BKK NEWS

โดย กองบรรณาธิการ M2F

29 พฤษภาคม 2565 : 15:51 น.

"ชัชชาติ"สำรวจชุมชนแออัดย่านทองหล่อ ชี้แม้ส่วนใหญ่ตั้งที่อยู่อาศัยผิดกฎหมายก็ต้องดูแล เพราะผู้อาศัยเป็นแรงงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจเมือง หนุนใช้ "โครงการบ้านมั่นคง" เข้ามาช่วยแก้ปัญหา

เมื่อวันที่ 29 พ.ค.นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) พร้อมด้วย ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ หัวหน้าทีมนโยบายเศรษฐกิจ "เพื่อนชัชชาติ" เดินทางลงพื้นที่เขตวัฒนาร่วมกับ นักวิจัย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ, ผู้อำนวยการเขตวัฒนา และ ว่าที่ ส.ก. เขตวัฒนา พรรคก้าวไกล เพื่อสำรวจชุมชนหลังสถานีตำรวจนครบาลทองหล่อ (สน.ทองหล่อ) ชุมชนริมคลองเป้ง และชุมชนลีลานุช

นายชัชชาติ กล่าวว่า ทองหล่อเป็นพื้นที่เศรษฐกิจขนาดใหญ่ของกรุงเทพฯ มีชุมชนแออัดในพื้นที่จำนวน 3 แห่ง ประกอบด้วย ชุมชนหลังสน.ทองหล่อ ชุมชนคลองเป้ง และชุมชนลีลานุช มีประชากรประมาณ 400 หลังคาเรือน ส่วนใหญ่ตั้งที่อยู่อาศัยโดยผิดกฎหมาย ก่อนหน้านี้เคยมาเยี่ยมในช่วงโควิดระบาด ทราบว่าผู้อยู่อาศัยส่วนใหญ่ทำงานในย่านทองหล่อ-เอกมัย และจำเป็นต้องอาศัยใกล้แหล่งงาน ถือเป็นแรงงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจเมือง เช่น ประกอบอาชีพพนักงานรักษาความปลอดภัย แม่บ้าน คนขับรถจักรยานยนต์รับจ้าง

นายชัชชาติ กล่าวว่า กทม. สามารถมีบทบาทด้านการประสานงานกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) (พอช.) ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เดินหน้าโครงการบ้านมั่นคงเพื่อจัดหาที่อยู่อาศัยให้ผู้มีรายได้น้อย ส่งเสริมระบบการออมเงินในชุมชน ตลอดจนการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีในช่วงย้ายที่อยู่อาศัยใหม่

"จะบอกว่าเขาทำผิดกฎหมายแล้วไม่ดูแลเลย ผมว่าทำไม่ได้ เราต้องช่วยหาทางขยับขยาย ผมว่าแนวคิดบ้านมั่นคงดีนะ ให้มีการออมแล้วหาที่เช่าที่ถูกกฎหมาย แล้วขยับขยายไป ขณะเดียวกันช่วงย้ายที่อยู่อาศัยก็ต้องดูแลคุณภาพชีวิต เพราะในบ้านมีทั้งเด็กและคนแก่อยู่ อย่าคิดว่าเป็นสุญญากาศ เราต้องมองเขาเป็นเพื่อนมนุษย์เหมือนกัน ที่มีความยากลำบาก ชีวิตแต่ละวันผ่านไปก็ไม่ง่าย ถ้าต้องมากังวลเรื่องที่อยู่ มันลำบาก แล้วหลายคนก็ทำงานบริเวณนี้แหละ ในทองหล่อ ในเอกมัย เป็นแม่บ้าน เป็นรปภ. เป็นวินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง เป็นเครื่องจักรของเมืองที่ทำให้เมืองเดินได้ เราต้องดูแลเขาด้วยความเป็นมนุษย์"นายชัชชาติ กล่าว

นายชัชชาติ ยังได้เยี่ยมชมหน่วยบริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ชัชชาติ กล่าวว่า การให้บริการสาธารณสุขของ กทม. มีความซับซ้อน โดยแบ่งเป็นระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ ทั้งนี้ หน้าที่สำคัญที่สุดของ กทม. คือ การให้บริการระดับปฐมภูมิซึ่งถือเป็นด่านแรกในการเผชิญปัญหา ปกติด่านแรกที่ให้บริการคือศูนย์บริการสาธารณสุข ปัจจุบันมีจำนวน 69 แห่งทั่ว กทม. ซึ่งยังพบปัญหาการกระจายศูนย์ไม่ทั่วถึง ห่างไกลบ้านเรือนชุมชน ตลอดจนจำนวนบุคลากรไม่เพียงพอ ดังนั้น จึงมีนโยบายให้บริการหน่วยสาธารณสุขถึงชุมชนโดยร่วมมือกับภาคเอกชน และ สปสช.

นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดใช้เทคโนโลยี “เทเลเมด” รถตรวจสุขภาพเชิงรุกถึงชุมชน เพื่อลดต้นทุนเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ตลอดจนเพิ่มจำนวนและส่งเสริมความเข้มแข็งของเครื่องอาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) ในพื้นที่ กทม. อีกด้วย

"นี่คือตัวอย่างการบริการจัดการสาธารณสุขให้เข้มแข็งในระดับเส้นเลือดฝอย ผมเชื่อว่าทำตรงนี้ให้เข้มแข็งแล้วมันจะเป็นด่านหน้าที่ปะทะ ไม่ต้องให้คนไปป่วยโรงพยาบาลใหญ่ ช่วยลดคิวและเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการมากขึ้น"นายชัชชาติกล่าว

ข่าวเด่น

ข่าวที่น่าสนใจ