ผู้ว่าฯกทม.ตรวจเข้มแรงงานต่างด้าวในตลาดอ.ต.ก.พร้อมสั่งทุกเขตปูพรมตรวจแคมป์คนงานก่อสร้างทั้งหมด ตลาด 56 แห่งเพื่อคัดกรองโควิด-19
เมื่อวันที่ 21 ธ.ค.พล.ต.อ.อัศวินขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม.นำผู้บริหารลงพื้นที่ตรวจมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ตลาด อ.ต.ก.เขตจตุจักร โดยเดินพูดคุยกับผู้ค้าและแจกคู่มือแนวทางปฏิบัติเพื่อรณรงค์ให้ผู้ค้าและผู้เข้ามาใช้บริการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด-19 เนื่องจาก ตลาด อ.ต.ก.ถือเป็นตลาดที่ผู้เข้ามาใช้บริการเป็นจำนวนมาก มีผู้ค้าทั้งหมด 608 แผง ทั้งแผงอาหารปรุงสำเร็จ อาหารสด ขนม ผลไม้ ทำให้ กทม.ได้ขอให้ผู้ค้าและผู้มาใช้บริการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคโควิดอย่างเข้มข้น
พล.ต.อ.อัศวิน เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ว่า ช่วงเช้ากทม.ได้ส่งเจ้าหน้าที่จากศูนย์สาธารณสุข กทม. 60 กว่าแห่งและเจ้าหน้าที่สำนักการแพทย์กระจายเข้าไปตรวจกลุ่มบุคคลในตลาด 56 แห่ง จะใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์คาดว่าจะได้ผลตรวจประมาณ 6-7 พันคน โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานต่างด้าว กทม.ต้องตรวจให้ละเอียดทั้งหมดทุกตลาด ซึ่งกลุ่มแรงงานต่างด้าวภายในตลาด อ.ต.ก.ที่มาลงทะเบียนเพื่อรับการตรวจในวันนี้ทั้งหมด 120 คนมีการสอบประวัติทุกคนแล้วเป็นแรงงานถูกกฎหมาย
ทั้งนี้ ในส่วนแคมป์คนงานก่อสร้างจะปูพรมตรวจทั้งหมด โดยให้สำนักงานเขต และสำนักการโยธารายงานเข้ามาว่า ไซต์งานในพื้นที่มีจำนวนเท่าใด โดยจะมีการตรวจทั้งหมดทั่วกรุงเทพฯ จึงขอฝากไปถึงกลุ่มแรงงานต่าวด้าวไม่ต้องกลัว ขอให้มาตรวจ ยืนยันว่า มีการตรวจฟรีและรักษาให้โดยนไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย แต่หากประชาชนคนไหนติดเชื้อแต่ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นโควิด อาจทำให้คนใกล้ชิดติดเชื้อและจะลามไปเรื่อยๆ ได้
พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวว่า ตั้งแต่เมื่อคืนวันที่ 20 ธ.ค. กทม.ได้ตั้งด่านเส้นทางที่จะเข้าพื้นที่กรุงเทพฯ 5 จุดนั้นมีบุคลากร กทม. เจ้าหน้าที่ตำรวจลงพื้นที่มาช่วยกันตรวจสอบไม่ให้แรงงานต่างด้าวเข้ามาในพื้นที่กรุงเทพฯ เด็ดขาด จากคำสั่งผู้ว่าฯสมุทรสาครห้ามเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวในจังหวัดที่มีกว่า 2-3 แสนคน นอกจากนี้ เมื่อคืนที่ผ่านมาได้มอบหมายให้บุคลากร กทม.ไปตรวจสถานบริการ ร้านอาหาร เพื่อรณรงค์ให้เว้นระยะห่าง ส่วนสถานประกอบการใดมีกิจกรรมการเต้น ได้ร้องขอให้หยุดกิจกรรมการเต้นเช่นกัน แต่หากมีการฝ่าฝืนจะถูกปิดร้านทันที
ด้านนางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัด กทม.กล่าวว่าได้รับแจ้งกรณีพบผู้ติดเชื้อเขตสายไหม เป็นคนงานอยู่โรงงานเย็บผ้าที่เขตบางขุนเทียน แต่ไม่ได้ทำงานที่โรงงานดังกล่าวแล้ว จึงย้ายมาที่โรงงานเขตสายไหมจำนวน 4 คน โดยโรงงานเย็บผ้าที่เขตสายไหมพบว่า มีแรงงานชาวพม่าเหมือนกันรวมทั้งหมด 11 คน โดยสำนักงานเขตได้เข้าไปตรวจสอบแล้วพร้อมดูแลไม่ให้เคลื่อนย้ายไปไหนและแรงงานกลุ่มนี้ไม่ได้มาจาก จ.สมุทรสาคร