LIFESTYLE

โดย กองบรรณาธิการ M2F

08 พฤศจิกายน 2561 : 07:00 น.

โรงพยาบาลพญาไท 2 เผยเคล็ดลับชีวิตยืนยาว ออกแบบสุขภาพดีได้ด้วยเวชศาสตร์ชะลอวัย

“ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ” ประโยคที่คอยย้ำเตือนให้เราดูแลสุขภาพกันอยู่เสมอ แต่ทั้งที่คิดว่าดูแลตัวเองดีแล้ว โรคภัยก็ยังมาเยือน ปัญหาสำคัญก็คือการดูแลสุขภาพอย่างไม่ถูกจุด วิทยาการทางการแพทย์ที่ก้าวหน้ามากขึ้น ช่วยให้เรามีสูตรการดูแลสุขภาพประจำตัวที่ตรงจุดและมีประสิทธิภาพด้วย ‘เวชศาสตร์ชะลอวัย’

แพทย์หญิง กอบกุลยา จึงประเสริฐศรี ผอ.ศูนย์เวชศาสตร์ชะลอวัย รพ.พญาไท 2 อธิบายถึงความหมายของเวชศาสตร์ชะลอวัย ที่มักเกิดความเข้าใจผิดไว้ว่า “เมื่อได้ยินชื่อเวชศาสตร์ชะลอวัย คนมักคิดว่าเป็นเรื่องของการดูแลผิวพรรณ หรือศัลยกรรมเพื่อความสวยงามภายนอก ความจริงแล้วตรงกันข้าม เวชศาสตร์ชะลอวัยเป็นศาสตร์ดูแลร่างกายให้ดีจากภายใน ด้วยการตรวจวิเคราะห์ร่างกายอย่างละเอียดลึกซึ้งถึงระดับ DNA ค้นหาความผิดปกติ และแนวโน้มการเกิดโรคในอนาคต เพื่อนำมาวางแผนดูแลสุขภาพ ป้องกัน และลดความเสี่ยง การเกิดโรค”

เวชศาสตร์ชะลอวัยเป็นศาสตร์ที่มีแนวคิดมาจาก ‘การป้องกันก่อนป่วย’ ซึ่งเหมาะสมกับเทรนด์ในปัจจุบันที่ผู้คนหันมาใส่ใจสุขภาพกันมากขึ้น โดยเปลี่ยนพฤติกรรมการดูแลสุขภาพจาก ‘เชิงรับ’ คือป่วยก่อนจึงค่อยไปหาหมอ รับประทานยารักษาให้หาย เป็นการดูแลสุขภาพ ‘เชิงรุก’ ทำให้ร่างกายแข็งแรง หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงการเกิดโรค

แพนเค้ก-เขมนิจ จามิกรณ์ และสารวัตรหมี-พ.ต.ท.ศักดิ์สุนทร เปรมานนท์ คู่รักคนรุ่นใหม่สายเฮลตี้ เล่าว่า ทั้งคู่ต่างเป็นคนที่ใส่ใจเรื่องการดูแลสุขภาพกันอยู่แล้ว จึงเริ่มศึกษาด้านเวชศาสตร์ชะลอวัย และสนใจที่จะเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับวิธีการดูแลสุขภาพ ใช้ชีวิตอย่างไรจึงจะมีสุขภาพดีชะลอวัยและมีชีวิตที่ยืนยาว ซึ่งแพทย์หญิง กอบกุลยาได้สรุปเคล็ดลับการดูแลสุขภาพตามแบบเวชศาสตร์ชะลอวัยด้วย “7 มิติวิเคราะห์ชีวิต ยืนยาว”

‘นอนให้เป็น’ เคล็ดลับชะลอวัยที่ใครก็ทำได้

การนอนหลับเป็นสิ่งที่เราต้องทำกันอยู่ทุกวัน แต่ไม่ใช่ว่าการนอนทุกครั้งร่างกายจะได้รับการซ่อมแซม เพราะโกรทฮอร์โมนที่มีหน้าที่ซ่อมแซมร่างกายมีเงื่อนไขว่า จะหลั่งในช่วงเที่ยงคืนถึงตีหนึ่งครึ่ง และหลั่งในตอนที่เราหลับลึกเท่านั้น หากร่างกายไม่ได้รับฮอร์โมนนี้เต็มที่จะทำให้ร่างกายเสื่อมลงและแก่เร็ว! แพทย์หญิง กอบกุลยา แนะนำว่าการหลับที่ถูกต้อง จะต้องนอนช่วงสี่ทุ่มเพื่อให้หลับลึกในช่วงที่โกรทฮอร์โมนหลั่งพอดี นอกจากนี้ให้งดน้ำตาลหลัง 6 โมงเย็น เพราะน้ำตาลจะเป็นตัวทำลายโกรทฮอร์โมน การตรวจวัดระดับโกรทฮอร์โมน เป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่จะบอกได้ว่าร่างกายมีโกรทฮอร์โมนเพียงพอที่จะช่วยชะลอวัยให้ร่างกายได้หรือไม่ จะได้ปรับพฤติกรรมการนอนให้เหมาะสม

