LIFESTYLE

โดย กองบรรณาธิการ M2F

22 ธันวาคม 2562 : 21:31 น.

.

โดย อัสวิน ภักฆวรรณ

ภาพ วีระพันธ์ ไชยคีรี 

กว่า 5 ปีที่ทางจ.พัทลุง มีความพยายามผลักดันให้สร้าง สนามบินประจำจังหวัดขึ้นเพื่อรองรับการเติบโตของจ.พัทลุงที่เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดดในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ซึ่งเป็น“เมืองรอง” ของการท่องเที่ยวที่มีรายได้อันดับหนึ่ง ในปี 2561 มีอัตราการเจริญเติบโตถึง 14 % มีนักท่องเที่ยวสูงถึง 1.6 ล้านคนต่อปี

จุดเด่นของจ.พัทลุงเมืองท่องเที่ยวในภาคใต้ของประเทศไทย มีแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติงดงาม วิถีชุมชนมากมาย จนพัฒนาเป็นที่รู้จักมากมาย เช่น ทะเลน้อย เขาอกทะลุ ควนนกเต้น

กีฬาชนโค บ้านท่ามิหรำ

ข้อมูลจาก สำนักงานการท่องเที่ยวจ.พัทลุง ระบุว่า ทางจังหวัดได้เติบโตต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยในปี 2559 สามารถทำรายได้ถึงกว่า 2,590 ล้านบาท ปี 2560 ทำรายได้เพิ่มขึ้นอีกกว่า 3,155 ล้านบาท ส่วนปี 2561 สร้างรายได้เข้าจังหวัด 3,400 กว่าล้านบาท

นักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศที่เข้ามาเที่ยวมากขึ้น โดยเฉพาะชาวมาเลเซีย สิงคโปร์ โดยในปี 2560 มีประมาณกว่า 15,800 คน ส่วนนักท่องเที่ยวไทยก็จะมาจากจังหวัดใกล้เคียง โดยเฉพาะจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ที่เข้ามามาก

เขตห้ามล่าสัตว์ป่า ทะเลน้อย

ปัจจัยสนับสนุนสำคัญของการท่องเที่ยว คือ แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ล่องแก่ง ทะเลน้อย อาหารอร่อยเข้มข้น ส่วนที่พักช่วงที่ผ่านมาได้ขยายตัวไว้รองรับทั้งโรงแรม รีสอร์ต และยังมีการลงทุนสร้างโรงแรมเพิ่มเติมขึ้นอีก โดยในปี 2562 นี้ธุรกิจการท่องเที่ยว จ.พัทลุง ร่วมกับผู้ประกอบการได้รณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้คนทั่วไปรู้จักแหล่งท่องเที่ยวมากขึ้น เพื่อจะได้ดึงดูดนักท่องเที่ยว

สิ่งเหล่านี้จึงเป็นโอกาสที่ภาคเอกชนพัทลุง เสนอให้มีการสร้างสนามบินพัทลุงอีกครั้ง โดยยืนยันถึงความพร้อมที่จะสร้างสนามบิน มีทั้งสายการบิน ศูนย์ฝึกนักบิน การบิน ศูนย์แอร์โฮสเตส และศูนย์ซ่อมเครื่องบิน เพียงแต่รอให้รัฐบาลอนุมัติสร้าง ซึ่งคณะทำงานการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสนามบินพัทลุง มีตัวแทนจากภาคธุรกิจ ท่องเที่ยว ฝ่ายปกครอง ท้องถิ่น มีข้อเสนอให้ทางจังหวัดเมื่อวันที่ 12 เม.ย. ที่ผ่านมาให้สร้างสนามบินพัทลุง และนำไปสู่การประชาพิจารณ์ของประชาชนในพื้นที่ทั้ง 11 อำเภอเพื่อผลักดันให้รัฐบาลอนุมัติ

ตลาดน้ำทะเลน้อย พัทลุง

ผศ.ดร.กุณทล ทองศิริ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี ผู้ประสานงานกลุ่มคณะทำงานการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสนามบินพัทลุง เปิดเผยว่า ที่ผ่านมามีการสำรวจพื้นที่ที่จะสร้างสนามบินพัทลุง จำนวน 1,400 ไร่ เป็นที่ดินราชพัสดุ หากมีการสร้างสนามบินพัทลุง ภาคเอกชน พร้อมที่จะลงทุนทันที เพราะขณะนี้ ธุรกิจการท่องเที่ยว จ.พัทลุง เติบโตขึ้นมาก

ไม่เท่านั้น ตามแผนของคณะทำงานนอกจากจะสร้างสนามบินพัทลุงแล้ว ยังจำเป็นต้อง ทำโครงสร้างพื้นฐาน สร้างถนน 5 สายด้วย เช่น ถนนเลียบริมทะเลสาบสงขลา พื้นที่ตรงนี้เป็นแลนด์มาร์คแหล่งช่องลม พลังงานกังหันลม ระยะทาง 82 กม. ถนนวงแหวนรอบนอกพัทลุง 63 กม. และถนนวงแหวนรอบใน อีกจำนวนหนึ่ง ถนนเลียบเขาบรรทัด ระหว่าง ต.ทุ่งนารี อ.ป่าบอน จรดถึง ต ลานข่อย อ.ป่าพะยอม จ.พัทลุง ซึ่งเป็นพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติที่งดงามมากมาย เช่น น้ำตก

