มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมกับ บริษัทธนัทเฮิร์บ สยาม ซีบีดีแอนด์ ทีเอชซี วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัดร่วมมือโครงการวิจัยกัญชาเพื่อนวัตกรรมทางการแพทย์
ศาสตราจารย์ ดร.วรรณา ชูฤทธิ์ รักษาการแทนรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์(มวล.) และ นายธนัท เชี่ยวชาญอักษร กรรมการผู้จัดการบริษัทธนัทเฮิร์บ สยาม ซีบีดีแอนด์ ทีเอชซี วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการวิจัยกัญชาเพื่อนวัตกรรมทางการแพทย์” ซึ่งมหาวิทยาลัยและบริษัทจะร่วมมือกัน ผลิตงานวิจัย พัฒนา พืชกัญชาเพื่อการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ รวมถึงการใช้ประโยชน์จากกัญชาทางด้านอื่นๆ โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อนุรักษ์ ถุงทอง ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มวล. และ ดร.จิระ อรุโณทัยจิตร บริษัท ธนัทเฮิร์บฯ ลงนามเป็นพยาน ที่ห้องรับรองสภามหาวิทยาลัย อาคารบริหาร เมื่อเร็วๆนี้
ศาสตราจารย์ ดร.วรรณา กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือการวิจัยทางด้านกัญชา กับบริษัทธนัทเฮิร์บฯ ในครั้งนี้ นอกจากการร่วมมือวิจัยเพื่อนวัตกรรมทางการแพทย์แล้ว ยังครอบคลุมไปถึงการใช้ประโยชน์ทางด้านอื่นๆด้วย เช่น การปรับปรุงและพัฒนาสายพันธุ์ การสกัดสารสำคัญ การส่งเสริมการปลูกกัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจฯ โดยก่อนหน้านี้บริษัทได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยอย่างไม่เป็นทางการมาอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญบริษัทดังกล่าวมีผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับกัญชาที่หลากหลาย มีความพร้อมในหลายๆด้านทำให้มั่นใจว่าการทำงานระหว่างบริษัทและมหาวิทยาลัยจะเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้
“ม.วลัยลักษณ์จะให้การสนับสนุนในเรื่องสถานที่ บุคลากร โครงสร้างพื้นฐานต่างๆและเกี่ยวกับการบริหารจัดการวิจัย ผ่านทางอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งเรายินดีที่จะสนับสนุนอย่างเต็มที่ภายใต้กรอบข้อตกลงความร่วมมือฉบับดังกล่าว” ศาสตราจารย์ ดร.วรรณา กล่าว
ด้าน นายธนัท เชี่ยวชาญอักษร กล่าวว่า บริษัทธนัทเฮิร์บฯ เชื่อมั่นในความพร้อมของม.วลัยลักษณ์โดยเฉพาะนักวิจัยที่มีความรู้ความสามารถ และยินดีจะให้สนับสนุนการวิจัยทางด้านกัญชา ซึ่งผลจากความร่วมมือกันในครั้งนี้ คาดว่าจะสามารถนำประโยชน์จากการวิจัยกัญชา มาใช้ในทางการแพทย์รวมถึงประโยชน์ในด้านอื่นด้วย ที่สำคัญจะสามารสร้างรายได้ให้กับชาวบ้าน กระตุ้นเศรษฐกิจให้ดีขึ้น เป็นประโยชน์กับพี่น้องประชาชนชาวไทยต่อไป
“บริษัทธนัทเฮิร์บฯ มีคลินิกแพทย์แผนไทย สหคลินิก ที่มีการนำกัญชามาใช้เพื่อการรักษาโรค เช่น โรคมะเร็ง โรคสะเก็ดเงิน โรคเบาหวาน และโรคเอดส์ มีผลิตภัณฑ์ที่ใช้กัญชาเป็นวัตถุดิบมากกว่า 70 ชนิด เช่น แผ่นมาส์กหน้า โลชั่น ช็อกโกแลต กาแฟ หมากฝรั่ง ยาหม่อง ฯลฯ ซึ่งการร่วมมือในกับม.วลัยลักษณ์เราจะทำให้กัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจที่เป็นประโยชน์สูงสุดกับชาวนครฯและชาวไทย”นายธนัท กล่าว
ทั้งนี้ความร่วมมือทั้ง 2 หน่วยงาน จะร่วมมือกันเพื่อผลิตงานวิจัย พัฒนา พืชกัญชาเพื่อการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ และคิดค้นนวัตกรรมระบบนิเวศด้านกัญชา ตั้งแต่การปลูก ระบบเกษตรอัจฉริยะ การพัฒนาสายพันธุ์ การพัฒนาคุณภาพวัตถุดิบ การสกัดสารสำคัญ การคิดค้นตำรับยาใหม่ การใช้สารสำคัญในการผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีความปลอดภัย การสร้างมาตรฐานการผลิต การสร้างระบบนิเวศด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่ครบวงจร ตลอดจนถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการผลิตเพื่อส่งเสริมการปลูกกัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจ ก่อให้เกิดผลิตภัณฑ์นวัตกรรมใหม่จากกัญชา ให้ประชาชนเข้าถึงได้อย่างปลอดภัย