LIFESTYLE

โดย กองบรรณาธิการ M2F

02 ตุลาคม 2561 : 19:18 น.

คำแนะนำสำหรับพ่อแม่มือใหม่ แม้ตั้งครรภ์ก็อยู่ร่วมกับน้องเหมียวได้ไร้กังวล

ช่วงที่ยังไม่มีลูก หลายคนอาจหาสัตว์เลี้ยงมาดูแลแก้เหงา อย่างเจ้าแมวเหมียวที่ทั้งขี้อ้อนและขี้เล่น แต่หากตั้งครรภ์ขึ้นมาจะทำอย่างไร เพื่อไขข้อข้องใจในเรื่องนี้ สพญ.ปิยวรรณ ภู่ระหงษ์ จากคลินิกแมว รพ.สัตว์ทองหล่อ ได้อธิบายเรื่องนี้ว่า

สพ.ญ.ปิยวรรณ ภู่ระหงษ์

การเลี้ยงแมวในช่วงตั้งครรภ์นั้นมีข้อดี เพราะช่วยผ่อนคลายและลดความวิตกกังวลได้ ส่วนข้อเสียนั้นมีน้อยมาก อาจจะมีในแง่ที่ว่าแมวมีโรคติดต่อบางโรคที่ติดสู่คนได้ แต่ไม่ได้เฉพาะกับคนที่ตั้งครรภ์เท่านั้น คนที่ไม่ได้ตั้งครรภ์ก็อาจได้รับเชื้อได้หากเลี้ยงแมวไม่ถูกสุขลักษณะ อย่างไรก็ตาม สามารถป้องกันและทำความเข้าใจกับลักษณะการเกิดโรคนั้นๆ ได้

สำหรับโรคที่ถูกกล่าวถึงมากว่ามีโอกาสที่คนจะติดจากแมวก็คือ โรคทอกโซพลาสโมซิส (Toxoplas mosis) หรือโรคขี้แมว ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อโปรโตซัว Toxoplasma gondii เชื้อนี้มีวงจรชีวิตที่สามารถเจริญเติบโตได้ในสัตว์เลือดอุ่นทุกชนิด แต่แมวจัดเป็นโฮสต์แท้ของเชื้อชนิดนี้ โดยเชื้อจะอาศัยทางเดินอาหารของแมวในการเจริญเติบโตจนสมบูรณ์ และปล่อยไข่ (oocyst) ปนออกมากับอุจจาระ สำหรับแมวกลุ่มเสี่ยง คือแมวที่เลี้ยงระบบเปิดและไปกินสัตว์อื่น เช่น หนู นก หรือแมว กินเนื้อสัตว์ที่ปรุงไม่สุก แต่หากเป็นแมวที่เลี้ยงระบบปิดและไม่กินเนื้อดิบ หรือกินหนู นก โอกาสพบเชื้อค่อนข้างน้อยมากหรือไม่มีเลย

การติดต่อสู่คนของเชื้อนี้มีได้ 3 ทาง 

1. การกินอาหารหรือดื่มน้ำที่มีไข่ที่เจริญเต็มที่แล้วปนเปื้อนอยู่

2. การกินถุงซีสต์ของพยาธิที่อยู่ใน เนื้อสัตว์ดิบหรือปรุงไม่สุกที่มีเชื้อโรคขี้แมวอยู่

3. ผ่านทางรกไปยังทารกหากแม่ติดเชื้อขณะตั้งครรภ์

ข้อควรเข้าใจคือ โรคนี้ไม่ได้เกิดกับคุณแม่ตั้งครรภ์ทุกคน สำหรับคนตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อโรคขี้แมว เชื้อโรคจะผ่านรกไปยังทารกและทำให้เกิดโรคขี้แมวแต่กำเนิดได้ แต่ถ้าได้รับเชื้อโรคขี้แมวมาก่อนการตั้งครรภ์และร่างกายมีแอนติบอดีต่อเชื้อโรค ถือว่าเป็นกลุ่มที่ไม่เสี่ยง ส่วนกลุ่มที่เสี่ยง ได้แก่ คนที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือติดเชื้อขี้แมวก่อนตั้งครรภ์เพียงเล็กน้อย หรือแม่ตั้งครรภ์ที่เป็นมะเร็งและเคยได้รับการทำเคมีบำบัด หรือเคยมีการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ เป็นต้น

ข้อแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ที่อยู่ร่วมกับสัตว์เลี้ยงมีวิธีปฏิบัติ

  • หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำไม่สะอาด
  • ใส่ถุงมือทุกครั้งที่สัมผัสดินหรือทราย เพราะอาจมีเชื้อโรคขี้แมวปนอยู่ในสิ่งแวดล้อม
  • ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนกินอาหาร
  • ปิดกระบะทรายแมวที่ทิ้งไว้นอกบ้านเสมอ
  • เปลี่ยนกระบะทรายแมวทุกวัน
  • ไม่รับแมวจรจัดหรือแมวใหม่มาเลี้ยงขณะตั้งครรภ์ 
  • กำหนดพื้นที่เลี้ยงแมวให้ชัดเจน อาจจะงดการนำแมวมานอนด้วยเพื่อลดการปนเปื้อนเชื้อ
  • ทำความสะอาดสิ่งแวดล้อมที่อยู่ของแมว กรง และชามอาหาร โดยใช้ความร้อนซึ่งสามารถทำลายไข่ของโปรโตซัวได้
  • ปรึกษาแพทย์ที่ดูแลเพื่อรับคำแนะนำที่เหมาะสม

กองบรรณาธิการ M2F

ข่าวที่น่าสนใจ