กินอาหารดีก็ใช่ว่าสุขภาพจะดี

คนส่วนใหญ่มักคิดว่ากินอาหารครบห้าหมู่ก็เพียงพอกับการดำรงชีวิต แต่ความจริงแล้วประชากรทั่วโลกกว่า 2 พันล้านคน พบปัญหาการขาดวิตามิน และแร่ธาตุจากการทานอาหารไม่ตรงกับสารอาหารที่ร่างกายต้องการ ซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่รู้ตัว เนื่องจากขณะที่ขาดวิตามินร่างกายก็ยังคงทำงานต่อไป ไม่ได้แสดงอาการเจ็บป่วยจนถึงขั้นต้องเข้าโรงพยาบาลและไม่มีอาการแน่ชัด บางคนอาจหงุดหงิด เพลียง่าย อ้วนง่าย ลงพุง มีผื่นขึ้นง่าย ท้องผูก หรือภูมิแพ้กำเริบ

“การตรวจระดับวิตามินและแร่ธาตุ สามารถทำได้ง่ายด้วยการตรวจเลือด ผลวิเคราะห์จะบอกว่าร่างกายของคนไข้ มีวิตามิน และแร่ธาตุแต่ละชนิดในปริมาณเท่าใด เหมาะสมกับความต้องการของร่างกายหรือไม่ แพทย์จะแนะนำให้เพิ่มหรือลดวิตามิน และแร่ธาตุเพื่อให้ร่างกายสมดุล โดยเริ่มจากปรับพฤติกรรมการกินและอาจให้เสริมวิตามินในกรณีของคนที่ขาดวิตามินในปริมาณมาก” แพทย์หญิง กอบกุลยากล่าว

แพ้ใจก็ไม่เท่าแพ้อะไรแล้วเราไม่รู้

อาหารเป็นสิ่งที่เรารับประทานกันทุกวันเพื่อรับสารอาหารที่มีประโยชน์เข้าสู่ร่างกาย แต่อาหารบางชนิดอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ร่างกาย โดยเฉพาะการแพ้อาหารแฝง ที่จะไม่ได้แสดงออกอาการทันทีอย่างภูมิแพ้อาหารแบบเฉียบพลัน แต่หากทานเข้าไปมากๆเป็นระยะเวลานาน ร่างกายจะแสดงออกมาในรูปแบบของการสร้างภูมิต้านทานขึ้นมา ตอบสนองต่ออาหารเสมือนเป็นสิ่งแปลกปลอมนำไปสู่การอักเสบของร่างกาย เป็นสาเหตุให้เกิดโรคเรื้อรังในที่สุด จึงเป็นเรื่องสำคัญมากที่ควรทำการทดสอบ เพื่อให้รู้ว่าเราแพ้อาหารแฝงชนิดได้ จะได้สามารถหลีกเลี่ยงได้

แพนเค้ก เขมนิจ ให้ความสนใจเรื่องภูมิแพ้อาหารแฝงเป็นพิเศษ เธอบอกว่า “สิ่งที่น่ากลัวของภูมิแพ้อาหารแฝง คือ ถ้าไม่ตรวจเราก็จะไม่รู้ แล้วเราก็จะทานอาหารเข้าไปโดยไม่คิดอะไร ซึ่งถ้าเราเกิดแพ้อาหารแฝงชนิดนั้นขึ้นมา กว่าจะรู้ตัวก็ตอนที่ร่างกายสะสมมากจนแสดงอาการออกมา เมื่อเป็นโรคเรื้อรังก็จะยิ่งรักษายาก”

รู้ไหมทำไม Diet แล้วไม่ผอม

หลายคนเผชิญปัญหาลดน้ำหนักเท่าไหร่ก็ไม่ลง แม้ว่าจะออกกำลังกาย และควบคุมอาหารอย่างจริงจัง แพทย์หญิง กอบกุลยา อธิบายว่า อาจมีสาเหตุมาจากภาวะไทรอยด์ต่ำ แต่ยังไม่ถึงขั้นเป็นโรคไทรอยด์ต่ำแฝง ทำให้ระบบเผาผลาญไม่ดี แนะนำให้ผู้ที่ประสบปัญหาตรวจระดับฮอร์โมน เพื่อตรวจสอบและรักษาระดับไทรอยด์ให้สมดุล ควบคู่กับ DXA Scan ให้ทราบว่ามีปริมาณไขมันในส่วนใดของร่างกาย เพื่อออกแบบการออกกำลังกายที่เหมาะสม