ถ้ำมาลัย พัทลุง

ถนนเชื่อมอ่าวไทย-อันดามัน ระหว่าง จ.สงขลา พัทลุง ตรัง จ.กระบี่จะเป็นการเปิดเส้นทาง จ.พัทลุงสู่ย่านทะเลอันดามัน แหล่งท่องเที่ยวระดับโลก และถนนเปิดประตู จ.พัทลุง จ.สตูล ประเทศมาเลเซีย ตั้งแต่ ต.ทุ่งนารี อ.ป่าบอน จ.พัทลุง กับ ต.มะนัง อ.มะนัง จ.สตูล และรัฐเปอร์ลิส ประเทศมาเลเซีย ระหว่าง ต.ทุ่งนารี อ.ป่าบอน กับ ต.มะนัง อ.มะนัง จ.สตูล เส้นทาง 9 กม. ปัจจุบันเป็นเส้นทางรถจักรยานยนต์สัญจรไปมาอยู่แล้ว

หากสร้างถนนเหล่านี้จะเป็นการเปิด จ.พัทลุง ไปถึงประเทศมาเลเซีย อ้าแขนรับนักท่องเที่ยวเข้ามาได้อีกมาก ทั้งหมดจะสอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ ปี พศ.2561 – 2580 ซึ่งมีกรอบดำเนินการอยู่แล้ว และโครงการทั้งหมดใช้งบประมาณ 6,000 ล้านบาท แต่ยังขาดงบประมาณสนับสนุนในการก่อสร้างเท่านั้น

ประเพณีชักพระทางน้ำ อ.ปากพะยูน

ผศ.กุณทล กล่าวว่า ที่ประชุมยังเสนอการเปลี่ยนแปลงคำว่า “พัทลุงเมืองนักเลง” เปลี่ยนให้เป็น “เมืองคนจริง” ที่จะคุ้มครองดูแลนักท่องเที่ยว นักธุรกิจ การค้า การนักลงทุน ฯลฯ เป็นเมืองปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้เป็นจุดแข็งจุดเด่นของ จ.พัทลุง และจะเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นเหมือนรางขนมครกให้เป็นรังผึ้ง

สำหรับ จ.พัทลุง มีสนามบินที่จังหวัดใกล้เคียงที่ชาวพัทลุงใช้เดินทางเครื่องบิน ประกอบด้วย จ.ตรัง ระยะห่างประมาณ 60กม. นครศรีธรรมราช ประมาณ 100 กม. และสนามบินหาดใหญ่ จ.สงขลา ประมาณ 90 กม. สำหรับสนามบินตรัง บริการบินประมาณ 6 เที่ยว / วัน ประมาณ 3 บริษัทสายการบิน นครศรีธรรมราช กว่า 10 เที่ยว ส่วนสนามบินหาดใหญ่ ประมาณ 32 – 35 เที่ยว / วัน เพราะเป็นสนามบินนานาชาติ

ฝูงควาย ทะเลน้อย

ด้านนายสิทธิชัย ลาภานุพัฒนกุล นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจ.พัทลุง กล่าวว่า ถึงเวลาแล้วที่ต้องสร้างสนามบิน เพราะกิจการท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ขยายตัวเติบโตขึ้น ซึ่งยังมีคนเดินทางมาเที่ยวกันมาก ทั้งจาก จ.นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ภูก็ต กระบี่ สงขลา ปัตตานี ยะลา และ จ.นราธิวาส

ปัจจุบัน แหล่งบริการอำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยว ก็มีมากขึ้น ทั้งร้านกาแฟ ร้านอาหาร สไตล์ธรรมชาติ และจากการสำรวจพบว่า นักท่องเที่ยวจะเข้ามาจะเที่ยวพื้นที่รอบนอก เที่ยวป่า ธรรมชาติ สอดรับกับ จ.พัทลุง ท่องเที่ยวธรรมชาติเชิงนิเวศ เขา ป่า นา เล ส่วนรายได้ที่ไม่ตก คือ ล่องแก่งรีสอร์ต จ.พัทลุง

สำเภาไทย ท่องเที่ยววิถีชวิต พัทลุง

“ธุรกิจการท่องเที่ยว ได้ขยายตัวเติบโตหมายหลายปี และที่เติบโตมากขึ้นในปี 2560 และ 2561 ไปจนถึงปี 2562 และ 2563 อยู่ที่เขตรอบนอก เช่น ตลาดสวน ภูเขา ริมทะเลน้อย ริมทะเลสาบสงขลา และตามลำน้ำ ซึ่งมีการขยายตัวการลงทุนของล่องแก่งรีสอร์ต

