พช.จัดงาน
เมื่อวันที่ 9 ส.ค.ที่เวทีกลางอิมแพ็ค เมืองทองธานี ภายในงาน"ศิลปาชีพประทีปไทย OTOP ก้าวไกลด้วยพระบารมี 2563" กรมการพัฒนาชุมชน(พช.) กระทรวงมหาดไทย จัดสัมภาษณ์พิเศษครูศิลป์แห่งแผ่นดิน 4 คน ประกอบด้วย นางคำสอน สระทอง จาก จ.กาฬสินธุ์ นางประจวบ จันทร์นวล จาก จ.บุรีรัมย์ นางวงเดือน อุดมเดชาเวทย์ จาก จ.นครพนม และ นางสุนา ศรีบุตรโคตร จาก จ.อุดรธานี โดยมี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน และดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ร่วมซักถาม
นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า รู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับเกียรติจากครูศิลป์แห่งแผ่นดิน 4 ใน 5 ทหารเสือศิลปาชีพ ซึ่งถือเป็นบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์วงการผ้าไทยที่ร่วมฟื้นฟู สืบสานการทอผ้า สนองพระราชปณิธานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จนทำให้ผ้าไทยไม่สูญหายไปจากแผ่นดินไทย
"ครูศิลป์แห่งแผ่นดิน 5 ทหารเสือศิลปาชีพได้ถวายงานมาอย่างยาวนาน น่าเสียดายที่วันนี้มาได้เพียง 4 ท่าน อีกท่านหนึ่ง คือแม่คำใหม่ โยคะสิงห์ เพิ่งเสียชีวิตไป พระราชปณิธานอันแน่วแน่ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการอนุรักษ์ ส่งเสริม และสนับสนุนผ้าไทย ยังคงสืบสานอย่างสม่ำเสมอ พระองค์ท่านไม่เคยหยุดเลย และทั้ง 5 ทหารเสือศิลปาชีพ ได้กลายเป็นผู้นำชาวบ้าน ฝึกสอนและพัฒนาฝีมือ รวมถึงการจัดประกวดเพื่อพัฒนาฝีมือ และผู้ที่ชนะก็มีการถ่ายทอดต่อไป อีกทั้งยังพระราชทานทุนทรัพย์ เพื่อสร้างกำลังใจ ให้สามารถทำงานในบ้านเกิดของตนเอง เพื่อเลี้ยงดูครอบครัวได้ เป็นพระมหากรุณาธิคุณที่ทำให้ผ้าไทยยังคงอยู่ถึงปัจจุบัน”นายสุทธิพงษ์กล่าว
นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า เป็นพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ส่งต่อผ่าน 5 ทหารเสือ และลูกหลานชาวไทยในทุกจังหวัดก็ร่วมใจสืบสานทำให้ผ้าไทยไม่สูญหายไป ส่งผลต่ออนาคตของผ้าไทย เพราะถ้าสามารถกลายเป็นอาชีพเลี้ยงตัวได้ ก็จะทำให้ทายาทคนรุ่นใหม่สนใจศึกษาการทอผ้ามากขึ้น และเมื่อมีคนใส่มากขึ้น ก็จะทำให้คนรุ่นใหม่คุ้นเคย จนรู้สึกได้ถึงความงดงามที่มีเอกลักษณ์ นักออกแบบรุ่นใหม่ๆ ก็อาจจะอยากออกแบบตัดเย็บให้เหมาะกับยุคสมัยของตน ต้องขอบคุณทหารเสือศิลปาชีพทุกคนที่มีความจงรักภักดี อุทิศกายอุทิศใจ สนองพระราชปณิธานในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จนทำให้ผ้าไทยไม่สูญหายไปกับกาลเวลา
