BKK NEWS

โดย กองบรรณาธิการ M2F

12 เมษายน 2565 : 13:33 น.

"สกลธี"เผยจะนำแนวคิด Smart Farming การเกษตรต้นทุนต่ำ ประหยัดค่าไฟ มาสร้างงานสร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ให้ชุมชนในกรุงเทพฯใช้ Res-Q Farm ย่านคลองสามวา เป็นต้นแบบเกษตรกรรมวิถีใหม่ที่ไม่ใช้สารเคมี

เมื่อวันที่ 12 เมษายน นายสกลธี ภัททิยกุล ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม. หมายเลข 3 ร่วมเวทีเสวนา หาทางออกให้กับปัญหาปากท้องคน กทม.โดยกล่าวว่า จะแก้ปัญหาปากท้องของประชาชน ด้วยการนำแนวคิด Smart Farming มาต่อยอดเป็นนโยบายสร้างงานสร้างอาชีพ โดยยก Res-Q Farm ฟาร์มทดลองขนาด 9 ไร่ ในย่านคลองสามวา เป็นต้นแบบเกษตรกรรมวิถีใหม่ที่ไม่ใช้สารเคมี สามารถลดต้นทุน และสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ ผ่านเวทีเสวนาที่มี นายวีระ สรแสดง เจ้าของ Res-Q Farm มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ โดยนายสกลธีพร้อมรับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะจากประชาชน รวมถึงกลุ่มเกษตรกรรุ่นใหม่ในชุมชน

“ผมมองว่าพื้นที่รอบนอกกรุงเทพฯ หลายแห่งยังเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ซึ่งมักประสบปัญหาด้านต้นทุนและผลผลิต การส่งเสริมให้เกษตรกร รวมไปถึงคนทำงานที่สนใจการเกษตรวิถีใหม่ได้มีความรู้และเข้าใจการทำเกษตรกรรมแบบ Smart Farming ที่สามารถทำได้ไม่ยาก จะช่วยลดปัญหาตรงนี้ลงได้ ซึ่งผมได้เลือก Res-Q Farm เป็นฟาร์มต้นแบบ ซึ่งสามารถเปลี่ยนพื้นที่ที่มีปัญหา ทั้งที่ดินต่ำกว่าถนน น้ำท่วม ไม่มีไฟฟ้า และดินไม่ดี ให้เป็นฟาร์มแบบออร์แกนิก ไม่ใช้สารเคมี และเน้นพลังงานสะอาดในการบริหารจัดการ โดยนำวัสดุเหลือใช้อย่างเช่น มอเตอร์เครื่องซักผ้า มอเตอร์ตู้เย็น อุปกรณ์รถยนต์ มาประยุกต์สร้างสรรค์เป็นเครื่องมือต่างๆ และใช้พลังงานจากโซลาร์เซลเป็นหลัก ทำให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและประหยัดค่าไฟฟ้า ทั้งยังสร้างรายได้ด้วยการส่งขายและแปรรูปเป็นอาหาร”นายสกลธีกล่าว

ทั้งนี้ เมื่อครั้งยังเป็นรองผู้ว่าฯ กทม.ตนได้นำแนวคิดนี้ไปทดลองทำเป็นแปลงเกษตรและบรรจุสอนเป็นวิชาที่โรงเรียนฝึกอาชีพของกรุงเทพมหานคร (หนองจอก) พร้อมกับทำเป็นศูนย์การฝึกอาชีพของคนพิการทุกประเภทด้วย ซึ่งคาดว่าจะทำการเรียนการสอนได้ในเร็ว โดยยโมเดล Smart Farming นี้ตนจะนำไปต่อยอดไปสู่การสนับสนุนให้พี่น้องชาวกรุงเทพฯ นำความรู้เรื่อง Smart Farming ไปใช้ในการปลูกพืชผักในพื้นที่ของตัวเอง อาจจะเป็นสวนหลังบ้าน ระเบียงบ้าน หรือในลานจอดรถ เพื่อสร้างรายได้จุนเจือครอบครัว เน้นปลูกผักไฮโดรโปนิกส์หลายชนิด รวมถึงพืชผักที่มีราคาดีอย่างโรสแมรี่ ออริกาโน่ ผักเคล เห็ด ชาทาร์รากอน โดยมีฝ่ายพัฒนาชุมชนของกรุงเทพมหานครทั้ง 50 เขต ให้การสนับสนุนช่วยเหลือ ทั้งการให้ความรู้ สนับสนุนเมล็ดพันธุ์ และหาช่องทางการจำหน่ายให้ เป็นการให้ให้ทุกบ้านสามารถทำการเกษตรเป็นอาชีพ ทั้งอาชีพหลักและอาชีพเสริมได้อย่างครบวงจร

สำหรับ การเสวนาและนำเสนอนโยบายครั้งนี้ได้รับความสนใจจากประชาชนในพื้นที่ ตลอดจนคนรุ่นใหม่ที่สนใจวิถีเกษตรกรรมแบบ Smart Farming เข้าร่วมรับฟังจำนวนมาก พร้อมทั้งได้นำเสนอปัญหาที่อยากให้กรุงเทพมหานครดำเนินการแก้ไข โดยเฉพาะปัญหาเกี่ยวกับปากท้อง ซึ่งนายสกลธีได้รับฟังและร่วมถกถึงหนทางแก้ไข เพื่อนำไปบรรจุลงในนโยบายในการพัฒนากรุงเทพฯ ให้ดีกว่านี้

ข่าวเด่น

ข่าวที่น่าสนใจ