สำหรับ แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ เริ่มตั้งแต่ ตลาดไต้โหนด นาโปแก สวนไผ่ ขนำคอฟฟี่ บิ้งนา ท่าสำเภา ฯลฯ การลงทุนท่องเที่ยวแบบธรรมชาติรูปแบบนี้ ผู้ลงทุนมีที่ดินเอง สิ่งปลูกสร้าง เช่น ไม้ธรรมชาติ แรงงาน ภายในครัวเรือนและชุมชนทำกันเอง การลงทุนจึงไม่มาก และก็ลงทุนเพิ่มขึ้นตามลำดับ เมื่อได้กำไรสะสมมา บางแห่งลงทุนไม่ถึง 1 ล้านบาท แต่มีบางแห่งประมาณ 4-5 ล้านบาท

เขาอกทะลุ สัญญลักษณ์พัทลุง

นายเจริญชัย ช่วยชู กรรมการผู้จัดการ บริษัท พัทลุงอีโคทัวร์ จำกัด กล่าวว่า จ.พัทลุง แหล่งท่องเที่ยวรายใหญ่ จะเป็นทางธรรมชาติ โดยในขณะนี้ยอดนิยม จะเป็นท่องเที่ยวล่องแก่ง ชมธรรมชาติคลองปากประ ทะเลน้อย ขึ้นภูชมวิว ท่องเที่ยวเดินป่า ย่านริมเทือกเขาบรรทัด เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่า และพักรีสอร์ต ส่วนนักท่องเที่ยวเดินป่า ส่วนใหญ่จะมาจากภาคเหนือ อีสาน และ กรุงเทพฯ

นายไพรวัลณ์ ชูใหม่ ที่ปรึกษาเครือข่ายท่องเที่ยวชุมชนจ.พัทลุง มองว่า การท่องเที่ยวทางธรรมชาติ วิถีเกษตร สุขภาพ กำลังได้รับความนิยมไม่แพ้กัน โดยท่องเที่ยว เชิงเกษตร มี 14 จุดสำคัญ ซึ่งชุมชนเป็นคนขับเคลื่อน เช่น สวนลุงปลื้ม กลุ่มทำกระจูด กลุ่มโรงฟาง สวนสะละลุงถัน กลุ่มสินแพรทอง สวนสำเร็จ ผึ้งโพรงไทย ฯลฯ

ส่วนแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติกลางกลางท้องนานา มี นาโปแก สำเภาไทย ขนำ ควนนกเต้น ภูรุ่งแจ้ง ฯลฯ ประมาณกว่า 20 แห่งในขณะนี้ บางแห่งลงทุนหลักหลายล้านบาท

แห่ผ้าขึ้นธาตุ วัดเขียนบางแก้ว

การท่องเที่ยว จ.พัทลุงต้องเน้นรักษาความเป็นตัวตนดั้งเดิมเป็นปกติเอาไว้ ซึ่งมีทั้งพื้นที่อาหารพื้นเมือง ผักกูด ผักเมียง แกงเลียง ส้มตำ ฯลฯ สำหรับ จ.พัทลุง จะต้องปรับให้เป็นมิตรกับทุกคน เพราะมีการกล่าวกันว่าคนพัทลุง ตัวดำ เสียงดัง ดุดัน ความจริง เมื่อได้รู้ได้เข้าใจ คนพัทลุงเป็นคนใจดี สิ่งสำคัญคือคนท้องที่ จ.พัทลุง จะต้องพัฒนาตัวเอง ให้เป็นผู้ประกอบการ เป็นผู้นำเที่ยว เป็นมัคคุเทศก์เองด้วยจ.พัทลุง ท่องเที่ยวธรรมชาติ เชิงเกษตร เชิงวิถี เขา ป่า นา เลได้ขยายตัวมาตั้งแต่ปี 2554 แต่ที่ขยายตัวเติบโตมาก มาในระยะ 3 ปี จนถึงขณะนี้ และอนาคตยังไปไกลอีก

“มาพัทลุง เพราะได้มาสัมผัสกับความแปลก อาหารปลอดภัย ชาวบ้านแบบดั้งเดิม ซึ่ง จ.พัทลุงได้เปรียบกว่าที่อื่น ๆ เพราะความเป็นตัวตนเดิม ๆอยู่มากกว่า เป็นอันดับ 1 ใน 14 จังหวัดภาคใต้”

นายไพรวัลณ์ กล่าวอีกว่า การท่องเที่ยว จ.พัทลุง ได้ขยายตัวเติบโตประมาณปีละ 7 เปอร์เซ็นต์ และในปี 2561 ทำรายได้ ประมาณ 3,400 ล้านบาท แต่ที่ยังทำเงินได้โดยไม่ได้เข้าระบบอีกประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ คาดการณ์ได้ว่า มีเงินหมุนสะพัดกว่า 4,000 ล้านบาท ขณะนี้ จ.พัทลุง เป็นเมืองรองอันดับต้น ๆ ของประเทศ และนโยบายรัฐบาลก็ยังให้การสนับสนุนเมืองรองเต็มที่ โดยในปี 2563 ก็ยังเน้นการท่องเที่ยวเมืองรองเป็นสำคัญ

กองบรรณาธิการ M2F

ข่าวที่น่าสนใจ