ด้าน ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติฯ กล่าวว่า งานศิลปาชีพประทีปไทย OTOP ก้าวไกลด้วยพระบารมี จัดขึ้นทุกปี และได้รับเกียรติอย่างยิ่งจากทหารเสือศิลปาชีพทุกท่าน มาร่วมพูดคุยและแสดงงานในส่วนของหัตถศิลป์ ศิลปิน OTOP การร่วมสนับสนุนผ้าไทยจะสามารถช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยหลังวิกฤตโควิด-19 ได้โดยไม่ยาก ประมาณการว่า หากมีคนไทยแต่งกายด้วยผ้าไทยเป็นประจำสัปดาห์ละ 2 วัน จำนวน 35 ล้านคน จะทำให้มีการซื้อผ้าและใช้ผ้าคนละ 10 เมตร ราคาเมตรละประมาณ 300 บาท จะทำให้เกิดความต้องการผ้าไทย 350 ล้านเมตร คิดเป็นมูลค่า 105,000 ล้านบาท เม็ดเงินนี้จะกลับคืนสู่ชุมชนก่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ให้ประชาชนช่วยให้หลุดพ้นจากความยากจน มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน
ทั้งนี้ ขอเชิญชวนมาช่วยกันสนับสนุนสินค้า OTOP ในงานศิลปาชีพประทีปไทย OTOP ก้าวไกลด้วยพระบารมี 2563 ระหว่างวันที่ 8–16 ส.ค.ที่อาคารชาเลนเจอร์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ภายในงานมีกลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จำนวนกว่า 900 บูธ และมีไฮไลท์ เช่น การจัดแสดงผ้าสืบสานอนุรักษ์ศิลป์ ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน ผ้าที่ชนะการประกวด ผ้าอัตลักษณ์และผ้าชนเผ่า ผ้าที่เข้าร่วมโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP ขึ้นเครื่อง, Young OTOP และผ้าทออีสาน รวมถึงยังมี OTOP ชวนชิม อาหารพื้นถิ่นทั่วประเทศ และนิทรรศการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ทุกจังหวัด มาอยู่ภายในพื้นที่เดียวกัน ภายในงานมีมาตรการป้องกันโควิด-19 อย่างเข้มงวดตามมาตรการสาธารณสุข
ด้าน นางวงเดือน อุดมเดชาเวทย์ จาก อ.นาหว้า จ.นครพนม เปิดใจว่า รู้สึกภาคภูมิใจอย่างยิ่ง ที่ได้เข้าเฝ้าเพื่อถวายผ้าไหมแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เมื่อปี 2515 ได้เข้าเฝ้าพระองค์ท่านก็คือการเข้ารับพระราชทานรางวัลประกวดผ้าไหม ซึ่งได้รับรางวัลเกือบทุกปี เป็นเรื่องที่ปลาบปลื้มใจเป็นที่สุด และยังทำให้คุณภาพชีวิตของครอบครัวดีขึ้น
“ภาคภูมิใจว่าชาวบ้านธรรมดาๆ ได้เป็นเสี้ยวหนึ่งของประเทศ ที่ได้มีโอกาสทำงานรับใช้พระองค์ท่าน จึงทุ่มเทกำลังกาย กำลังใจ เพื่อสืบสานและต่อยอดผ้าไหมมัดหมี่บ้านนาหว้า ในฐานะของครูศิลปาชีพการทอผ้าไหมมัดหมี่ มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ บ้านนาหว้า อำเภอนาหว้าจังหวัดนครพนมอย่างเต็มกำลังค่ะ” ครูศิลป์แห่งแผ่นดิน จ.นครพนมกล่าวทิ้งท้าย
