BKK NEWS

โดย กองบรรณาธิการ M2F

17 พฤษภาคม 2565 : 12:45 น.

ปลัดกทม.ตรวจดูความพร้อมของโรงเรียนราชบพิธเปิดเรียน (On-site) วันแรก ย้ำโรงเรียนในสังกัดกทม.มีความพร้อม 100% ย้ำให้ทุกโรงเรียนปฎิบัติตามมาตรการของศบค.และสธ.ในการคุมโควิดอย่างเคร่งครัด

เมื่อวันที่ 17 พ.ค. นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร ตรวจเยี่ยมความพร้อมของโรงเรียนในการเปิดเรียน (On-site) ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 โดยมี ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร สำนักการศึกษา สำนักเทศกิจ สำนักงานเขตพระนคร และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมตรวจเยี่ยม ณ โรงเรียนราชบพิธ เขตพระนคร

นายขจิต กล่าวว่า กรุงเทพมหานครเตรียมความพร้อมโรงเรียนในสังกัดทั้ง 437 โรงเรียน เพื่อรองรับการเปิดภาคเรียนที่ 1 ประจำปีการศึกษา 2565 แบบ On-Site ทุกระดับชั้น 100% ในช่วงหนึ่งเดือนแรกจะเป็นการปรับความรู้ในฐานของปี 64 เพื่อจัดกลุ่มเด็กแต่ละกลุ่ม และจัดการเรียนการสอนให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เชื่อมั่นว่าทุกโรงเรียนจะปรับฐานความรู้ของเด็กเป็นฐานเดียวกันและเดินหน้าต่อไป โดยการจัดการเรียนการสอนจะใช้รูปแบบ On-Site หรือการเรียนที่โรงเรียนเป็นส่วนใหญ่ และใช้การสอนในอีก 4 รูปแบบ ได้แก่ Online, On-Air, On Hand, และ On School LINE มาผสมผสานร่วมกับการสอนแบบ On-Site ด้วย เพื่อยังคงส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้แบบวิถีใหม่ (New Normal)

ทั้งนี้ ทุกโรงเรียนจะปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ ศบค.และกระทรวงสาธารณสุขกำหนดอย่างเคร่งครัด คือ จัดชั้นเรียนให้โต๊ะเรียนมีระยะห่างอย่างน้อย 1 เมตร กำชับดูแลให้นักเรียนสวมใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลา จัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยงดเว้นการสัมผัสใกล้ชิด เน้นการปฏิบัติตาม 6 มาตรการหลัก 6 มาตรการเสริม และ 7 มาตรการเข้ม อย่างต่อเนื่อง มีการซักซ้อมแผนเผชิญเหตุอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 ในโรงเรียน ให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดแก่นักเรียน ตลอดจนสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ปกครองในการส่งบุตรหลานมาเรียนในโรงเรียนสังกัด กทม.

สำหรับ แนวปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของสถานศึกษา กรณีนักเรียน ข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษากรุงเทพมหานคร และผู้ปฏิบัติงานในโรงเรียนเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ ให้เปิดเรียน On-Site ตามปกติ โดยปฏิบัติตามมาตรการ Universal Prevention และประเมิน Thai Save Thai (TST) ส่วนกรณีนักเรียน ข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษากรุงเทพมหานคร และผู้ปฏิบัติงานในโรงเรียนเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง หากเป็นผู้ไม่ได้รับวัคซีนโควิด-19 ตามแนวทางปัจจุบัน ทั้งผู้มีอาการและไม่มีอาการ แนะนำให้กักกันตัวเป็นเวลา 5 วัน และเฝ้าระวังอาการอีก 5 วัน

อย่างไรก็ตาม หากเป็นผู้ได้รับวัคซีนโควิด-19 ครบโดส ถ้าไม่มีอาการไม่แนะนำให้กักกัน ควรพิจารณาให้ไปเรียนได้ หากมีอาการ ตรวจคัดกรองหาเชื้อด้วย ATK โดยให้ตรวจทันที หากไม่มีอาการให้ตรวจครั้งที่ 1 วันที่ 5 หลังสัมผัสผู้ติดเชื้อ และตรวจครั้งที่ 2 วันที่ 10 หลังสัมผัสผู้ติดเชื้อ โดยกำหนดให้สถานศึกษาจัดการเรียนการสอนอย่างเหมาะสม ใน 5 วันแรก ควรเว้นระยะห่างไม่น้อยกว่า 2 เมตร ในกรณีนักเรียน ข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษากรุงเทพมหานคร และผู้ปฏิบัติงานในโรงเรียนเป็นผู้ติดเชื้อยืนยัน ให้ปิดห้องเรียนที่พบผู้ติดเชื้อไม่น้อยกว่า 2 ชั่วโมง เพื่อทำความสะอาดตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข แล้วให้เปิดใช้ห้องเรียนได้ ห้องเรียนอื่นที่ไม่พบผู้ติดเชื้อเปิดเรียน On-Site ตามปกติ งดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มกัน โดยเฉพาะระหว่างห้องเรียน

