กรมควบคุมมลพิษเผยกทม.และปริมณฑลปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 ตรวจวัดได้ระหว่าง 40 - 78 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เกินเกณฑ์มาตรฐาน 33 สถานีเตือนประชาชนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงโปรดเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง
เมื่อวันที่ 30 ก.ย. กรมควบคุมมลพิษ รายงานสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5ไมครอน (PM 2.5) เฉลี่ย 24 ชั่วโมง พื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล วันที่ 30 กันยายน 2562 เวลา 08.00 น. โดยระบุว่า จากการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยกรมควบคุมมลพิษร่วมกับกรุงเทพมหานคร ขอรายงานข้อมูลคุณภาพอากาศ ประจำวันที่ 30 กันยายน 2562 ดังนี้ 1. ปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 ตรวจวัดได้ระหว่าง 40 - 78 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เกินเกณฑ์มาตรฐาน 33 สถานี (ค่ามาตรฐานไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
ทั้งนี้ ได้แก่ เขตบางขุนเทียน เขตปทุมวัน เขตธนบุรี เขตวังทองหลาง เขตดินแดง เขตสัมพันธวงศ์ เขตพญาไท เขตบางรัก เขตสาทร เขตบางคอแหลม เขตยานนาวา เขตจตุจักร เขตคลองสาน เขตบางกอกน้อย เขตภาษีเจริญ เขตคลองเตย เขตบางซื่อ เขตหลักสี่ เขตบางเขน เขตบึงกุ่ม เขตบางพลัด และบริเวณถนนสิริธร / จ.นนทบุรี บริเวณ อ.บางกรวย และ อ.ปากเกร็ด /จ.ปทุมธานี บริเวณ อ.คลองหลวง / จ.สมุทรปราการ บริเวณ อ.พระประแดง และ อ.เมือง / จ.สมุทรสาคร บริเวณ อ.กระทุ่มแบน และ อ. เมือง / จ.นครปฐม บริเวณ อ.เมือง
อย่างไรก็ตาม ปริมาณฝุ่นละอองมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากวันก่อนหน้าเกือบทุกพื้นที่ คุณภาพอากาศอยู่ในระดับปานกลางถึงเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ 2.สาเหตุเนื่องจากสภาพอากาศ ที่กรมอุตุนิยมวิทยารายงานว่า ช่วงเช้าลมสงบ ความชื้นสูง เกิดการผกผันกลับของอุณหภูมิในช่วงเช้า ประกอบกับระยะนี้มีฝนตกน้อยลง เป็นระยะที่กำลังเปลี่ยนฤดูกาล (transition) จึงทำให้ฝุ่นละอองสะสมเพิ่มขึ้น 3.จากสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 สูงเกินมาตรฐานดังกล่าว กระทรวงสาธารณสุขได้แจ้งเตือน ให้ประชาชนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงทางสุขภาพที่จะได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM2.5 ได้แก่ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว ในพื้นที่ที่ฝุ่นละอองเกินมาตรฐานควรหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรม หรือออกกำลังกายกลางแจ้ง หากจำเป็นต้องออกนอกบ้านเป็นเวลานาน ควรสวมหน้ากากอนามัย เพื่อเป็นการป้องกันฝุ่นละออง รวมถึงป้องกันโรคติดต่อในระบบทางเดินหายใจ ซึ่งเป็นไปตามหลักการป้องกันไว้ก่อน
4.กรมควบคุมมลพิษ กทม. บก.จร. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขอความร่วมมือประชาชนงดการเผาในที่โล่งทุกชนิด บำรุงรักษาเครื่องยนต์ไม่ให้เกิดควันดำ ใช้ระบบขนส่งสาธารณะทดแทนการใช้รถส่วนบุคคล ตรวจสอบและไม่ใช้รถขนส่งสาธารณะที่มีควันดำ และขอความร่วมมือสถานที่ก่อสร้างและโรงงานอุตสาหกรรมควบคุมและลดการระบายฝุ่นและมลพิษทางอากาศ