BKK NEWS

โดย กองบรรณาธิการ M2F

05 มกราคม 2563 : 15:15 น.

อิหร่านประกาศเจตนาแน่วแน่ว่าจะแก้แค้นสหรัฐอย่างสาสมกับการเสียบุคคลสำคัญระดับกองทัพ แต่ยังไม่ชัดเจนว่าจะเป็นไปในรูปแบบใดตั้งแต่สงครามจนถึงการทูต 

การปลิดชีพ กัสซิม โซเลมานี ผู้บัญชาการหน่วยรบพิเศษกองกำลังกุดส์ (Quds Force) และคีย์แมนหลักในการวางแผนของกองทัพอิหร่าน ส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับอิหร่านถึงขั้นเลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่นักศึกษาอิหร่านบุกยึดสถานทูตสหรัฐในกรุงเตหะรานเมื่อปี 1979 ถึงกับเกิดความกังวลกันว่าการสังหารบุคคลสำคัญของอิหร่านอาจนำมาสู่การเปิดฉากสงครามเต็มรูปแบบ

ภาพที่เผยแพร่ในเฟซบุ๊คของฝ่ายข่าวของกองกำลังร่วมอิรัก เผยให้เห็นซากรถยนต์หลังโดรนของสหรัฐปล่อยมิสไซล์สังหาร กัสซิม โซเลมานี ในสนามบินนานาชาติแบกแดดของอิรัก ภาพ : เอเอฟพี

แม้ว่า อยาตุลเลาะห์ อาลี คอเมเนอี ผู้นำสูงสุดของอิหร่านประกาศจะแก้แค้นสหรัฐอย่างสาสม แต่นักวิเคราะห์มองว่าการตอบโต้ด้วยการใช้กำลังทางทหารตามแบบ (conventional military forces) ไม่น่าจะเป็นผลดีกับอิหร่าน

เอลลี เกอรานมาเยห์ ผู้ช่วยด้านนโยบายจากสภาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในยุโรป เผยกับสำนักข่าว HuffPost ว่า “อิหร่านรู้ตัวดีว่าไม่สามารถมีชัยเหนือสหรัฐหากทำสงครามทางทหาร แต่หากเป็นสงครามแบบกองโจร (insurgent-style attacks) อิหร่านได้เปรียบกว่าสหรัฐ”

อานุภาพของกองกำลังทหารอิหร่านเทียบไม่ได้กับกองทัพสหรัฐ หรือแม้แต่อิสราเอลที่เป็นปรปักษ์กันเช่นกัน การสู้รบของอิหร่านส่วนใหญ่จึงพึ่งพาการรบในแบบกองโจรเป็นหลัก อิหร่านตระเตรียมเครือข่ายกองกำลังติดอาวุธภายใต้การนำของโซเลมานีมายาวนาน และเป็นไปได้ว่าหลังการเสียชีวิตของโซเลมานีกองกำลังเหล่านี้อาจลุกขึ้นมาแก้แค้น

ผลประโยชน์ ทรัพย์สิน รวมทั้งสถานทูต สถานกงสุล เส้นทางเดินเรือ และคลังน้ำมันของสหรัฐกระจายอยู่ทั่วโลก สิ่งเหล่านี้เสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อการตอบโต้ของอิหร่าน

หากอิหร่านปิดช่องแคบฮอร์มุซ ซึ่งเป็นช่องทางการขนส่งน้ำมันที่สำคัญในภูมิภาคย่อมส่งผลกระทบกับทั้งสหรัฐและอีกหลายประเทศทั่วโลก

อีกทางหนึ่ง อิหร่านอาจจะเล็งเป้าไปที่พันธมิตรของสหรัฐในตะวันออกกลาง ซึ่งอาจจะเพิ่มตัวละครเข้ามาพัวพันในความขัดแย้งนี้มากขึ้น และสหรัฐก็รู้จุดอ่อนของตัวเองข้อนี้ดี ล่าสุดทั้งสหรัฐและประเทศพันธมิตรอื่นๆ สั่งเพิ่มระดับการรักษาความปลอดภัยตามสถานทูต และสหรัฐยังส่งกองกำลังทหารไปประจำในตะวันออกกกลางเพื่อรับมือกับภัยจู่โจมจากอิหร่านอีก 3,000 นาย

นอกจากนี้ อิหรานกับบรรดาพันธมิตรที่เป็นตัวแทนทั้งหลายอาจพุ่งเป้าไปที่พลเมืองสหรัฐในตะวันออกกลาง หรืออาจลงมือสังหารคนของสหรัฐกันเองโดยไม่รอฟังคำสั่งใคร หากเลือกวิธีนี้คงไม่ต่างอะไรจากการเติมเชื้อไฟที่กำลังลุกโหมอยู่แล้วให้ขยายวง

