'กองทุนชัยพัฒนาสู้ภัยโควิด 19 (และโรคระบาดต่างๆ)'จัดสร้างห้องระบบแลกเปลี่ยนอากาศแรงดันลบแบบสมบูรณ์และ พัฒนาห้องผู้ป่วยปกติเป็นห้อง Semi ICU
การระบาดระลอก 3 ของโควิด -19 เมื่อกลางเดือนเมษายน 2564 ที่ผ่านมา การระบาดในครั้งนี้มีผู้ติดเชื้อ เป็นจำนวนมากและขยายเป็นวงกว้างเกือบทั่วประเทศ มูลนิธิชัยพัฒนาได้รับการประสานขอความช่วยเหลือจากโรงพยาบาลต่างๆ โดยในครั้งนี้เครื่องมือแพทย์ที่มีความต้องการมากที่สุดอย่างหนึ่งคือเครื่อง Oxygen High Flow ซึ่งมีความจำเป็นและสำคัญในการช่วยชีวิตผู้ป่วยภาวะหายใจล้มเหลวหรือมีภาวะพร่องออกซิเจน ทำให้เพิ่มโอกาสในการรอดชีวิตของผู้ป่วยมากขึ้น โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์นายกกิตติมศักดิ์และองค์ประธานกรรมการมูลนิธิชัยพัฒนาได้พระราชทานเงินจาก “กองทุนชัยพัฒนาสู้ภัยโควิด 19 (และโรคระบาดต่างๆ ) ” ซึ่งเป็นกองทุนที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มูลนิธิชัยพัฒนาจัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2563 เพื่อช่วยเหลือโรงพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ในการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์และสิ่งของที่มีความจำเป็นในการรักษาผู้ป่วยโควิด – 19 จัดซื้อเครื่อง Oxygen High Flow จำนวน 540 เครื่อง พระราชทานแก่ 70 โรงพยาบาลทั่วทุกภาคของประเทศ นอกจากนี้ได้พระราชทาน เครื่องPAPR เครื่องอัลตราซาวด์ และอุปกรณ์การแพทย์อื่นๆ เพื่อป้องกันบุคลากรทางการแพทย์และช่วยชีวิตผู้ป่วยให้ได้มากที่สุด และความต้องการก็ยังทยอยส่งคำขอมาเรื่อยๆ
จากการระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมาหลายครา ทำให้ได้เรียนรู้ว่าโรคระบาดนี้จะยังคงอยู่ และพร้อมที่จะกลับมาระบาดทุกเมื่อ หากไม่มีการเตรียมพร้อมทั้งด้านบุคลากร สถานที่หรือห้องที่ใช้รักษาผู้ป่วย ตลอดจนอุปกรณ์ทางการแพทย์ ก็จะทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนสิ่งเหล่านี้ขึ้นอีกในอนาคต สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญในการสร้างสิ่งก่อสร้างถาวร เพื่อปกป้องบุคลากรทางการแพทย์และช่วยเหลือผู้ป่วย จึงพระราชทานพระราชานุญาตให้มูลนิธิชัยพัฒนาโดย “กองทุนชัยพัฒนาสู้ภัยโควิด 19 (และโรคระบาดต่างๆ )” ประชาสัมพันธ์การจัดสร้างห้องระบบแลกเปลี่ยนอากาศแรงดันลบแบบสมบูรณ์ และพัฒนาห้องผู้ป่วยปกติเป็นห้อง Semi ICU ให้ประชาชนได้รับทราบ เพื่อที่จะร่วมสู้ภัยโควิดกับมูลนิธิชัยพัฒนาอีกครั้ง โดยมีจุดประสงค์คือการร่วมมือร่วมใจ เตรียมความพร้อมและเอาชนะโรคระบาดครั้งนี้ร่วมกัน
ห้องระบบแลกเปลี่ยนอากาศแรงดันลบแบบสมบูรณ์นี้ เมื่อครั้งเกิดการระบาดระลอกแรก ได้พระราชทานแก่โรงพยาบาล 9 แห่ง ทั่วภูมิภาคของประเทศ ประกอบด้วย ภาคเหนือ โรงพยาบาลแม่สอด จังหวัดตาก, ภาคตะวันออก โรงพยาบาลชลบุรี , ภาคกลาง โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า โรงพยาบาลชลประทาน จังวัดนนทบุรี โรงพยาบาลราชวิถี กรุงเทพฯ, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา โรงพยาบาลปากช่อง นานา จังหวัดนครราชสีมา, ภาคใต้ โรงพยาบาลยะลา และโรงพยาบาลท่าแพ จังหวัดสตูล ปัจจุบันห้องความดันลบที่พระราชทานไปแล้วนี้มีบทบาทอย่างมากในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19
