึ้น
โดยในปี 2563 กทม.จะขยายโครงการฯ ไปยังศูนย์บริการสาธารณสุขอีก 6 แห่งกระจายไปตามกลุ่มเขตของกทม.ครับ ได้แก่ กลุ่มกรุงเทพเหนือ ที่ศูนย์บริการสาธารณสุข 60 กลุ่มกรุงเทพกลางที่ศูนย์บริการสาธารณสุข 4 กลุ่มกรุงเทพตะวันออกที่ศูนย์บริการสาธารณสุข 56 กลุ่มกรุงเทพใต้ที่ศูนย์บริการสาธารณสุข 41 กลุ่มกรุงธนเหนือที่ศูนย์บริการสาธารณสุข 67 และกลุ่มกรุงธนใต้ที่ศูนย์บริการสาธารณสุข 62 โดยจะขยายผลให้ครอบคลุมศูนย์บริการสาธารณสุขในสังกัดกทม.ให้ครบทั้ง 68 แห่งต่อไปครับ
ในส่วนของโรงพยาบาลในสังกัดกทม. ได้จัดตั้งหอผู้ป่วยชีวาภิบาล ที่โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ เพื่อดูแลผู้ป่วยสูงอายุที่อยู่ในระยะที่พ้นจากระยะวิกฤตแล้ว เพื่อการฟื้นฟูร่างกายของผู้สูงอายุให้กลับคืนสู่สภาวะปกติก่อนกลับบ้าน รวมถึงการให้ความรู้ญาติในการดูแลผู้ป่วยสูงอายุต่อที่บ้านอีกด้วยครับ
สำหรับระดับชุมชน กทม.ได้จัดตั้งชมรมผู้สูงอายุครอบคลุมทุกพื้นที่ จำนวนทั้งหมด 295 ชมรม และมีผู้สูงอายุที่เป็นสมาชิกแล้ว 24,737คน อีกทั้งยังมีศูนย์เรียนรู้ผู้สูงอายุ เพื่อเป็นการดูแลผู้สูงอายุแบบบูรณาการ มีการกำหนดหลักสูตรการเรียนรู้ มีทั้งโหมดวิชาการและความรู้เสรี ที่จะทำให้ผู้สูงอายุไม่เหงา มีกิจกรรมสนุกๆ ได้ทำตลอด เพื่อพัฒนาสมองให้ใช้งานต่อเนื่องลดภาวะสมองเสื่อม เช่น ความรู้เรื่องอาหารและโภชนาการ การออกกำลังกาย สุขภาพจิต การจัดสภาพแวดล้อมและที่พักอาศัยที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุ รวมถึงความรู้และคำแนะนำในการใช้ยา งานจิตอาสา ภูมิปัญญาผู้สูงอายุ การฝึกอาชีพ การออม การทำบัญชีครัวเรือน การนวดแผนไทย กิจกรรมนันทนาการ เป็นต้น
กทม.ได้เตรียมพร้อมการรองรับสังคมผู้สูงอายุแล้ว ในส่วนของประชาชนก็ต้องใส่ใจในการดูแลสุขภาพ และวางแผนการใช้ชีวิตเพื่อจะเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพในอนาคตด้วยนะครับ