ความผิดปกติอย่างหนึ่งของร่างกายที่เป็นได้ไม่เลือกเพศ
ริดสีดวงทวารหนัก (Hemorrhoids) อาการผิดปกติของหลอดเลือดดำบริเวณปลายสุดของลำไส้ใหญ่และขอบรูทวารหนักโป่งพอง ซึ่งมีทั้งริดสีดวงทวารชนิดภายใน และริดสีดวงทวารชนิดภายนอกที่มองเห็นและสัมผัสได้ โดยอาจมีเลือดออกขณะหรือหลังถ่ายอุจจาระ
จากข้อมูลโดยทีมแพทย์โรงพยาบาลในเครือบริษัท พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ ได้ไขข้อสงสัยเรื่องริดสีดวงทวารหนักในแง่มุมของสาเหตุและการรักษา ดังนี้
สาเหตุ
ที่พบบ่อยคืออุปนิสัยการกินอาหารและการขับถ่าย รวมทั้งการตั้งครรภ์ การยืนนานๆ หรือโรคบางอย่าง โดยการรักษาริดสีดวงทวารหนักที่ทำได้ง่ายๆ ทำได้หลายวิธี อาทิ แช่ก้นในน้ำอุ่นผสมด่างทับทิม การเหน็บยา ฉีดยา จี้ด้วยอินฟราเรด ผูกรัดหัวริดสีดวง ผ่าตัด เป็นต้น
วิธีการรักษาปัจจุบัน
ริดสีดวงทวารหนักรักษาได้ด้วยการผ่าตัดด้วยเครื่องตัดเย็บอัตโนมัติ หรือ Stapler Hemorrhoidectomy โดยการตัดเนื้อเยื่อทวารหนักส่วนเกินและเย็บดึงรั้งส่วนที่เหลือขึ้นไปในทวารหนัก โดยรอยเย็บจะอยู่สูงกว่าแนวเส้นประสาทรับความรู้สึกเจ็บปวด ทำให้มีอาการเจ็บหลังผ่าตัดน้อยกว่าการผ่าตัดแบบเก่า และไม่มีบาดแผลภายนอก
ปัจจุบันมีการรักษาแนวทางใหม่แบบไม่เจ็บ ด้วยการใช้นวัตกรรม HAL-RAR โดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูงช่วยตรวจหาตำแหน่งหลอดเลือดแดงที่มาเลี้ยงหัวริดสีดวงทวารหนัก แล้วเย็บผูกหลอดเลือดบริเวณที่ไม่มีเส้นประสาทรับความรู้สึกทำให้ไม่มีการเจ็บปวด หัวริดสีดวงที่ถูกผูกรัดจะยุบตัวและฝ่อลง ในกรณีที่ก้อนริดสีดวงมีขนาดใหญ่ยื่นออกมา ก็สามารถทำการเย็บรั้งดึงหัวริดสีดวงกลับเข้าไปด้านในทวารหนักได้ โดยไม่มีการตัดเนื้อเยื่อออก
ข้อดีของการรักษาด้วยวิธีดังกล่าวคือเจ็บน้อย ไม่มีแผลผ่าตัดบริเวณรอบปากทวารหนัก ฟื้นตัวเร็ว ลดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ โดยบางรายสามารถกลับบ้านได้หลังผ่าตัด และกลับไปทำงานได้ภายใน 2-3 วัน