ปลัดกทม.นำตรวจสถานบันเทิงที่ปรับรูปแบบมาเป็นร้านขายอาหารย่านวังทองหลางและบางกะปิ ย้ำต้องได้มาตรฐาน SHA+ และ TSC 2+และห้ามขายแอลกอฮอล์เกิน 3 ทุ่ม
เมื่อวันที่ 16 ม.ค.เวลา 20.00 น. นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร ตรวจเยี่ยมสถานบริการ สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ ที่ปรับรูปแบบสถานที่เพื่อให้บริการในลักษณะร้านจำหน่ายอาหาร ณ ร้านโรงเหล้าแสงจันทร์ เขตวังทองหลาง และร้านมดแดง เขตบางกะปิ โดยมี นายชวินทร์ ศิรินาค นายณรงค์ เรืองศรี รองปลัดกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารสำนักอนามัย ผู้บริหารเขตวังทองหลาง เขตบางกะปิ และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมตรวจสอบ
นายขจิต เปิดเผยว่า ตามประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 49) ข้อ 2 อนุญาตให้สถานบริการ สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ ที่ได้มีการเตรียมความพร้อมเพื่อปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุข และผ่านการตรวจประเมินตามมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย ในระดับ SHA+ หรือตามมาตรฐานความสะอาดปลอดภัยป้องกันโรค COVID-19 รองรับสุขภาพดีวิถีใหม่ (Thai Stop Covid 2 Plus : TSC 2+) ที่มีความประสงค์จะปรับรูปแบบของสถานที่ดังกล่าว เพื่อการให้บริการในลักษณะที่เป็นร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ให้ขออนุญาตต่อสำนักงานเขตพื้นที่เพื่อตรวจสอบและประเมินความพร้อมของสถานที่ บุคลากร และการจัดการตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรคที่กำหนด อาทิ จัดบริการเจลแอลกอฮอล์ประจำร้าน จัดพื้นที่รับประทานอาหาร โดยจำกัดจำนวนผู้ใช้บริการไม่ให้แออัด และจัดที่นั่งไม่นั่งตรงข้ามกัน และปฏิบัติตามมาตรการของพื้นที่ และต้องมีมาตรการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล และโต๊ะรับประทานอาหาร 1 - 2 เมตร
นอกจากนั้น ในพื้นที่มีเครื่องปรับอากาศเว้นระยะห่างระหว่างโต๊ะรับประทานอาหาร 2 เมตร ในพื้นที่รับประทานอาหารที่มีพื้นที่จำกัด ระยะไม่ถึง 1 เมตร ให้ทำฉากกั้น โดยฉากกั้นต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อการระบายอากาศ จำกัดระยะเวลาการนั่งรับประทานอาหาร ไม่เกิน 2 ชั่วโมง หรือปฏิบัติตามมาตรการของพื้นที่ ด้านพนักงานทุกคนต้องฉีดวัคซีนครบตามเกณฑ์ที่กำหนด ได้รับการคัดกรองความเสี่ยงด้วย Thai Save Thai (TST)หรือ แอฟพลิเคชันที่ทางราชการกำหนด ทุกวัน พนักงานทุกคนตรวจ ATK ทุก 7 วัน หรือตรวจ ATK เมื่อ TST แล้วมีความเสี่ยงสูง ไม่มีกิจกรรมที่มีการสัมผัสใกล้ชิด การรวมกลุ่มการเต้นรำ การตะโกนเสียงดัง เป็นต้น โดยต้องได้รับอนุญาตภายในวันที่ 15 ม.ค.ก่อนเปิดให้บริการได้ภายใต้การกำกับติดตามของพนักงานเจ้าหน้าที่อย่างใกล้ชิด และให้บริการบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ในร้านได้ไม่เกินเวลา 21.00 น.
ทั้งนี้ ผู้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามอาจมีความผิดตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 มาตรา 51 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือมาตรา 52 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แล้วแต่กรณี และอาจมีความผิดตามมาตรา 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2558 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
สำหรับ สถานบริการ สถานประกอบการที่คล้ายสถานบริการที่เปลี่ยนแปลงเป็นร้านอาหารที่สามารถบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ข้อมูล ณ วันที่ 15 ม.ค.65) จากการสำรวจสถานบริการทั้งหมด 819 แห่ง ขออนุญาตเปลี่ยนแปลงเป็นร้านอาหาร 413 แห่ง มี SHA+ 198 แห่ง ไม่มี SHA+ 215 แห่ง ดำเนินการตามมาตรการ THAI STOP COVID 2Plus จำนวน 304 แห่ง ส่วนอีก 109 แห่ง อยู่ระหว่างแนะนำให้ทำการประเมิน
ทั้งนี้ กรุงเทพมหานคร ได้จัดเจ้าหน้าที่เทศกิจ เจ้าหน้าที่สิ่งแวดล้อม เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน เจ้าหน้าที่สำนักอนามัย บูรณาการความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ทหาร และผู้เกี่ยวข้อง ตรวจสถานประกอบการ ร้านอาหาร ตลาด สถานบริการการต่าง ๆ โดยเฉพาะ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ โดยให้ปฏิบัติตามมาตรการควบคุมป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนด รวมทั้งเข้มงวดมาตรการกวดขันตรวจสอบสถานที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรฐานโดยต้องมี SHA + หรือ TSC 2+ เท่านั้น พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ สร้างความตระหนักรู้และเน้นย้ำความร่วมมือของผู้ประกอบการ เจ้าของกิจการ เช่น ร้านอาหารที่ปรับเปลี่ยนมาจาก ผับ บาร์ คาราโอเกะ ต้องผ่านเกณฑ์มาตรฐานที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดและให้ปฏิบัติตามมาตรการ COVID Free Setting โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อมสถานที่ ด้านตัวบุคลากรผู้ให้บริการ รวมถึงผู้รับบริการ ต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด รวมถึงให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล (Universal Prevention For Covid-19)