รู้จักฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศ ที่เข้าสู่ทางเดินหายใจ กระแสเลือด และแทรกซึมสู่กระบวนการทำงานของอวัยวะต่างๆ
PM 2.5 คือฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศที่มีขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน เทียบให้เห็นภาพก็คือขนาดประมาณ 1 ใน 25 ของเส้นผ่านศูนย์กลางของเส้นผม ซึ่งขนจมูกของมนุษย์ไม่สามารถกรองได้ จึงแพร่กระจายเข้าสู่ทางเดินหายใจ กระแสเลือด และแทรกซึมสู่กระบวนการทำงานของอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย เพิ่มอัตราเสี่ยงต่อการเป็นโรคเรื้อรังและมะเร็ง ตามคำเตือนขององค์การอนามัยโลก
กรมควบคุมมลพิษ แนะนำการปฏิบัติตัวของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ฝุ่นละออง PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน ว่าควรลดระยะเวลาในการทำกิจกรรมกลางแจ้ง และสวมใส่หน้ากากป้องกันฝุ่นละอองขณะอยู่กลางแจ้ง หากมีอาการผิดปกติควรรีบไปพบแพทย์ สำหรับผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจ ผู้ป่วยโรคปอด โรคหัวใจ โรคเรื้อรังอื่นๆ จัดเป็นผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง ควรปฏิบัติตามคำแนะนำ ดังนี้
- ควรพักอาศัยอยู่ภายในอาคารบ้านเรือน เลี่ยงการเปิดประตูหรือหน้าต่าง ทำความสะอาดอาคารโดยใช้ผ้าชุบน้ำเช็ด หลีกเลี่ยงการใช้ไม้กวาด เนื่องจากทำให้ฝุ่นฟุ้งกระจาย
- การใช้อุปกรณ์ป้องกันระบบทางเดินหายใจ หรือหน้ากากที่กรองฝุ่นละอองขนาดเล็กได้ตามมาตรฐาน N95 ซึ่งเป็นหน้ากากที่สามารถกรองอนุภาคขนาดเล็กมาก หน้ากากควรมีสายรัดสองสาย มีส่วนกดที่เป็นโลหะเพื่อกระชับแน่นกับสันจมูก ซึ่งผ้าเช็ดหน้า ผ้าปิดปากและจมูกที่ใช้ทั่วไป ไม่สามารถป้องกันละอองฝุ่นขนาดเล็กได้
- ลดกิจกรรมที่ต้องออกแรง เนื่องจากการออกกำลังกายอาจเพิ่มอัตราการหายใจมากขึ้นกว่าปกติ 10-20 เท่า ซึ่งจะนำมลพิษเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจได้มากขึ้น
- ลดแหล่งมลพิษอื่นภายในบ้าน เช่น การสูบบุหรี่ การใช้เตาถ่าน การใช้สเปรย์ฉีดพ่นบ้าน การทำอาหาร การจุดเทียน
- การใช้เครื่องกรองอากาศและแผ่นกรองอากาศ ที่มีประสิทธิภาพระดับปานกลางถึงสูง เพื่อช่วยลดปริมาณอนุภาคจากภายนอกเข้าสู่ภายในอาคาร
- หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องผลิตโอโซน หรือเครื่องเพิ่มปริมาณออกซิเจนที่มีขายตามท้องตลาด ซึ่งมักจะโฆษณาชวนเชื่อว่าสามารถกำจัดเชื้อราและแบคทีเรียในอากาศได้ แต่ความเป็นจริงมีโทษมากกว่าประโยชน์ เนื่องจากระดับโอโซนมักส่งผลกระทบทางสุขภาพต่อมนุษย์
- ผู้ที่ใช้รถยนต์ ควรปิดหน้าต่างและช่องอากาศภายในรถยนต์ ปรับให้เป็นระบบที่ใช้อากาศหมุนเวียนภายใน ทั้งนี้ สำหรับรถยนต์บางรุ่นที่ปรับเป็นระบบที่ใช้อากาศหมุนเวียนภายใน อาจพบระดับคาร์บอนไดออกไซด์สะสมและมีระดับสูงขึ้น (มากกว่า 5,000 ppm) จึงแนะนำให้ผู้ที่ใช้รถยนต์เดินทางไกลเปิดหน้าต่างเป็นระยะเพื่อลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่สะสมอยู่ภายในรถ