ขณะที่ นางประจวบ จันทร์นวล ผู้สืบสานงานผ้าไหมมัดหมี่ จาก อ.นาโพธิ์ จ.บุรีรัมย์ กล่าวว่า ภาคภูมิใจในพระมหากรุณาธิคุณ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง อย่างที่สุด ที่พระองค์ทรงสนับสนุนให้ชาวบ้านมีอาชีพทอผ้าและปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเกือบทุกครัวเรือนจากพื้นที่ที่เคยแห้งแล้ง ในบางปีต้องนำผ้าไหมไปแลกข้าวในต่างพื้นที่ห่างไกล กลับทำให้ชาวบ้านมีอาชีพที่ดี และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจนถึงปัจจุบัน แต่ก่อนเราไม่ได้เรียนหนังสือ ต้องทำนาข้าวขาย บางปีแล้งไม่มีรายได้เลย อาชีพทอผ้าที่เคยเป็นอาชีพเสริม ปัจจุบันกลายเป็นอาชีพหลักได้ สานต่ออาชีพของบรรพบุรุษในการทอผ้าจนสำเร็จได้เพราะสมเด็จพระนางเจ้าฯ ท่านทรงช่วยสนับสนุน ช่วยพวกเราจนมีทุกอย่างในวันนี้
ทั้งนี้ ลายผ้าที่ได้รับรางวัลจะเป็นลายขอสาม ที่พัฒนาออกแบบลายใหม่ โดยนำลายดั่งเดิมมาดัดแปลงจนได้รับรางวัลที่ 1 ของจ.สกลนคร เมื่อปี 2542 ได้รับรางวัลสร้อยคอพระราชทานจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง อีกทั้งยังได้รับคัดเลือกเป็นตัวแทนตามเสด็จไปเผยแพร่วัฒนธรรมการทอผ้าไหม ณ กรุงวอชิงตัน ดี ซี ประเทศสหรัฐอเมริกาอีกด้วย
ด้านนางสุนา ศรีบุตรโคตร จากกลุ่มทอผ้าขิดใหม่บ้านหนองอ้อ อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี กล่าวว่า กลุ่มฯก่อตั้งเมื่อปี 2525 ด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จแปรพระราชฐานมาประทับ ณ พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ จ.สกลนคร ทรงคัดเลือกผ้าไหมลายขิดที่มีลวดลายสวยงามพอพระราชหฤทัย ได้รับสั่งให้เข้าเฝ้าและพระราชทานรางวัล และทรงรับกลุ่มของครูสุนาเข้าร่วมโครงการส่งเสริมศิลปาชีพการทอผ้าขิดไหมบ้านหนองอ้อ และทรงแต่งตั้งเป็นครูหลวงตามเสด็จไปสอนเด็กกำพร้าในวัง
“เมื่อกลับมาก็ได้ถ่ายทอดความรู้ให้กลับลูกหลาน และชาวบ้านที่ให้ความสนใจในการทอผ้า ร่วมกันพัฒนาทอผ้าฝ้ายลายขิดเป็นผ้าไหมลายขิดจนมีชื่อเสียง และยังคงถ่ายทอดองค์ความรู้ให้ลูกหลาน และผู้ที่สนใจในการทอผ้าจนถึงปัจจุบันค่ะ” ครูศิลป์แห่งแผ่นดิน จ.อุดรธานีกล่าว
ขณะที่ นางคำสอน สระทอง ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (ประณีตศิลป์-ทอผ้า) กล่าวว่า ผ้าแพรวามีมาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย ทอให้กันในครัวเรือน ปกติจะให้เป็นผ้าสไบพาดไหล่ใส่ไปงานบุญหรืองานประเพณี ไม่ได้ขายกันแบบสมัยนี้ แต่หลังจากที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยี่ยนราษฎรที่ อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์ เมื่อปี 2520 พระองค์ได้รับสั่งว่าผ้าแพรวานั้นสวยงาม ประณีต และเป็นเอกลักษณ์ของคนที่นี่ จึงอยากให้ทอผ้าเพื่อรักษาภูมิปัญญาของบรรพบุรุษเอาไว้ หลังจากนั้นมา ตนก็มีอาชีพทอผ้าแพรวา และศิลปินด้านผ้าทอภูไทจนถึงขณะนี้ ซึ่งปัจจุบันยังคงทอผ้าถวายสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงอยู่เสมอ และนอกจากทอผ้าแล้ว ก็ยังถ่ายทอดความรู้ของแพรวากาฬสินธุ์สู่รุ่นลูกรุ่นหลานอีกด้วย