ระบบแลกเปลี่ยนอากาศแรงดันลบแบบสมบูรณ์ ( True Negative Pressure ) สามารถเพิ่มความปลอดภัยให้บุคคลากรทางการแพทย์ โดยห้องที่ติดตั้งระบบดังกล่าวใช้หลักการนำอากาศสะอาดเติมเข้าสู่ห้องผู้ป่วยตลอดเวลา (Fresh Air 100 % ) ซึ่งอากาศในห้องผู้ป่วยที่อาจมีเชื้อโรคจะถูกดูดออกจากห้องอย่างรวดเร็ว โดยไม่นำอากาศเดิมภายในห้องกลับมาใช้ซ้ำ และเครื่องระบายอากาศสมบูรณ์มีคุณสมบัติพิเศษคือ แผ่นฟิลเตอร์สามารถกรองอากาศได้ละเอียดที่ 0.1 ไมครอน ขณะที่เชื้อไวรัสโควิดมีขนาดเฉลี่ย 0.125 ไมครอน อีกทั้งยังสามารถควบคุมความชื้นสัมพัทธ์เพื่อป้องกันเชื้อราและเชื้อโรคอื่นๆ ไม่ให้เจริญเติบโตในห้องผู้ป่วย สามารถติดตั้งในอาคารที่ต้องการติดตั้งใหม่ หรือในพื้นที่ห้องของโรงพยาบาลที่มีอยู่แล้วได้โดยไม่จำเป็นต้องสร้างห้องใหม่ ระบบแลกเปลี่ยนอากาศความดันลบแบบสมบูรณ์ เป็นไปตามมาตรฐานสากล WHO และมีความปลอดภัยมาตรฐานศูนย์การควบคุมเชื้อโรค CDC ของสหรัฐอเมริกา และผ่านการทดสอบจาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งผลของการทดสอบนั้นพบว่าสามารถลดปริมาณเชื้อแบคทีเรียภายในห้องผู้ป่วยได้ 98.3%
การพัฒนาห้องผู้ป่วยปกติเป็นห้อง Semi ICU กรณีวิกฤตโควิด-19 ระบบจะปรับห้องให้เป็นความดันลบเพื่อป้องกันบุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วย กรณีหมดวิกฤตโควิด-19 ระบบสามารถปรับห้องให้เป็นห้องความดันบวก ใช้รองรับผู้ป่วยภูมิคุ้มกันต่ำหลังผ่าตัด หรือผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะ และกรณีผู้ป่วยปกติ ระบบสามารถปรับเหลือเฉพาะเครื่องฟอกอากาศเพื่อให้อากาศที่ออกจากเครื่องสะอาดตามมาตรฐานคลีนรูมคลาส 1,000 เทคโนโลยีระบบแลกเปลี่ยนอากาศแรงดันลบแบบสมบูรณ์ และการพัฒนาห้องผู้ป่วยปกติเป็นห้อง Semi ICU เป็นเทคโนโลยีของคนไทยซึ่งจะช่วยให้นวัตกรรมในประเทศเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ยังได้พระราชทานภาพวาดฝีพระหัตถ์ และข้อความให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์ในนามมูลนิธิชัยพัฒนา และกองทุนชัยพัฒนาสู้ภัยโควิด 19ฯ ความว่า “ชัยพัฒนาสนับสนุนผู้ดูแลรักษาผู้ป่วย ขอบคุณครับ/ค่ะ” ด้วยทรงตระหนักถึงความทุ่มเทเสียสละของบุคลากรทางการแพทย์ และเพื่อเป็นขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงาน โดยมูลนิธิชัยพัฒนาพร้อมให้การสนับสนุนในการต่อสู้กับโรคระบาดในครั้งนี้เคียงข้างกับบุคลากรทางการแพทย์ทุกคน
ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา กล่าวว่า “….หลังจากติดอาวุธน้อยใหญ่ ไล่ไปตั้งแต่แมสจนถึงวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์จนเครื่อง high flow oxygen บัดนี้ถึงเวลาจะสร้างสนามเพลาะและป้อมปราการถาวร เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ใด้มีที่มั่นสู้ศึก covid-19 หรือโรคระบาดติดต่อที่จะมี ในอนาคตอย่างมั่นคงยั่งยืนตลอดไป โดยมุ่งสร้างห้องปรับความดันให้โรงพยาบาลด่านหน้า ให้ระดมพละกำลังเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้หมอและพยาบาลได้สู้อีกครั้งจนบรรลุถึงชัยชนะของการพัฒนาในที่สุด …”
ทั้งนี้ ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างป้อมปราการถาวรเพื่อป้องกันบุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วย โดยการ “จัดสร้างห้องระบบแลกเปลี่ยนอากาศแรงดันลบแบบสมบูรณ์ (True Negative Pressure) และพัฒนาห้องผู้ป่วยปกติเป็นห้อง Semi ICU” “กองทุนชัยพัฒนาสู้ภัยโควิด 19 (และโรคระบาดต่างๆ )” ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาสวนจิตรลดา บัญชีกระแสรายวัน เลขที่ 067-300487-3 โทร 02-447-8585-8 หรือ 064-239-1868 / 064-112-9674 เงินบริจาคสามารถลดหย่อนภาษีได้ โดยนำหลักฐานการโอนเงินพร้อมเขียนชื่อ-ที่อยู่ และหมายเลขโทรศัพท์ที่ชัดเจนส่งมาที่ Line ID - @chaipat19 หรือ Email - givedonate@gmail.com หรือ ไปรษณีย์ – สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา 2012 ซอยอรุณอมรินทร์36 ถนนอรุณอมรินทร์ แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพฯ 10700