DXA Scan เป็นการตรวจไขมันแต่ละส่วนทั่วร่างกาย รวมไปถึงกล้ามเนื้อแต่ละมัด จึงเหมาะกับคนที่ต้องการออกกำลังกายจริงจัง หรือเป็นนักกีฬาอาชีพ สารวัตรหมีให้ความสนใจการตรวจนี้เป็นพิเศษ โดยบอกว่า “การรู้ว่า ร่างกายส่วนไหนมีไขมัน และกล้ามเนื้อเท่าไหร่ จะสามารถช่วยในการออกแบบ การออกกำลังกายให้มีประสิทธิภาพ มากขึ้น”

ชีวิตเครียดไปแล้วหรือเปล่า

เมื่อเกิดความเครียด ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ซึ่งถ้าเกิดอย่างต่อเนื่องในระยะยาว ฮอร์โมนชนิดนี้ก็จะไปเร่งกระบวนการแก่ชรายับยั้งภูมิคุ้มกัน ขณะเดียวกัน ร่างกายจะสร้างความสมดุล โดยผลิตฮอร์โมน DHEA หรือฮอร์โมนต้านความเครียด มาต้านฤทธิ์ของคอร์ติซอล ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกัน และชะลอความเสื่อมของร่างกาย หากความเครียดสะสมเรื้อรังจนกระทั่งร่างกายเสพติดความเครียด จะทำให้ฮอร์โมนทั้งสองไม่สมดุล นานเข้าจะทำให้เกิดภาวะต่อมหมวกไตล้าและมีผลต่อสุขภาพ ภูมิคุ้มกันต่ำ ป่วยง่าย และขับถ่ายผิดปกติ จึงควรหาวิธี การผ่อนคลายจากความเครียดให้เร็ว และตรวจเช็คระดับฮอร์โมนเพื่อดูว่าต่อมหมวกไตทำงานผิดปกติหรือไม่

“เราควรค้นหาวิธีการคลายเครียดของตัวเอง ลองหากิจกรรมแล้วสังเกตตัวเองว่าอะไรช่วยให้เราผ่อนคลาย บางคนชอบ ท่องเที่ยว ช็อปปิ้ง ทานอาหารอร่อยๆ สำหรับแพนการออกกำลังกายก็เป็นหนึ่งในวิธีคลายความเครียดที่แพนชอบ ดีทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต” แพนเค้ก เขมนิจ เสริม

ระวังโลหะหนัก สารพิษในชีวิตประจำวันที่ต้องกำจัดออกจากร่างกาย

การใช้ชีวิตประจำวันในปัจจุบัน มีความเสี่ยงต่อการรับสารโลหะหนัก และสารพิษเข้ามาในร่างกายตลอดเวลา เป็นสิ่งที่ป้องกันและหลีกเลี่ยงได้ยาก โลหะหนักเหล่านี้เมื่ออยู่ในระดับน้อยอาจไม่แสดงอาการ แต่เมื่อมีการสะสมมากขึ้นเรื่อยๆ จะส่งผลต่อการทำงานของร่างกาย ก่อให้เกิดอนุมูลอิสระที่เป็นอันตรายกับร่างกาย เพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน อัลไซเมอร์ และมะเร็งต่างๆ การตรวจโลหะหนักในร่างกายจะช่วยให้เราป้องกันตัวเองไม่ให้มีโลหะหนักในร่างกายมากเกินไป โดยการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต หรือกำจัดโลหะหนักเหล่านั้นออกด้วยวิธีทางการแพทย์ เพื่อให้ร่างกายกลับมาสะอาดปราศจากสารพิษ

ออกแบบสุขภาพดีด้วยการตรวจพันธุกรรม

เทคโนโลยีการแพทย์ที่ก้าวหน้า ทำให้เวชศาสตร์ชะลอวัยสามารถตรวจวิเคราะห์ร่างกายคนได้ลึกถึงระดับ DNA ที่จะสามารถบอกได้ว่าแต่ละคนมีแนวโน้มการเกิดโรคทางพันธุกรรมต่างๆมากน้อยแค่ไหน ด้วยการดูรหัสพันธุกรรมใน DNA ว่ามีความเสี่ยงในการเป็นแต่ละโรคมากน้อยแค่ไหน และหาแนวทางดูแลตัวเองเพื่อลดความเสี่ยงการเกิดโรคนั้น

“หากมีความเสี่ยงในการเกิดโรคสูงก็ไม่อยากให้กังวล เพราะที่ศูนย์เวชศาสตร์ชะลอวัย โรงพยาบาลพญาไท 2 เรามีทีมแพทย์สหสาขาที่มีความเชี่ยวชาญ พร้อมรับฟัง ให้คำปรึกษา และให้แนวทางการรักษาเจาะลึกชัดเจน ออกแบบโปรแกรมดูแลสุขภาพชะลอวัยที่เหมาะสม พร้อมทีมพยาบาลและบุคลากรที่พร้อมให้ความช่วยเหลือดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อชีวิตยืนยาว พร้อมด้วยสุขภาพที่ดีของคนไข้ทุกคน” แพทย์หญิง กอบกุลยา สรุป

กองบรรณาธิการ M2F

ข่าวที่น่าสนใจ