ปลัดกทม. กล่าวว่า ในส่วนของการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษากรุงเทพมหานคร มีจำนวน 14,493 คน ได้รับวัคซีนแล้ว 14,291 คน คิดเป็นร้อยละ 98.61 ยังไม่ได้รับวัคซีน 202 คน คิดเป็นร้อยละ 1.39 นักเรียนในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครระดับชั้นอนุบาล 1 - ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวนนักเรียนทั้งสิ้น 222,213 คน ได้รับวัคซีนแล้ว 108,144 คน คิดเป็นร้อยละ 48.67 ยังไม่ได้รับวัคซีน จำนวน 114,069 คน คิดเป็นร้อยละ 51.33 ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1- ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 จำนวนนักเรียนทั้งสิ้น 38,947 คน ได้รับวัคซีนแล้ว 33,180 คน คิดเป็นร้อยละ 85.19 ยังไม่ได้รับวัคซีน จำนวน 5,767 คน คิดเป็นร้อยละ 14.81 (ข้อมูล ณ วันที่ 6 พ.ค.65)

สำหรับ ด้านความปลอดภัย กรุงเทพมหานครมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตรวจสอบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) ภายในโรงเรียนให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานตลอดเวลา ตรวจสอบระบบไฟฟ้าภายในโรงเรียนให้อยู่ในสภาพเรียบร้อย สามารถใช้งานได้อย่างปลอดภัย ตรวจสอบการติดตั้งสายดินของเครื่องทำน้ำเย็น ตรวจสอบความพร้อมของอาคารเรียน ห้องเรียน เครื่องเล่น เด็กด้านสภาพแวดล้อม ความสะอาด และวัสดุการเรียนการสอน ควบคุมดูแลและกำชับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยให้ปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัยของโรงเรียนโดยเคร่งครัด เตรียมความพร้อมด้านสุขาภิบาลอาหารก่อนวันเปิดภาคเรียนของสถานศึกษา ควบคุมดูแลการประกอบอาหารของแม่ครัว ความสะอาดของโรงอาหาร ภาชนะ เครื่องใช้ และการจัดเก็บนมโรงเรียน ตลอดจนการจัดเก็บอาหารสด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการปนเปื้อนในอาหาร จนเกิดโรคอุจจาระร่วงหรืออาหารเป็นพิษได้ เตรียมความพร้อมสถานพยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ตลอดจนมาตรการในการเข้ารับวัคซีน ทั้งผู้ปกครอง นักเรียน ข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา และผู้ปฏิบัติงานในโรงเรียน เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดต่อในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร

นอกจากนั้น ย้ำให้ตรวจสอบสัญญาณไฟกระพริบและทางม้าลายบริเวณหน้าโรงเรียนให้พร้อมใช้งาน รวมทั้งประสานงานกับกรมเจ้าท่า ตรวจสอบท่าเทียบเรือเพื่อปรับปรุงให้มีความมั่นคงแข็งแรง กำชับผู้ปกครองหรือผู้ประกอบการรถตู้ ที่ใช้รถตู้ในการรับ-ส่งนักเรียน ตรวจสอบภายในรถตู้ทุกครั้งเมื่อส่งนักเรียนที่โรงเรียนแล้ว นอกจากนี้ สำนักงานเขตได้จัดเจ้าหน้าที่เทศกิจดูแลอำนวยความสะดวกจราจรบริเวณหน้าโรงเรียนให้นักเรียน ผู้ปกครอง และประชาชนทั่วไป ตามโครงการเทศกิจอาสาพาน้องข้ามถนนและอาสาจราจร รวมทั้งเตรียมความพร้อมในการเข้าระงับเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น เหตุเพลิงไหม้ หรือสาธารณภัยอื่น ๆ ในบริเวณโรงเรียนหรือสถานที่ใกล้เคียง รวมถึงการจัดกิจกรรม Big Cleaning Day โรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครทั้ง 437 โรงเรียน ให้มีการทำความสะอาด วัสดุ อุปกรณ์ อาคารเรียนอาคารบริการ โรงอาหาร ห้องน้ำ เครื่องเล่น และบริเวณโดยรอบโรงเรียน ให้สะอาด ปลอดภัย ปราศจากเชื้อโรคอย่างต่อเนื่อง

ข่าวเด่น

ข่าวที่น่าสนใจ