ผู้เชี่ยวชาญยังมองอีกว่า อิหร่านเองค่อนข้างระมัดระวังตัวว่าหากลงมือโจมตีสหรัฐหรือผลประโยชน์ของสหรัฐที่อยู่ต่างประเทศอาจนำมาซึ่งการโจมตีทางอากาศในอิหร่าน โดยอิหร่านอาจเลือกตอบโต้ทางอ้อมแทน

การโจมตีทรัพย์สินของสหรัฐที่ผ่านมาล้วนเป็นฝีมือของกองกำลังที่ไม่ได้มาจากอิหร่านโดยตรงแต่มีส่วนเกี่ยวข้องกับอิหร่าน ทำให้คำปฏิเสธว่าไม่เกี่ยวข้องของอิหร่านฟังดูมีน้ำหนัก กองกำลังกลุ่มนี้มีระดับความเป็นอิสระของตัวเอง และผู้นำกองกำลังติดอาวุธ Popular Mobilization Forces ที่มีส่วนเชื่อมโยงกับอิหร่านยังพลอยถูกสังหารในครั้งนี้ด้วย จึงเป็นไปได้ว่ากองกำลังเหล่านี้อาจหาทางล้างแค้นกันเอง ยิ่งทำให้สถานการณ์ซับซ้อนขึ้น

ชาวอิหร่านรวมตัวกันหน้าสำนักงานองค์การสหประชาชาติในกรุงเตหะรานเพื่อประท้วงการลอบสังหารโซเลมานี

ทว่าการใช้กำลังทางทหารไม่ใช่ตัวเลือกเพียงอย่างเดียวของอิหร่าน

นับตั้งแต่ทรัมป์ประกาศถอนตัวออกจากข้อตกลงนิวเคลียร์เมื่อกลางปี 2018 และเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรอิหร่าน อิหร่านมักขู่ว่าจะไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงยุติโครงการนิวเคลียร์และกลับมาสะสมแร่ยูเรเนียมสมรรถนะต่ำเพิ่มขึ้น ก่อนการเสียชีวิตของโซเลมานี อิหร่านมีแผนประกาศแผนนิวเคลียร์ในสัปดาห์หน้า และอาจใช้โอกาสนี้ขยับออกห่างจากข้อตกลงนิวเคลียร์มากขึ้น

หรืออาจเป็นไปได้ว่าอิหร่านอาจใช้วิธีทางการทูตแก้ปัญหาแทนการเผชิญหน้า สำนักข่าวรอยเตอร์สมองว่า ในอดีตผู้นำอิหร่านมักจะไม่ปิดกั้นหนทางการเจรจาเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงเวลาที่เศรษฐกิจของประเทศได้รับผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐ การิม ซาดจาดปูร์ นักวิเคราะห์จากมูลนิธิคาร์เนกีเพื่อสันติภาพระหว่างประเทศเผยว่า บางคนอาจกังวลว่าจะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 แต่ประวัติศาสตร์ของอิหร่านในช่วง 40 ปีที่ผ่านมาสะท้อนว่าอิหร่านให้ความสำคัญกับการอยู่รอดของประเทศเป็นอันดับแรก การถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการสูญเสียโซเลมานี ส่งผลให้อิหร่านขาดศักยภาพในการเปิดสงครามเต็มรูปแบบกับสหรัฐ

โอกาสที่อิหร่านจะเอาคืนสหรัฐด้วยการโจมตีทางไซเบอร์ก็มองข้ามไปไม่ได้ ที่ผ่านมาอิหร่านอยู่เบื้องหลังการโจมตีทางไซเบอร์หลายครั้ง อาทิ ปี 2012 โจมตีวอลล์สตรีทจนเว็บไซต์ล่มเพื่อเอาคืนมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐ ปี 2015 ตุรกีอ้างว่าอิหร่านโจมตีระบบโครงข่ายไฟฟ้าจนประชาชน 40 ล้านคนไม่มีไฟฟ้าใช้

อีก 2 ปีต่อมาอีเมลของเจ้าหน้าที่รัฐสภาอังกฤษถูกเล่นงานโดยแฮกเกอร์ที่มีส่วนเชื่อมโยงกับอิหร่าน และเมื่อต้นปีที่แล้วแฮกเกอร์อิหร่านล้วงข้อมูลของรัฐบาลสหรัฐไปหลายเทราไบท์

อย่างไรก็ดี ไม่ว่าอิหร่านจะตอบโต้ด้วยวิธีไหน นักวิเคราะห์เตือนว่า การลอบสังหารโซเลมานีมีแต่จะทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงยากต่อการแก้ไข แม้สหรัฐจะอ้างว่าทำไปเพื่อยับยั้งอิทธิพลของอิหร่านก็ตาม ในระยะสั้นอาจทำให้พลเมืองอเมริกันในต่างแดนตกอยู่ในอันตราย เสี่ยงต่อการเปิดฉากความขัดแย้งกับอิหร่าน และยิ่งทำให้สหรัฐพัวพันกับสถานการณ์ของประเทศอื่นมากขึ้น 

ข่าวเด่น

ข่าวที่น่าสนใจ